กำลังเป็นประเด็นกันมากเลยในช่วงนี้ กับ Uber บริการเรียกรถโดยสารรับจ้างโดยใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือ ซึ่งเป็นบริการที่สะดวกสบาย ใช้งานได้จริง ไม่ต้องคอยลุ้นเหมือนการเรียกแท็กซี่ว่าจะโดนปฏิเสธเพื่อไปเติมแก๊ส ไปส่งรถไม่ทัน หรือจะโดนทิ้งเอาไว้กลางทางรึเปล่า แถมบางทีก็มีโปรโมชั่นลดราคาออกมาเรื่อยๆอีกต่างหาก…ทำให้ Uber ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

และถ้าใครได้ติดตามข่าวอยู่บ้าง ก็จะเห็นว่าช่วงนี้มีการล่อซื้อจากกรมการขนส่งทางบกเพื่อจับกุมผู้ขับขี่ Uber ทั่วกรุงเทพ และจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกแจ้งว่าการให้บริการ Uber นั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายนั่นเอง…ถ้าให้เจาะจงก็คือผิดกฎหมายเพราะการใช้รถผิดประเภท(รถส่วนบุคคลป้ายดำ)ในการรับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด

แคมเปญแก้ไขกฎหมาย Uber และ GrabCar

และในตอนนี้ในโลกออนไลน์ก็กำลังมีการขอเสียงสนับสนุนให้มาร่วมลงชื่อบนเว็บไซท์ change.org เพื่อเรียกร้องให้ Uber และ GrabCar ได้เป็นบริการที่ถูกกฎหมายซะที…เพราะหลายๆเสียงที่เรียกร้องก็ไปในทางเดียวกันว่า ถึง Uber จะผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นบริการรถโดยสารที่ดีกว่า Taxi ปกติในทุกๆด้าน หลักๆ เลยคือ ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ผู้ให้บริการส่วนใหญ่สุภาพ บริการดี สะอาด ระบุสถานที่รับ-ส่งได้จากแอป เรียกที่ไหนก็ได้ ตอนไหนก็ได้ ล่าสุดตอนนี้มีคนร่วมลงชื่อราว 7,000 คน เข้าไปแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากแคมเปญใน change.org แล้ว ตอนนี้ทาง Uber เองก็ได้ออกมาขอเสียงสนับสนุนบริการของตนเองด้วยเช่นกันผ่านทางเวบไซต์ https://action.uber.org/th/ โดยเน้นการรณรงค์ให้สามารถประกอบกิจการประเภทร่วมเดินทางหรือ ridesharing ได้อย่างถูกกฎหมาย  ซึ่ง พรบ. รถยนตร์ ปี 2522 นั้นไม่รองรับบริการประเภทนี้ จึงอยากให้มีการร่างกฏหมายบริการร่วมเดินทางนี้ใหม่ โดยมีการชี้ให้เห็นว่าบริการร่วมเดินทางนั้นแตกต่างจากรูปแบบของรถแท็กซี่ โดยชูจุดเด่นเรื่องการบริการที่ดีกว่า ไม่ปฎิเสธผู้โดยสาร เรียกใช้งานได้สะดวก ทราบราคาค่าโดยสารก่อนคร่าวๆ ซึ่งบนหน้าเวบไซต์ของ Uber เองก็ได้รายชื่อไปราวๆ 6,000 รายชื่อแล้ว

จากจุดนี้ถ้ามองกันแบบตรงไปตรงมาคือ Uber ทำผิดกฎหมายแน่ๆ เพราะบ้านเรายังไม่ยอมรับบริการแบบนี้ และทางหน่วยงานของรัฐเองก็มีการเรียกไปเจรจาหลายครั้งแล้วแต่ก็ดูเหมือนจะยังตกลงกันไม่ได้ ซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้เราเองก็ไม่ได้ทราบว่ามีปัญหาอะไรในการเจรจา ทำไมถึงปิดดีลกันไม่ลง และตกลงกันไม่ได้ ซึ่งทาง Uber เองก็ผิดที่ยังแอบเปิดให้บริการมาโดยตลอด ด้านรัฐเองก็น่าจะหามาตรการหรือวิธึอื่นๆ มาช่วยรองรับการบริการในรูปแบบนี้ไม่ใช่จะมาสั่งปิดกันไปเลย เพราะถ้ามองไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศเองก็ยังไม่มีกฎหมายออกมา แต่ก็มีการสร้างกฏระเบียบอื่นๆ ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริการหลักอย่าง Taxi และจำกัดสิทธิ์ของบริการประเภท ridesharing เพื่อจะได้ไม่มาแย่งลูกค้ากันไปแทน ซึ่งงานนี้ก็ไม่รู้ว่าเรื่องในบ้านเราจะจบลงแบบไหน คงต้องคอยตามดูกันต่ออีกทีว่าการล่ารายชื่อจะส่งผลอะไรได้หรือไม่