KBTG (KASIKORN Business Technology Group) กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย ปัจจุบันเป็นหน่วยงานที่สร้างผลงาน บริการใหม่ๆของธนาคารกสิกรไทยออกมามากมาย โดย K PLUS ก็เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ของทีมนี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา KBTG ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดวิสัยทัศน์ของปี 2018 ซึ่งนอกเหนือจากฟีเจอร์ในด้าน AI ที่เตรียมจะใส่เข้ามาและปรับดีไซน์แอปใหม่ในปีนี้ ยังมีการเปิดตัวทีมงานซึ่งไปคว้ามือดีมาลุยกันเพียบ
KBTG เบื้องหลังความสำเร็จของกสิกรในยุคดิจิทัล
หลังๆมานี้เราจะเริ่มได้ยินชื่อของ KBTG บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งใครที่อยู่ในแวดวงหรือติดตามข่าวสารด้านการเงินการธนาคารก็น่าจะพอได้ยินกันมาบ้าง แต่สำหรับคนที่เพิ่งเคยได้ยินก็ต้องบอกว่า KBTG เป็นชื่อที่ต่อไปจะสร้างสีสันให้กับวงการไอทีและธนาคารในบ้านเราอีกมาก คนทำธุรกิจควรจะรู้จักพวกเค้าไว้ โดยกลุ่มบริษัทนี้ถูกจัดตั้งขึ้นจากธนาคารกสิกรไทย ที่เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ธนาคารก็ต้องปรับตัวสร้างบริการที่ตอบโจทย์การใช้งาน ที่ผ่านมาได้ฝากผลงานเอาไว้หลายอย่าง ทั้ง K PLUS, K PLUS Beacon และโครงการนำร่องของ Machine Commerce และ Machine Lending ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี และขณะนี้ธนาคารสามารถทำให้บริการอย่างการปล่อยกู้ และการสร้างโอกาสในการซื้อขายให้แก่ลูกค้าของธนาคาร ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และตรงใจ มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
เปิดตัว “เกด” เทคโนโลยี AI ที่เตรียมให้บริการบน K PLUS
KADE (K PLUS AI-Driven Experience) หรือเรียกสั้นๆว่า เกด นี้ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ธนาคารจะใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาเสริมการใช้งานใน K PLUS ให้ดีและหลากหลายมากขึ้น จากฟีเจอร์เดิมๆที่รอเราสั่งงาน เช็คบัญชี โอนเงิน จ่ายบิล กลายเป็นตัวแอปจะมีสมองคิดได้ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทางด้านการเงินและใช้ชีวิตได้เลยทันที เช่น
- แจ้งเตือนให้จ่ายเงินค่าบริการต่างๆ
- เสนอเงินกู้ให้ยามที่เรากำลังขาดเงิน
- แนะนำสินค้าและบริการที่เราน่าจะสนใจ
- วางแผนการลงทุนให้คุ้มค่าที่สุด
ฟีเจอร์ต่างๆข้างต้นนี้ ทางเราไม่จำเป็นต้องร้องขอ แต่ว่าทางแอปจะนำเสนอมาให้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลมาจากตัว AI ที่ได้เข้าทำการประมวลผลข้อมูลต่างๆของลูกค้าแต่ละคน โดยเรียนรู้รูปแบบการใช้ชีวิตและประวัติการทำธุรกรรมการเงิน ฯลฯ จนเรียนรู้ว่าลูกค้าคนนั้นๆมีความสนใจในเรื่องอะไรบ้าง และสามารถนำเอารูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้าคนอื่นๆที่มีโปรไฟล์ใกล้เคียงกับเราปรับมานำเสนอได้อีก เรียกได้ว่าเป็นการทำโปรโมชั่นแบบเจาะเป็นรายคน (Segment of One) เลยก็ว่าได้ ซึ่งทางธนาคารมั่นใจว่า KADE จะสามารถเลือกแต่สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการได้อย่าง “ถูกใจ ทุกที่ ทุกเวลา” และลูกค้าก็ยังสามารถเลือกเองได้ว่าต้องการที่จะเห็นหรือไม่เห็นอะไรบ้าง ปรับแต่งเองได้ตามใจชอบเลยครับ
สำหรับความฉลาดของ AI ใน K PLUS นี้จะประกอบไปด้วย 3 แกนหลักคือ
- Design Intelligence : ออกแบบทุกส่วนโดยใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ศึกษาทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า แล้วนำเอาข้อมูลที่ได้มาออกแบบให้ใช้งานได้อย่างตอบโจทย์ที่สุด ซึ่งเราได้เห็นจากการออกแบบ K PLUS Beacon ไปแล้ว
- Service Intelligence : สร้างสรรค์บริการใหม่ๆขึ้นมาจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้ เราชอบอะไร ไปไหนบ่อย ทางธนาคารก็จะหามาบริการให้ เช่น วาเลนไทน์ก็มีดอกไม้มาขาย หรือลองนำสินค้าเกษตรแบบออแกนิกส์จำหน่ายให้กับกลุ่มคนที่สนใจ เรียกได้ว่าเราจะมี e-marketplace ย่อมๆอยู่ในแอป K PLUS เลยนั่นเอง ซึ่งได้มีการทดลองให้บริการแล้ว ในอนาคตจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ลูกค้าจะได้รับข้อเสนอโปรโมชั่นตามความสนใจของบุคคล ผ่านเมนู Life PLUS
- Machine Intelligence : นำเอามาต่อยอดใช้เป็น Machine Lending ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ค้ารายย่อย โดยทางธนาคารจะดูข้อมูลความจำเป็นของการใช้เงิน รวมถึงความสามารถในการชำระเงิน แล้วนำเสนอเงินกู้ผ่านทาง K PLUS หากสนใจเข้ารับบริการ จะได้เงินเข้าบัญชีทันทีในเวลาไม่เกิน 1 นาที ซึ่งลองให้บริการมาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2560 และได้รับการตอบรับที่มากกว่าวิธีเดิมถึง 300% เลยทีเดียว
Machine Lending บน K PLUS ทำงานอย่างไร
มาถึงตรงนี้บางคนอาจจะอยากรู้เรื่องของระบบการให้วงเงินกู้ส่วนบุคคลแบบอัตโนมัตินี้กันแล้วว่ามันทำงานอย่างไร ซึ่งผมจะขออธิบายตามภาพข้างต้นคือทางธนาคารจะรวบรวมข้อมูลต่างๆของเรา ทั้งข้อมูลที่เราให้ไว้เมื่อตอนสม้คร ประวัติการทำธุรกรรมผ่านทางธนาคาร รวมถึงข้อมูลการใช้งานแอป มือถือ หรือ social network ต่างๆ เอามาประมวลผลทางกสิกรไทยก็จะพยายามเข้าใจในความชอบของเราว่าต้องการอะไร และในช่วงนี้ว่าเรามีเครดิตหรือความสามารถในการชำระคืนเท่าไหร่ และทำนายว่าเรามีความต้องการใช้เงินในช่วงเวลานั้นหรือไม่ เช่น กำลังจะแต่งงาน ต้องการเงินไปรักษาคนในครอบครัว หรือจะขยายกิจการ ตรงนี้ทางธนาคารก็จะทำการเสนอวงเงินกู้มาให้เราได้ใช้ได้อย่างทันใจ แบบถูกที่ ถูกเวลานั่นเองครับ ส่วนว่าจะแม่นขนาดไหนนั้น คงต้องถามคนที่เคยได้รับข้อเสนอมาแล้วว่าเป็นอย่างไรบ้างนะ
ปรับดีไซน์ K PLUS ใหม่ ให้เข้ากับ KADE
เมื่อ “เกด” จะสร้างความฉลาดให้กับ K PLUS เพิ่มขึ้นมากมายทั้งที การออกแบบตัวแอปใหม่เพื่อให้รองรับก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่งภายในงานทางผู้บริหารของ KBTG บอกเป็นนัยว่ายังไงก็ต้องทำ แต่จะยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดมากนัก ซึ่งก็เชื่อได้ว่าจะออกมาดีขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะมีทีมดีไซน์ทั้งหน้าตา (UI) และประสบการณ์ใช้งาน (UX) อยู่ด้วย ที่ได้ช่วยออกแบบ K PLUS Beacon ให้สามารถใช้งานได้ง่ายจนคนตาบอดยังใช้งานได้สบายๆครับ
K PLUS Beacon แอพใหม่ใช้ง่ายเพื่อผู้สูงอายุและคนตาบอด จากธนาคารกสิกรไทย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของ K PLUS Beacon กันต่อได้นะ
ดึงตัวหัวกะทิชาวไทยกลับบ้าน ร่วมพัฒนานวัตกรรมการเงิน
สิ่งนึงที่น่าสนใจของทีม KBTG คือ มีการเปิดเผยว่าแทบทุกบริการที่มีที่ให้เราใช้นี้ เป็นการพัฒนาแบบ In-House หรือทำกันเองแทบทั้งสิ้น ไม่ได้ outsource ให้บริษัทภายนอกทำ ซึ่งปัจจุบันทีมที่ทำงานอยู่มีราว 40 คน และเล็งจะขยายทีมเพิ่มเป็น 100 คนภายในปีหน้า โดยทาง KBTG ไปเฟ้นหาเหล่าคนไทยที่มีความสามารถ ทำงานอยู่ตามบริษัทใหญ่ๆดังๆทั่วโลก ดึงตัวกลับมาร่วมทีมกันเพียบ ซึ่งในงานก็มีการเปิดตัวหัวหน้าทีมแต่ละส่วนมาด้วย
- อภิรัตน์ หวานชะเอม อดีต Lead Architect ที่ Thompson Reuter สหราชอาณาจักร
- ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล อดีต Software Engineer ที่ Google สหรัฐอเมริกา
- เชษฐพันธุ์ ศิริดานุภัทร อดีต Vice President ด้าน Technology ที่ Barclays Capital Asia Limited ฮ่องกง
และทางคุณสมคิด ประธาน KBTG เองก็ได้บอกว่ายังคงคอยเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้าทีมอยู่เรื่อยๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและบริการแก่ลูกค้ากสิกรไทยให้ดียิ่งๆขึ้นไปครับ
อยากให้ยกเลิกยืนยันตัวตนด้วย เบอร์+data จะดีมากเลย เพราะคนที่ใช้ 2 ซิมจะมีปัญหาเรื่องนี้กันเยอะ เช่น ซิม 1 เป็นเบอร์หลัก ซิม 2 เป็น data internet ในกรณีนี้จะไม่ได้สามารถยืนยันตัวตนใน k plus ได้เพราะ data ไม่ใช่ของเบอร์จาก ซิม 1 ที่ได้ลงทะเบียนไว้
ผมคนนึงใช้ กสิกร เป็นหลัก … แต่ไม่ใช้ k plus เพราะต้องต่อเน็ตทุกครั้งในการโอน เติมเงินอะไรพวกนี้ เปลี่ยนไปใช้บราวเซอร์ทั้งในมือถือและคอมแทน