ปีนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งการเงิน โดยเราได้เห็นธนาคารรายใหญ่เริ่มมีการปรับตัวกันครั้งใหญ่เพื่อให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ซึ่งธ.กสิกรที่ปกติจะมีห้องเครื่องด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่าง KBTG คอยซัพพอร์ทจนขึ้นมาเป็นแถวหน้าด้านฟินเทคของภูมิภาค ล่าสุดก็มีการเปิดธุรกิจเพิ่มเติมกับ KASIKORN X ที่จะเน้นลุยตลาด DeFi and Beyond กันโดยเฉพาะ
KBTG บริษัทผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธนาคารกสิกรไทยในโลกดิจิทัล ที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้าน FinTech (Financial Technology) ออกมาอยู่อย่างเสมอ และสร้างเสถียรภาพทางการเงินและความปลอดภัยมาโดยตลอด ดังที่เราจะได้ยินชื่อเสียงด้านลบของ K PLUS ออกมาน้อยมาก สามารถทำธุรกรรมต่างๆได้เป็นปกติไม่มีปัญหาที่สุดธนาคารนึงเลย
รายงานข้อมูลสถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องของธนาคารพาณิชย์ จาก ธปท. โดยในไตรมาสล่าสุด ธนาคารกสิกรไม่พบปัญหาในการใช้งาน Mobile Banking หรือ ATM หรือสาขาเลย
โดย KBTG ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2016 เพื่อวางรากฐานเทคโนโลยีของธนาคาร และเริ่มมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงภาพรวมในโลกดิจิทัลของทั้งบริษัท จนปัจจุบันมีจำนวนพนักงานมากกว่า 2,000 คน และมีบริษัทในเครืออยู่มากมาย ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้าง สร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ภายในประเทศ และภูมิภาคอีกด้วย
ผลงานที่โดดเด่นของทาง KBTG ได้แก่
- K PLUS: บริการธนาคารบนมือถือ อันดึงหนึ่งของประเทศไทย และเอเชียแปซิฟิก (รวมจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย)
- LINE BK: บริการธนาคารบน Line ที่มีผู้เปิดบัญชีใช้งานแล้วมากกว่า 3.2 ล้านบัญชี จากผู้ใช้ Line ในบ้านเราที่มีจำนวนกว่า 50 ล้านราย
- KhunThong: บริการเหรัญญิกบน ช่วยเก็บ-ทวงเงินในกลุ่ม Line ที่มีคนดึงเข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่มแล้วมากกว่า 1 ล้านชุมชน
- ก้าวไปลุยในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างจีนและเวียดนามได้ ภายใต้ชื่อ KTech และ KBTG Vietnam ตามลำดับ โดยมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดมีลูกค้ามากกว่า 1 ล้านรายในประเทศจีน และมีการปล่อยกู้แล้วกว่า 1 พันล้านหยวน
โลกการเงินการธนาคาร กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ด้วยความที่โลกแห่งการเงินการธนาคาร กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีการ disrupt เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทาง KBTG จึงมีการลงทุน และหานวัตกรรมใหม่ที่ในด้าน AI, Blockchain, และ Quantum Computing อยู่ตลอด ซึ่งสามแกนนี้จัดว่าเป็นแกนหลักแห่งการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีของมนุษยชาติในอนาคตเลยก็ว่าได้
บริษัทในเครือของทาง KBTG ที่ซัพพอร์ทการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา
เราจะได้เห็นเหล่า AI มาพูดคุยเป็นภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วแผ่น THAI NLP, หรือสามารถยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรมด้วยการมองหน้าเราได้อย่างแม่นยำจาก Computer Vision, หรือเราสามารถครอบครองสินทรัพย์ต่างๆในโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยผ่าน Blockchain
ซึ่งการดำเนินการในโลกที่หมุนเร็วแบบนี้ การบริหารงานแบบรวมศูนย์ภายใต้ KBANK หรือ KBTG ไปตลอดก็อาจจะไม่สะดวกนัก ทาง KBTG จึงมีการ Spin Off ปลดปล่อยพลังที่ซ่อนอยู่ของบริษัทในเครืออย่าง KX (KASIKORN X) ให้แยกออกมาให้ดำเนินการได้อย่างมีอิสระมากขึ้น โดย KX จะเป็นเหมือนฐานยิงของเหล่าจรวดธุรกิจใหม่ ที่กำลังจะเติบโตแบบ S-Curve ทั้งหลาย
KX ฐานสร้างธุรกิจใหม่ที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด
KX ถูกก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2018 และเริ่มดำเนินการแบบเต็มตัวในเดือนตุลาคม ปี 2020 ทำหน้าที่เป็น Venture Builder ที่จะคอยสร้างธุรกิจใหม่ด้าน DeFi หรือ Decentralizied Finance ที่ทำงานได้อย่างมีอิสระ จากเดิมที่การเงินทั้งหมดจะต้องวิ่งผ่านระบบของเหล่าธนาคาร และจัดเก็บบันทึกต่างๆกันภายในเพียงเท่านั้น แต่ด้วย DeFi ธุรกรรมต่างๆจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีธนาคารอีกต่อไป แต่ว่าจะใช้ Blockchain เป็นตัวควบคุม ซึ่งทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้และมีความปลอดภัยกว่า
ตัวอย่างของธุรกิจที่เกิดจาก DeFi
ธุรกรรมเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในอดีต
- สกุลเงินใหม่ (เงินดิจิทัล)
- การแลกเปลี่ยนเงินตรา
- การปล่อยกู้ และการยืมสินทรัพย์
- การขายประกัน
- การซื้อขายอนุพันธ์ (Derivatives) หรือสัญญาทางการเงิน
โดยภารกิจหลักของ KX คือการสร้างความเชื่อมั่นในโลกที่ปราศจากความน่าเชื่อถือ (Building Trust in the Trustless Word” ด้วยความที่ Blockchain ยังเป็นเรื่องที่ถือว่าใหม่มาก และคนจะยังไม่เข้าใจ ไม่มั่นใจสักเท่าไหร่นัก แต่ด้วยการนำของทีม KX จะมาพัฒนาและปัญหานี้ด้วยกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะบ่มไอเดียใหม่ๆ (Incubate) ขยายผล (Scale) และแยกตัวธุรกิจออกไปตั้งเป็นบริษัทใหม่ (Spin-off) เมื่อเห็นทิศทางและโอกาสทางธุรกิจในยุคต่อไปที่ชัดเจนแล้ว
การดำเนินธุรกิจของ KX จะมีความอิสระจากธนาคารกสิกรไทย และ KBTG และการสร้างธุรกิจใหม่จะมีความคล้ายกับการสร้างธุรกิจ Startup ที่จะมีผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-Founder) ทั้งจากฝั่งเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneur) และฝั่ง Builder หรือ Engineer มาทำงานร่วมกัน และได้รับโอกาสในการศึกษา ทดลอง จนถึงการออกสินค้าและบริการจริงสู่ตลาด ซึ่งจะมีความรวดเร็วในการทำงานและยืดหยุ่นเหมือนเหล่าสตาร์ทอัพ
เปิดตัวบริษัท Coral ให้บริการ NFT Marketplace
Kubix เป็นบริษัทแรกที่มีการ Spin-off ออกมาจาก KX โดยมีการดำเนินธุรกิจเป็น ICO Portal และทาง KX ได้มีการเปิดตัวธุรกิจที่สอง คือ Coral ซึ่งเป็น NFT Marketplace หรือตลาดกลางซื้อขายงานศิลปะในโลกดิจิทัล ซึ่งงานศิลปะที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดแค่เพียงงานกราฟิก ภาพวาดต่างๆบนผ้าใบดิจิทัล แต่ยังรวมไปถึงภาพถ่าย คลิปวิดีโอ งานอนิเมชั่น ธีม เสียงเพลง และอื่นๆ กล่าวคืออะไรก็ได้ที่ต้องการระบุความเป็นเจ้าของบนโลกดิจิทัลก็คงก็ไม่ผิดนัก โดยก่อนหน้านี้การซื้อขายสิทธิ์งานเหล่านี้ก็เป็นไปไม่ได้ง่าย แต่ด้วย NFT ก็จะเป็นนวัตกรรมที่จะมาเป็นตัวควบคุมเรื่องนี้ และ Coral ก็จะเป็นตลาดซื้อขายกลางของ NFT อีกที
เหล่าศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะแห่งโลกดิจิทัล ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมจ่ายเพื่อครอบครองงานเหล่านี้
โดยการมี NFT Marketplace นี้จะสร้างโอกาสให้แก่ศิลปินและนักสะสมงาน ทำให้การสร้างและซื้อขาย NFT เป็นเรื่องง่าย เหมือนกับการช้อปปิ้งออนไลน์ สามารถซื้อได้ด้วยสกุลเงินทั่วไป (Fiat money) อย่างเงินบาทหรือเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่แพลตฟอร์มอื่นยังจำกัดแต่เพียงเหรียญสกุลคริปโตเท่านั้น และในประเทศไทยเราก็มีศิลปินที่สร้างงานขึ้นไปขายบน NFT Marketplace ทั่วไปอยู่จำนวนไม่น้อย และบน Coral เองก็มีศิลปินอย่าง Lactobacillus, Tikkywow, ทรงศีล ทิวสมบุญ, เอกชัย มิลินทะภาส, ปัณฑิตา มีบุญสบาย, Benzilla, Pomme Chan, IllustraTU, และJiggy Bug และยังคงเปิดรับศิลปิน-พาร์ทเนอร์เพื่อเข้าร่วมแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันบริการ Coral จะยังไม่เปิดให้บริการแบบสมบูรณ์ โดยจะเปิดให้เหล่าศิลปินเข้าไปกดสมัคร และฝากผลงานกันไว้ก่อนได้ที่ coralworld.co ก่อนที่เว็บจะเปิดให้บริการแบบเต็มตัว เหล่านักสะสม หรือผู้ที่ต้องการซื้อขาย สามารถเข้าไปใช้บริการกันได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2021 นี้ต่อไป
นอกจากนี้ Coral ยังมีพาร์ทเนอร์อย่าง “สยามพิวรรธน์” ที่เป็นเจ้าของห้างดังอย่าง สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน ไอคอนสยาม ซึ่งจะมาช่วยต่อยอดนวัตกรรม สร้างศูนย์รวมด้านศิลปะ วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ไปพร้อมๆกันอีกด้วย
ก่อนจะจบบทความนี้ ขอทิ้งท้ายเอาไว้หน่อยว่า DeFi, NFT น่าจะเป็นศัพท์และกระแสที่เพื่อนๆ ได้ยินตลอดปี 2021 นี้ และน่าจะได้อ่านข้อมูลกันไปบ้างไม่มากก็น้อย ในอนาคตก็อาจจะเป็นกระแสหลักได้เหมือนกัน ซึ่งส่วนตัวก็มีศึกษาเพิ่มเติมอยู่ และพบว่ามีอะไรน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ไว้ถ้ามีโอกาส น่าจะได้เอามาเล่าให้ฟังกันต่อไปครับ
Comment