ปัจจุบันมีผู้ใช้งานสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริการวิดีโออย่าง Facebook Netflix LINE หรือ Youtube ซึ่งบริการเหล่านี้เป็นบริการที่ใช้ดาต้าสูง กินทราฟิกของอินเทอร์เน็ตภายในประเทศเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กสทช. จึงปิ๊งไอเดียเสนอให้รัฐเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการประเภทนี้ในอนาคต โดยให้เหตุผลว่าบริการเหล่านี้มีการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศต้องมีการพัฒนาและบำรุงรักษาตลอดเวลา
OTT ต่างๆมีคนใช้บริการและกินดาต้าเยอะแค่ไหน
สำหรับผู้ให้บริการแบบเดียวกับ Facebook Netflix LINE หรือ YouTube นี้ถูกจัดให้อยู่ในประเภทผู้ให้บริการเนื้อหาที่ไม่มีโครงข่ายของตนเอง หรือ Over-the-Top (OTT) ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยทางกสทช. ได้เปิดเผยตัวเลขปริมาณการใช้งานเอาไว้ดังนี้
- Facebook | 61 ล้านบัญชี | ใช้งาน 655 ล้านครั้ง ต่อเดือน
- LINE | 55 ล้านบัญชี | ใช้งาน 125 ล้านครั้ง ต่อเดือน
- YouTube | 60 ล้านบัญชี | 409 ล้านครั้ง ต่อเดือน
รวมปริมาณการใช้งานดาต้าของทั้งประเทศเมื่อปี 2561 ที่ 5.8 ล้านเทราไบต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีเพียง 494,194 เทราไบต์ เท่านั้น และคาดว่าเมื่อเริ่มมีการเปิดใช้งาน 5G ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการในปี 2564 จะทำให้ปริมาณการใช้งานสูงขึ้นไปอีกราว 40 เท่า หรือ 200 ล้านเทราไบต์ กันเลยทีเดียว
กสทช. มอง OTT ใช้โครงสร้างพื้นฐานประเทศฟรี ควรต้องจ่ายให้ประเทศบ้าง
โดยต้นเหตุที่ทำให้ทาง กสทช. คิดอยากจะเก็บค่าใช้บริการจาก OTT เหล่านี้ก็มาจากปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนมากจะเกิดจากบริการ OTT เหล่านี้ โครงข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศไม่ว่าจะมือถือหรือไฟเบอร์ต่างต้องพยายามพัฒนาปรับปรุง และขยายเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับการใช้งานที่มากขึ้น ซึ่ง OTT ไม่ต้องมีภาระเหล่านี้ โดยหลักการคือ รัฐจะเรียกเก็บเงินตามปริมาณทราฟฟิกที่นำเข้าจากต่างประเทศมาใช้งานผ่านโครงข่ายของไทย มีการแบ่งประเภทว่าใช้งานเพื่อธุรกิจหรือไม่ ถ้าเป็นมีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ใช้ปริมาณอินเทอร์เนตมากน้อยระดับไหน โดยถ้าใช้งานไม่มากก็อาจจะไม่เสียเงิน และเมื่อใช้งานไปถึงระดับนึงก็จะคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามปริมาณการใช้งาน ถ้าเจ้าไหนไม่ยอมจ่ายค่าบริการก็จะมีการลดความเร็วการใช้งานลงจนกว่าจะจ่ายค่าบริการค่าโครงข่ายให้กับประเทศ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์เหล่านี้ขึ้นมาก็เพื่อหามาตรการในการหารายได้จากบริษัทต่างชาติเหล่านี้ด้วยนั่นเอง
ยังเป็นเพียงแนวคิด ไม่บังคับใช้จริง
ปัจจุบันทั้งหมดนี้เป็นเพียงไอเดียของ กสทช. ที่จะเสนอให้รัฐเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการ OTT เท่านั้น ยังไม่เกิดเป็นร่างกฎหมายขึ้นจริงแต่อย่างใด กสทช. ได้มีการย้ำว่าหากมีการเก็บค่าใช้จ่ายขึ้นจริง จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการหรือพวกเราทั้งหมด พร้อมทั้งจัดเก็บรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มเติมขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ดีแม้ว่ากสทช. จะย้ำออกมาเช่นนี้ หลายคนก็เชื่อสุดท้ายคนที่ต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆอยู่ดี
สำหรับเรื่องนี้มีความเห็นที่หลากหลายต่างกันออกไป ขึ้นกับมองจากมุมไหน ถ้าคิดว่า กสทช. หาทางทำรายได้เข้าประเทศ จากบริษั่ทเหล่านี้ที่ไม่ได้เสียภาษีให้ไทยแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีการเลี่ยงภาษีที่ค่อนข้างหนัก ทำแบบนี้เพื่อช่วยอุ้มเหล่าธุรกิจในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ หรือบีบให้เข้ามาประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ก็อาจจะมองได้ว่ากสทช. ไม่ได้ทำผิดอะไรนัก แต่ถ้ามองในมุมว่าการเก็บค่าบริการนี้อาจทำให้เหล่า OTT ไม่อยากจะมาลงทุนอะไรเพิ่มเติมก็ถือเป็นความเสี่ยง และการจะบอกว่าพวกเขามาใช้งานโครงสร้างพื้นฐานฟรีๆ ก็อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะเหล่า OTT ก็มีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่ต้องแบกรับเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้ามีการเรียกเก็บจริง ก็จะกลายเป็นต้นทุนค่าบริการไปเพิ่มเติมและคนที่ต้องแบกรับไปก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆอยู่ดี
ที่มา มติชน และ บางกอกทูเดย์ ผ่าน @NBTCrights
เอาละซิ
โครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ว่านั่น….เอกชนลงทุนเองทั้งหมดใช่มั้ยคับ??
แต่เงินเข้ารัฐ ผมว่ามันก็จะงงๆ หน่อย
—————————————————————————————-
ผมไม่ค่อยรู้เรื่องด้านนี้เท่าไหร่ ถ้าผิดไปขออภัยครับ
ไม่ว่าเอกชนหรือรัฐลงทุนหรือร่วมทุนกัน แต่โดยปกติถ้าเรียกว่าโครงสร้างพื้นฐานรัฐย่อมมีส่วนในการเป็นเจ้าของไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อมครับ ที่ถือว่าคนในชาติสมควรเป็นเจ้าของร่วม
เราดูเราต้องจ่ายค่าเนท แล้ว…
อยากเห็นหน้าคนเสนอไอเดียจังเลย ช่างเป็นคนห่วงผลประโยชน์ของประเทศชาติดีจริง ๆ
คงได้เงินมหาศาล ถึงมีความคิดแบบนี้ขึ้นมา
คุณพระ !!!
พวกห่านนี่แลจะว่าง
ผมกลับเห็นด้วยอยู่เบาๆกับไอเดียนี้นะครับ อย่างน้อยที่สุดก็ฟังดูเข้าท่ากว่าความพยายามจัดเก็บภาษีเงินได้โดยตรงที่เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ สำหรับการจัดเก็บตามปริมาณเดต้าที่ถูกนำไปใช้บนบริการ OTT เหล่านี้ ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่มีความสมเหตุสมผลไม่เพิ่มภาระมากจนเกินไป ก็อาจเป็นเรื่องดีที่รัฐจะได้อะไรคืนมาบ้างจากบริการเหล่านี้ที่ได้ค่าบริการ และฐานผู้ใช้งานคนไทยไปเต็มๆ ให้ดียิ่งกว่าอาจจะไปช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในไทยให้ลืมตาอ้าปากมาแข่งขันได้มากขึ้นบ้างถ้ามีการยกเว้นให้สำหรับผู้ให้บริการสัญชาติไทย
เห็นด้วยครับ youtube/Facebook บังคับเราดูโฆษณา แล้วจะไม่จ่ายผลประโยชน์ให้ประเทศนั้นๆ บ้างหรือ จะเอาอย่างเดียวได้ไงหล่ะ
ผมเสียค่าเน็ตกับผู้ให้บริการเน็ตแล้วนี้ครับถ้าจะเก็บก็ไปเก็บกับเขาเลยจะเอาไรกับผมอีก
ใช่ครับ เก็บภาษีก็เก็บไป อย่าเอาความเร็วเนทมาเกี่ยวสิ 55
เก็บภาษีก็ส่วนของเก็บภาษีครับ คนละส่วนกัน
ไปกัดกันเค้ามากๆโดนยกเลิกบริการไม่ให้บริการในไทยจะเดือดร้อน
เราจ่ายค่าเน็ตแล้ว ISP ก็ไปจ่ายกับ คสทช เอง ไม่ใช่มาลดสปีดประชาชน
เห็นด้วยนะคะ ในแง่ที่เราควรจะเก็บอะไรจาก Facebook บ้าง เท่าที่รู้เรายังไม่สามารถเก็บเงินภาษีเฟสบุคได้ เพราะมีเงินโฆษณาจำนวนมากจ่ายออกไปจากประเทศเราโดยไม่ได้อะไรกลับมา เพื่อนที่รู้จักจ่ายเป็นแสนต่อเดือน มันควรจะคืนสู่ประเทศบ้าง เท่าที่หาข้อมูลมาก็ไม่ใช้ประเทศเราเดียวที่พยายามจะเปลี่ยนกฎหมายมาเก็บเงิน facebook อยู่
แต่วิธีอ้างของ กสทช. ดูแปลกไปหน่อย มาลดเน็ตก็กระทบคนใช้ แต่จริงถ้าลดไปจริงก็คงส่งเสริมการแข่งขันในประเทศเราเอง มีคนอยากทำแอปแบบเฟสบุคในประเทศเรามากมาย เปลี่ยนมาใช้ของไทยสนับสนุนคนไทยก็อาจจะดีกว่า
เห็นด้วยเพราะ เท่าที่รู้เรายังเก็บภาษีเฟสบุคไม่ได้ เงินค่าโฆษณาที่คนไทยจ่ายออกไปที่เฟสบุคโดยไม่ย้อนกลับมา เท่าที่หาข้อมูลมาหลายประเทศก็พยายามเก็บภาษีเฟสบุคอยู่
แต่ กสทช.ก็ดูงง และมากระทบคนใช้ ก็แปลกอยู่ แต่จริงถ้าลดจริง ก็เป็นการสนับสนุนคนไทยด้วยกันเอง มีคนอยากทำเวปแบบเฟสบุคเยอะแน่นอน มาแข่งขันกันเองในประเทศก็ดีเหมือนกัน
แนวคิดนี้ เบื้องต้นน่าจะเป็นความต้องการเก็บจากผู้ให้บริการ Application และ Platform ทั้งหลายนะครับ ไม่ใช่เก็บจากเราในฐานะผู้บริโภคโดยตรง เช่น เป็นการมองว่า Facebook มาใช้ประโยชน์เดต้าแถมผู้บริโภคของไทย แต่รัฐแทบจะไม่ได้อะไรจาก Facebook เลย จึงมีแนวคิดว่า Facebook ในฐานะผู้ใช้เดต้าอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ควรจะมีการให้ส่วนแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมหรือไม่ แบบนี้มากกว่าครับ ไม่ใช่การจัดเก็บจากเราๆในฐานะผู้ใช้งานครับ 🙂
ไม่ใช่แค่ประเทศเรานะ ออสเตรีย (ออกกฏหมายมาโดยเฉพาะ) ก็เรียกเก็บ, อินโดก็เรียกเก็บ
ถึงจะเรียกเก็บ แต่ความจริงคนลงโฆษณาก็ต้องเป็นคนเสียภาษีอยู่ดี Facebook, Youtube คงไม่กระเทือนหรอก
นโยบายคือต้องหารายได้เข้ารัฐ ง่ายที่สุดก็คือเก็บภาษี ไม่ต้องคิดมาก ออกนโยบายไป เดวก็ออกไอเดียสนอง เดาว่าเดวจะมีมีภาษีมาให้จ่ายกันอีกเรื่อยๆ อยู่ที่ใครจะเป็นคนจ่าย ช่วงนี้เห็นเงียบๆ น้ำมันแอบขึ้นอีกละ 555+
Plan single gateway
ขนาดยังไม่มีการเก็บค่า OTT ไรเนี๊ยะ ผู้ให้บริการเน็ททุกเจ้ายังพร้อมใจขึ้นราคาเลย แถมยังจำกัดจำนวนอีกต่างหาก หากโดนเก็บนะ โดนหลายเด้งแน่
ก้อดี ไทยจะได้เลิกเป็นสังคมก้มหน้ากับเค้า …… มั้งนะ
ส่วนตัวผมรู้สึกกลางๆกับเรื่องนี้ ไม่ค้านไม่สนับสนุน
ทุกวันนี้คนเข้าถึงสื่อผ่านทางการดูทีวี การฟังวิทยุน้อยลงๆ
การโฆษนาและธุรกิจย้ายฐานมาอยู่บนอินเตอร์เน็ตมากขึ้นมากๆ ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นก็พบว่า
ทั้งธุรกิจโฆษนาและธุรกิจการค้าสามารถลดการเสียภาษีเข้ารัฐได้อย่างมากมาย
ผ่านการค้าออนไลน์โดยที่ไม่ผิดกฎหมายเลย เพราะกฎหมายมันก้าวตามไม่ทัน
ทาง กสทช.ก็ยืนยันแล้วว่ามาตรการที่อยู่ในขั้นนำเสนอนี้ จะไม่มีการเรียกเก็บเงินจาก
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต
แม้เมื่อดูมาถึงจุดนี้อาจเป็นเรื่องที่ดูดี แต่ผมก็ไม่รีบร้อนที่จะสนับสนุน
อย่างเรื่องพวกโซเชียลมีเดียที่มีการขายพื้นที่โฆษนา หรือการค้าออนไลน์ต่างๆ
เป้นเรื่องดีที่รัฐจะออกกฎหมายให้ทันสมัยพอเพื่อจะจัดเก็บภาษีต่างๆเพื่อหาเงินเข้ารัฐ
และเพื่อความเป็นธรรมต่อคนที่ยังลงโฆษนาผ่านสื่อปกติ และคนที่ยังเปิดหน้าร้านขายของ
ซึ่งยังเสียภาษีเต็มๆอยู่ แต่หลายๆกิจกรรมที่ใช้แบนด์วิธมากเช่นพวกดูหนังออนไลน์
ระบบสมาชิกที่ไม่ได้มีการโฆษนา การจะมาเก็บภาษีตรงส่วนนี้ควรคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย
ผู้ให้บริการ A ให้บริการกับประชาชนในประเทศ B
ประเทศ B บอกให้ A จ่ายค่าขนมด้วย ไม่งั้นจะลดสปีด คนในประเทศ B จะใช้บริการของคุณช้าลง
ผู้ให้บริการ A ต้องแคร์ ????
ปกติเค้าก็เสียเงินค่า Server ค่าต่อเน็ตของ Server เค้า ค่าทำแอพเค้า ค่าคอนเทนต์เค้า
แล้วไปเรียกร้องให้เค้าออกค่าเน็ตให้พวกเราคนใช้บริการด้วยส่วนหนึ่ง
เกรงว่าบริการพวกนี้จะบล็อคเราทิ้งซะมากกว่าครับ
ถ้าเรามีประชากรใช้บริการเค้าเยอะ ๆ แบบ จีน หรือ อินเดีย สร้างเป็นรายได้หลักของเค้า
เค้าอาจจะพิจารณายอมฟังเสียงเราบ้าง
แล้วถ้ากฏหมายมันออกมาจริง พวกรายเล็ก ๆ ก็ต้องจ่ายค่าโครงสร้างพื้นฐานด้วยรึเปล่า – -.
แล้วพวกเว็บดูหนังออนไลน์ล่ะ พวกหับหับอะไรพวกนั้น ไม่ต้องจ่ายค่าโครงสร้างพื้นฐานด้วยเหรอ
ก่อนหน้านั้น ช่วยไปเก็บกับเวบพนัน แทงบอล หนังโป๊ ก่อนเลยครับ