เวลาเราพูดถึงความหน่วงเรื่องเสียงหรือ Latency คนส่วนใหญ่อาจจะคิดถึงเรื่องการดีเลย์ของเสียงที่ส่งจากมือถือเข้ามาที่หูฟังหรือลำโพงบลูทูธกันมากกว่า แต่จริง ๆ แล้วการสนทนาทางโทรศัพท์ หรือการอัดเสียงเข้ามือถือตรง ๆ ก็มีค่าความหน่วงด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งตอนนี้ทางนักพัฒนาระบบจาก Android Developer Blog ได้ออกมาอัปเดตเรื่องความหน่วงเสียงของมือถือ Android ในปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 39ms เท่านั้น

ค่าความหน่วงของเสียงที่ Google พูดถึงคืออะไร?

ค่าความหน่วงเรื่องเสียงของอุปกรณ์ Android นับว่ามีหลายประเภท และหลายขั้นตอนมาก ซึ่งหลัก ๆ ก็จะมีดังนี้

  • Audio output latency : ระยะเวลาของมือถือที่เริ่มประมวลผลเสียง แล้วขับเสียงออกมาจากลำโพง หรือหูฟัง
  • Audio input latency : ระยะเวลาของข้อมูลเสียงที่อัดเข้าเครื่องแล้วเข้าไปในแอป (เช่นการอัดเสียง หรือการสนทนาโทรศัพท์)
  • Processing Latency : ระยะเวลาในการประมวลผลเสียงของ Application ทั้ง input หรือ output

ข้อมูลค่าความหน่วงเสียงที่เราจะพูดถึงเป็นค่าความหน่วงที่เรียกว่า Round-trip audio latency ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ 3 ขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น ในการประมวลผลเสียง ประกอบไปด้วย Input latency, Processing Latency และ Output Latency

ขั้นตอนการทำงานของ Round-trip Latency

ค่าความหน่วงเสียงของอุปกรณ์ Android พัฒนาขึ้นอย่างไรบ้าง? 

ตั้งแต่ช่วงปี 2017 ถึงปัจจุบัน Android ได้พยายามพัฒนาระบบเสียงของอุปกรณ์ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อลดค่าเฉลี่ยความหน่วงเสียงในมือถือ Android โดยโฟกัสไปที่การพัฒนา Software และ Audio Codec เป็นหลัก

Timeline การพัฒนาเรื่องเสียงของ Android

การพัฒนาจาก Android บวกกับความร่วมมือจากผู้ผลิตมือถือหลาย ๆ เจ้า ช่วยให้ความหน่วงเสียงโดยรวมของ Ecosystem ระบบ Android ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยค่าเฉลี่ยความหน่วงเสียงของมือถือรุ่นยอดนิยมในตลาดลงมาอยู่ที่ 39ms เท่านั้น ลดลงจากปี 2017 ถึง 64% (109ms) ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่เหมาะสมต่อการใช้งานจริง

เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความหน่วงของมือถือยอดนิยมจากปี 2017-2021

มือถือ Android ทุกเครื่องมีความหน่วงเสียงที่น้อยลงเรื่อย ๆ

จากข้อมูลที่ออกมาก็มีจุดที่น่าสนใจตรงที่ค่าความหน่วงของมือถือยอดนิยมในช่วงปี 2017 มีความแกว่งไปมาไม่คงที่มาก ๆ ซึ่งดูจากในกราฟจะเห็นได้ชัดเลยว่ามีมือถือค่าความหน่วงสูงสุดอยู่ที่ 222ms ในขณะที่ค่าต่ำสุดอยู่ที่ 36ms เท่านั้น

กราฟแสดงผลค่าความหน่วงเสียงในมือถือ Android ยอดนิยมปี 2017

ถัดมาในช่วงปัจจุบัน เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความหน่วงเรื่องเสียงโดยรวมที่มีความคงที่ขึ้น ต่ำสุดอยู่ที่ 28ms และสูงสุดอยู่ที่ 39ms เท่านั้น แถมคราวนี้ก็ได้เอามือถือจากหลาย ๆ แบรนด์มาเปรียบเทียบ ต่างกับปี 2017 ที่เอามาแค่ Samsung เท่านั้น อีกทั้งข้อมูลในกราฟก็ไม่ได้เอามาจากมือถือเรือธงแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะ แต่ก็มีมือถือรุ่น Budget ติดเข้ามาด้วย และมือถือทุกรุ่นก็มีค่าความหน่วงเสียงที่อยู่ในเกณฑ์ดีทั้งนั้น

กราฟแสดงผลค่าความหน่วงเสียงในมือถือ Android ยอดนิยมปี 2021

ความหน่วงแบบ Tap-to-tone ที่ลดลง

นอกจากเรื่องความหน่วงแบบ Round-trip Audio Latency ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นแล้ว Tap-to-tone latency ก็มีความสำคัญต่อการใช้งานไม่น้อยเลยทีเดียว ยกตัวอย่างการใช้งานแอปบางประเภทที่ทำการ generate เสียงจากการแตะหน้าจอ แอปเหล่านี้จะมีค่าความหน่วงที่เรียกว่า “Tap-to-tone” ซึ่งก็คือระยะเวลาของระหว่างการแตะหน้าจอมือถือ และการเกิดเสียงนั่นเอง

ปกติแล้ว Tap-to-tone มีระยะเวลาความหน่วงอยู่ที่ 10-35ms (เฉลี่ย 20ms สำหรับมือถือ Android ทั่วไป) ซึ่งเราสามารถหยิบเข้าไปคำนวณกับ Round-trip-latency ได้โดยการแทนที่ Input เป็น Tap-to-tone แทนเพื่อดูระยะเวลาประมวลผลตั้งแต่เอานิ้วแตะจอ ไปจนถึงเวลาที่เสียงออกมาจากลำโพงหรือ หูฟัง ซึ่งถ้าเอามาคำนวณแล้ว ความหน่วง Tap-to-tone ของมือถือ Android ทั่วไปจะต่ำกว่าความต้องการของแอปเสียอีก

อย่างไรก็ตามผู้พัฒนา Android ก็จะไม่หยุดลงแค่นี้ เพราะ Tap-to-tone latency สำหรับเครื่องเสียงมืออาชีพจะต้องต่ำกว่า 20ms เท่านั้น ซึ่ง Google ก็มีเป้าหมายในการลดความหน่วงของเสียงลงให้เหลือ 10ms โดยถือว่าเป็นเป้าหมายระยะยาวที่ Google พยายามทำให้ได้ในอนาคตครับ

 

Source: AndroidDeveloper