K PLUS ตอนนี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่เริ่มบุกไปให้บริการในต่างประเทศแล้ว โดยปักธงเริ่มลุยที่เวียดนามก่อน หลังธนาคารได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการได้ โดยขนเอาฟีเจอร์หลักไปเพียบ ทั้งโอน แสกน จ่าย ให้คนเวียดนามได้สัมผัสความเจ๋งของแอป Mobile Banking สัญชาติไทย โหลดได้วันนี้เฉพาะคนเวียดนาม และเป็นแอปแยกไม่เชื่อมกับ K PLUS ของไทย

ปัจจุบันแอป K PLUS ในประเทศเป็นแอป Mobile Banking ที่มีคนใช้งานมากที่สุด มีจำนวนกว่า 18.5 ล้านราย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะจนใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งนวัตกรรมทางการเงินของบ้านเรา ยังถือว่าล้ำหน้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ และมีโอกาสทางธุรกิจที่รออยู่มาก ทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ และผู้ประกอบการในไทยที่อยากจะเติบโตไประดับภูมิภาค การที่ธนาคารขยายไปให้บริการเพิ่มเติมในต่างประเทศก่อนจึงเป็นก้าวที่น่าสนใจทั้งสำหรับธนาคารเอง และตัวผู้ประกอบการด้วย

Gravity shift to Asia by Financial Times

เวียดนาม ประเทศที่ถูกจับตามองจากทั่วโลก

เวียดนามถือเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ด้วยความที่ประเทศมีการเจริญเติบโตสูง ประชากรมีจำนวนเกือบ 100 ล้านคน ไม่อยู่ในกลุ่มสังคมสูงวัย สามารถผลิตแรงงานในกลุ่ม STEM (Science Technology Engineering Mathemetics) ออกมาได้เป็นจำนวนมาก ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติดีกว่าหลายประเทศ เป็นที่มาของข่าวเศรษฐกิจที่หลายคนน่าจะเคยเห็นผ่านตาว่าเวียดนามใกล้จะแซงหน้าประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

Gravitational Center at Vietnam

ผู้บริหารกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่าระบบการเงินในเวียดนามยังอยู่ในช่วงเติบโต คนยังไม่มีบัญชีธนาคารเป็นจำนวนมาก คิดเป็นจำนวนเกือบ 70% ของประชากร แต่ในทางกลับกันพวกเค้าเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันกว่า 70% พร้อมทำธุรกรรมออนไลน์ เคยซื้อสินค้าผ่านเน็ตกันมากกว่า 50% ซึ่งธนาคารในประเทศยังไม่ลงมาให้บริการดิจิทัลแบบเต็มตัว กสิกรจึงเห็นช่องทางเตรียมเจาะตลาดด้วยเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงเข้าไปลงทุนในบริการและสตาร์ทอัพของเวียดนาม เพื่อสร้างฐานลูกค้าและปล่อยกู้ให้กับเหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

K PLUS Vietnam กำลังเติบโตไปได้ดี มีผู้สมัครเข้าใจบริการหลักแสนรายไปเรียบร้อย มีคนสมัครใหม่วันนึงหลายพันราย คาดว่าจะมีกลุ่มลูกค้ามากกว่า 1.2 ล้านรายในปี 2566 และปล่อยสินเชื่อได้มากกว่า 20,000 ล้านบาท และขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง

กสิกรบุกเวียดนาม เปิดสาขาแรก เตรียมเจาะตลาดด้วย Digital Banking

K PLUS Vietnam ≠ K PLUS ชื่อเดียวกัน แต่คนละแอป

อย่างไรก็ดี K PLUS Vietnam และ K PLUS ในประเทศไทย เป็นแอปคนละตัว แยกจากกันชัดเจน ต้องมีบัตรประชาชนของเวียดนามเท่านั้นถึงจะสมัครได้ ยังไม่มีการเชื่อมข้อมูลหรือใช้บริการร่วมกัน เช่น คนเวียดนามมาจ่ายเงินร้านค้าในไทยด้วย K PLUS Vietnam ยังไม่ได้ เช่นเดียวกันกับคนไทยจะเอาไปจ่ายให้ร้านค้าในเวียดนามก็ไม่ได้ (จะหาร้านรับยังแทบไม่มี) ด้วยความที่กสิกรเพิ่มเริ่มทำตลาดเมื่อต้นปีนี้เอง ซึ่งก็ต้องติดตามกันว่า กสิกรจะสามารถผลักดันไปถึงขนาดนั้นได้หรือไม่

โดยในเวียดนามยังมีอัตราการจ่ายเงินด้วย QR ต่ำ สังคมไร้เงินสดยังถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศเค้า และน่าจะต้องมีการผลักดันระดับมหภาคจากภาครัฐ เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่เติบโตมาได้แบบทุกวันนี้ก็เพราะรัฐสนับสนุนแบบเต็มที่ ประกอบกับช่วงโควิดที่ทั้งมีการแจกเงินผ่านแอป และคนก็ไม่อยากสัมผัสเงินสดเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายนั่นเอง

ทดลองใช้แอป K PLUS Vietnam

ทางธนาคารได้พยายามผลักดันให้ร้านค้าเปิดรับการชำระเงินด้วยการสแกนจ่าย ซึ่งที่เวียดนามก็จะมีมาตรฐาน QR ที่ต่างจากในไทย ต้องมีการปรับโค้ดในตัวแอปเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันกับมาตรฐานของประเทศได้ ร้านค้าที่รับชำระจะยังค่อนข้างจำกัด ถ้าใครได้ไปโอจิมินห์, เวียดนาม สามารถไปหาร้านค้าที่รองรับได้บริเวณตึก Café Apartment ซึ่งเป็นจุดเช็คอินของเหล่านักท่องเที่ยว มีร้านกาแฟสวยๆ บรรยากาศดีๆ อยู่ทั้งตึก ซึ่งสาขาของธนาคารกสิกร ก็จะอยู่ฝั่งตรงข้ามของตึกนี้ด้วย

Fact น่ารู้

  • การเปิดสาขาของธนาคารในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละประเทศจะมีหน่วยงานกำกับดูแล เช่นเดียวกับแบงก์ชาติบ้านเรา และมักจะไม่ได้ออกใบอนุญาตให้สถาบันการเงินต่างชาติได้ง่ายๆ เพราะมีความเสี่ยงในเรื่องเสถียรภาพการเงินของประเทศ
  • อินโดนีเซีย ไม่มีให้ใบอนุญาตเปิดธนาคารเพิ่ม กสิกรจึงต้องเข้าซื้อธนาคารในประเทศ และเตรียมเป็นสถานีต่อไปในการบุกตลาดอาเซียน
  • อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ถูกจับตาจากทั่วโลก เล็งใช้เป็นฐานการผลิตและแหล่งเติบโตของธุรกิจในหลายทศวรรษข้างหน้า ส่วนนึงมาจากความขัดแย้งจีน-อเมริกา ความไม่สงบในเอเชียไกล จนนายทุนจีนต้องขยับหนีลงมาเพื่อเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ
  • อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นสองประเทศที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จากเสถียรภาพทางการเมือง จำนวนประชากรที่มากและอายุเฉลี่ยต่ำ ซึ่งทั้งสองค่านี้มักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดแนวโน้มการพัฒนาของประเทศ ซึ่งอธิบายให้เห็นภาพแบบง่ายๆ คือ มีวัยรุ่น วัยทำงาน ในการพัฒนา จับจ่ายใช้สอยมากเพียงใด ถ้ามีแต่คนสูงวัย การจับจ่ายและการพัฒนาก็จะไม่ดีเท่า
    • อินโดนีเซีย ประชากรราว 279.7 ล้านคน (อายุเฉลี่ย 30 ปี)
    • เวียดนาม ประชากรราว 99.2 ล้านคน (อายุเฉลี่ย 32 ปี)
    • ไทย ประชากรราว 70.1 ล้านคน (อายุเฉลี่ย 40 ปี)*
  • บางคนน่าจะเคยได้ยินว่าเวียดนามมีการพัฒนาไปไกล และเตรียมจะแซงประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และอาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วย แนะนำว่าลองไปเยี่ยมชมและศึกษาประเทศนี้เพิ่มเติมดู จะเห็นถึงศักยภาพและความน่าสนใจของประเทศนี้ จนต้องหันกลับมามองประเทศไทยเราเองเลย
  • กสิกรไม่ใช่ธนาคารแรกที่บุกตลาดต่างประเทศ แต่เป็นธนาคารที่ริเริ่มหาลูกค้า-ผู้ใช้งานระดับ consumer เป็นคนในประเทศนั้นๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างสูง เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเชื่อถือ และบริษัทคนในชาติก็ดูจะเข้าถึงง่ายกว่า ลองนึกว่าถ้ามีธนาคารไทยและต่างชาติให้เลือก เราจะเลือกของชาติไหนมากกว่ากัน ก็จะประมาณนั้นแหละ
  • คาดการณ์กันว่าจำนวนคนใช้บริการ Mobile Banking ต่อแอปสูงสุด จะมีจำนวนราว 20 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดราว 70 ล้านคนเท่านั้น ด้วยเหตุว่าเมื่อตัดจำนวนเด็ก (0-14) และคนสูงอายุ (65+) จำนวนคนใช้งานก็จะหายไปเกือบ 20% รวมกับจำนวนคนในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ต้องยืนยันตัวตน ไม่มีบัญชีซ้ำ และอื่นๆ
  • สำหรับใครที่สนใจลงทุนไปเวียดนาม เห็นว่าสามารถเข้าไปปรึกษากับทีมธุรกิจต่างประเทศของทางกสิกรได้นะ มีข้อมูลเชิงลึก งานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับเวียดนาม และเงินกู้เพื่อการลงทุนให้สำหรับผู้ประกอบการด้วยนะ

 

*ข้อมูลประชากรจาก Worldometer