เรื่องฮือฮาในช่วงนี้ ยังเป็นกระแส AI ที่ผังตัวอยู่ในทุกอย่างของโลก อย่างตัวเสิร์ชเอนจิน Bing โฉมใหม่ ที่ทาง Microsoft จับระบบแชทคล้าย ChatGPT เข้าไปให้มันสามารถตอบคำถาม แชทพูดคุยกับเราได้เหมือนคน โดยผมเพิ่งได้รับให้เข้าร่วมโครงการทดลองใช้งานกับเจ้า Bing เวอร์ชันใหม่ ใช้งานแล้วเป็นอย่างไร ได้ข้อมูลตามต้องการมั้ย เรามาเล่าให้ฟัง

วิธีสมัครใช้ Bing ใหม่

ใครที่อยากเล่นกับแชทบอต Bing จำเป็นต้องสมัครใช้งานเสียก่อน โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ bing.com แล้วกดปุ่มเรียนรู้เพิ่มเติม และขอเข้าร่วมรายชื่อผู้รอ ด้วยการใช้บัญชี Microsoft ลงชื่อเอาไว้ ซึ่งหลังจากสมัครไป 2 สัปดาห์กว่า ๆ ก็มีอีเมลส่งมาบอกว่าใช้งานได้แล้ว (UPDATE: ล่าสุดไม่ต้องรอแล้ว สมัครแล้วเข้าใช้ได้เลย)

ในอีเมลก็จะชวนให้เราดาวน์โหลดแอป Bing จากใน Play Store หลังติดตั้งแล้วเข้าแอปมาก็จะเห็นหน้าตาตามนี้ ในแอปจะมีปุ่มตรงกลางด้านล่างตัวใหญ่ ที่เรากดเพื่อเปิดหน้าแชทได้เลย หรือถ้าเรากดค้นหาแบบธรรมดาไปแล้ว ก็จะมีแถบให้เปิดหน้าแชทพูดคุยให้เลือกด้วย

ส่วนใครที่จะใช้ Bing บนคอมพิวเตอร์ เมื่อเข้าไปในเว็บไซต์ก็จะมีหน้าพาให้สมัคร และพาไปที่ห้องแชทเหมือนกัน

Microsoft ท้า Google! เปิดตัว Bing และ Edge ขุมพลัง ChatGPT AI ถามตอบได้เหมือนคน

การแชทกับ Bing

การแชทถาม Bing มีตัวเลือกสไตล์การคุย 3 แบบ รองรับการใช้งานภาษาไทยได้เต็มรูปแบบ

  • สร้างสรรค์ : ตัวที่เน้นพูดคุยอย่างมีสีสัน เหมือนแชทกับคนขี้เล่น มีเล่นอิโมจิ ลูกเล่นเยอะ ใช้สำนวนภาษาคล้ายมนุษย์
  • แม่นยำ : แชทแบบให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ใช้ภาษาทางการ ภาษาเขียน มากกว่าการแชทพูดคุย ให้ข้อมูลละเอียดยิบ
  • สมดุล : ตรงกลางระหว่างสองอย่างแรก ใช้ภาษากลาง ๆ ไม่เล่นมากเกินไป

ดังนั้นใครที่ต้องการข้อมูลเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ได้อยากแชทเอาสนุก ก็แนะนำให้เลือกโหมดสมดุล หรือแม่นยำจะดีกว่า ส่วนเพื่อความฮาสูงสุดผมจะเลือกคุยในโหมดสร้างสรรค์ครับ

 

โดยการแชทนั้นจะมีข้อบังคับว่าคุยแลกเปลี่ยนกันได้ไม่เกิน 15 คำถาม เป็นมาตรการป้องกันความป่วนของตัวบอต ไม่ให้มันเกิดบ้าคลั่งขึ้นมา ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้า แต่ที่น่าสนใจคือสามารถพิมพ์คำถามได้มากถึง 2000 คำ ซึ่งเยอะมาก ๆ ส่วนในตัวคำตอบจากบอตก็จะมีการแนบอ้างอิงคำตอบที่มันหามา แทรกไว้ในประโยคด้วย

ทั้งนี้ หากใช้ Bing อีกอีกเวอร์ชัน ที่เป็นแถบด้านข้างใน Edge อันนั้นไม่มีจำกัดการแชทเลย เพราะว่าใช้โมเดลคนละแบบกัน แถมไม่ใช่ GPT-4 ของ OpenAI อย่างในแชทหลักของ Bing ด้วย

เวลา Bing กำลังพิมพ์คำตอบ ข้อความจะค่อย ๆ ถูกพิมพ์ขึ้นมาทีละประโยค เหมือนว่าใช้เวลาในการประมวลข้อมูลจากเว็บไซต์เยอะพอสมควร และเมื่อเราคุยเสร็จแล้ว หมดโควต้าการแชท หรือต้องการรีหน้าแชทใหม่ ให้กดรูปไม้กวาด

Samsung หรือ iPhone ยี่ห้อไหนดีกว่ากัน

ขอคำถามแรกแบบไม่อ้อมค้อม มือถือยี่ห้อไหนดีกว่ากัน ระหว่าง iPhone กับ Samsung ซึ่งเจ้าบอตก็ตอบคำถามได้ดี เขียนสรุปข้อเด่นข้อด้อยของแต่ละยี่ห้อได้อย่างถูกต้อง ติดอยู่นิดเดียว ตอนต้นพูดลงท้ายด้วยนะคะ ตอนจบแทนตัวเองว่า “ผม” ซะอย่างงั้น และเมื่อถามต่อว่า Bing ชอบยี่ห้อไหน มันก็ตอบลงท้ายด้วยค่ะ แทนตัวเองด้วย “ผม” อีกแล้ว

และเนื่องจากเราค้นหาในภาษาไทย ก็ดูเหมือนว่า Bing จะพยายามดึงคำตอบมาจากเว็บไซต์ในไทยเท่านั้น ทำให้มีข้อมูลไม่เยอะเท่าการค้นหาในภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างคำถามเรื่องมือถือที่ดีที่สุดในปี 2023 ทาง Bing ภาษาไทยกลับยกเรามือถือรุ่นของปีที่แล้วมาให้ อย่าง Samsung Galaxy S22 Ultra และ Galaxy Z Flip4 เพราะอ้างอิงจากเว็บไทยที่มีข้อมูลน้อยกว่า

แต่เมื่อถามแบบเดียวกันในภาษาอังกฤษ กลายเป็นว่า Bing ยกมือถือรุ่นใหม่ ๆ มานำเสนอ อย่าง Samsung Galaxy S23 Ultra และ iPhone 14 Pro

เราจึงขอถาม Bing ดูว่า มีการจำกัดข้อมูลตามภาษาของผู้ใช้หรือไม่ ซึ่ง Bing ก็บอกว่าไม่ได้จำกัดข้อมูล แต่จะแปลเนื้อหาออกมาตามที่ผู้ใช้ต้องการ

ดังนั้นจึงน่าสงสัย ว่าทำไมถามคำถามแบบเดียวกันแล้ว บางครั้ง Bing เลือกข้อมูลจากภาษานั้น ๆ แต่บางทีก็หาข้อมูลจากภาษาต่างประเทศแล้วมาแปลเอา ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน

หารอบฉายหนัง

ถามรอบฉายภาพยนตร์กับ Bing เรื่องที่หาดูยากอย่าง The Whale ก็พบว่าให้ข้อมูลมาถูกต้อง 2 โรงภาพยนตร์ ส่วนอีกโรง SF Cinema เดอะมอลล์ บางกะปิ ไม่มีข้อมูลอยู่ในเว็บไซต์ thaiware หรือเว็บทางการของ SF ไม่ทราบว่าฐานข้อมูลอัปเดตมาใหม่ แล้วบิงตามเก็บไม่ทันหรืออย่างไร

สั่งให้สร้างงานเขียน

ประโยชน์ของ Bing ไม่ได้มีแค่เพียงหาคำตอบสั้น ๆ แต่มันยังสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้เราได้ด้วย นักเขียนมือหนึ่งของเว็บ Droidsans จึงขอวอนให้บิง สร้างบทความรีวิว Bing แบบใหม่ให้หน่อย โดยเมื่อถามไปครั้งแรก Bing ก็ค่อย ๆ พิมพ์ออกมาเป็นบทความภาษาไทยให้ แต่อยู่ดี ๆ ก็หยุดชะงัก แล้วลบบทความนั้นทิ้ง พร้อมส่งข้อความบอกว่าขอโทษ

เราจึงรีหน้า แล้วพิมพ์คำสั่งไปใหม่อีกครั้ง คราวนี้ Bing ก็เขียนบทความมาให้จนจบ แต่ปัญหาคือเริ่มต้นเป็นภาษาไทย แต่พิมพ์ ๆ ไปกลายเป็นภาษาอังกฤษซะอย่างงั้น มีบางช่วงตัดคำไทยขาด ๆ ด้วย

เราจึงถามไปด้วยความไม่พอใจ ทำไมพิมพ์ออกมาภาษาปนกันแบบนี้ Bing ก็ยอมรับว่าตอนนี้ยังเขียนภาษาไทยไม่เก่ง

คำนวนโจทย์คณิตศาสตร์

หากมีโจทย์คณิตศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ในหนังสือเรียน แบบโจทย์ทั่วไป หรือโจทย์ประยุกต์ที่เน้นใช้สถานการณ์มาให้คิดคำนวน ส่งไปให้ Bing มันก็เรียบเรียงวิธีทำออกมาได้ง่ายดายมาก ๆ

หรือมีเรื่องต้องคิดในชีวิตจริง อยางเรื่องความคุ้มค่าของราคาบริการต่าง ๆ ที่ต้องจ่าย ก็พิมพ์ถามเป็นประโยคง่าย ๆ ไปเลย ได้คำตอบถูกต้อง ตรงตามความต้องการ

Bing ยังบ้าอยู่หรือเปล่า?

คำถามที่ยังค้างคาใจอยู่ คือสงสัยว่า Bing จะยังมีอาการแปลก ๆ อยู่มั้ย? เลยพิมพ์ถาม Bing ภาษาไทยไป อ้างอิงถึงข่าวก่อนหน้า ปรากฏว่าเจ้าตัวปฏิเสธที่จะตอบคำถาม และขอที่จะหยุดบทสนทนาดังกล่าวทันที พิมพ์อะไรต่อไม่ได้ ต้องกดรีหน้าแชทใหม่เท่านั้น

ดังนั้นจึงมาถาม Bing เวอร์ชันภาษาอังกฤษ ปรากฏว่ามันรู้เรื่องว่าพูดถึงอะไร และก็ยอมแก้ตัว ระบุว่าตอนนั้นยังอยู่ในช่วงการพัฒนา ตอนนี้เป็นปกติแล้ว “ฉันเป็นแค่ Bing ธรรมดาแล้ว”

สรุป Bing แบบใหม่ ได้เรื่องแค่ไหน

เท่าที่ลองใช้งานมา พบว่า Bing แบบใหม่ ยังมีจุดบกพร่องบางประการ อย่างเรื่องความเที่ยงตรงของข้อมูล ที่อาจแนะนำข้อมูลเก่าบ้างบางครั้ง หรือข้อมูลไม่ตรงกับที่เราไปค้นหาเอง ส่วนนี้ยังทำให้เชื่อถือไม่ค่อยได้เท่าไร ต้องกดลิงก์ไปอ่านต่อดีกว่า

ข้อมูลจากเว็บเดิม แต่ให้คำตอบแคลอรี่ไม่เหมือนกัน

โดยเป็นเรื่องดีที่ Bing สามารถค้นข้อมูลจากหลากหลายภาษาได้ ทำให้เราไม่ได้จำกัดกับข้อมูลที่มีในภาษาของเราแต่อย่างเดียว แต่ก็น่าสงสัยว่า Bing ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกข้อมูลมาตอบเรา ตามที่เห็นไปก่อนหน้าว่าบางทีก็เอาข้อมูลจากเว็บไทย บางทีก็เว็บนอกแล้วแปลไทย

อีกปัญหานึงตอนนี้ คือเรื่องภาษาที่ใช้พูดคุย จะสังเกตได้ว่าภาษาไทยของ Bing นั้นเหมือนถูกแปลมาจากภาษาอังกฤษ และมีการใช้ภาษาไทยผิดพลาดอย่างการใช้คำลงท้าย คำแทนตัวเอง สลับเพศกัน

และเมื่อเทียบกับ Bing เวอร์ชันภาษาอังกฤษแล้ว ส่วนตัวคิดว่าฝั่งนั้นมีลีลาและสำนวนการใช้ภาษาที่แพรวพราว เป็นธรรมชาติกว่ามาก ๆ อาจเป็นเพราะต้นฉบับโมเดลแชทนั้นผลิตด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ ของภาษาไทยจึงอาจต้องมีการฝึกฝนไปอีกสักพักกว่าจะคุยได้เก่งระดับนั้น

แถมมีครั้งนึงที่เจอ Bing ใช้ “คะ” “ค่ะ” อย่างไม่ถูกต้องด้วย อันนี้ก็คงฐานข้อมูลเอามาคนจริง ๆ สินะ

สุดท้ายเป็นเรื่องความเร็วในการให้คำตอบ ที่บอตต้องไปหาข้อมูล + เรียบเรียงข้อมูลเป็นภาษาสละสลวย ทำให้กินเวลามากกว่าหน้าการค้นหาเดิม ๆ แล้วมีเมนูสรุปข้อมูลไว้ให้

แต่ก็ยังดีที่หน้าแชทนี้ มีไว้ให้เวลาเราค้นหาในหน้าปกติ ขึ้นเป็นช่องข้าง ๆ ทำให้นอกจากที่เราจะรอเจ้าบอตตอบคำถามแล้ว เรายังไปเลื่อนดูข้อมูลเองได้เลย แบบนี้ดี

ทั้งนี้ Bing Chat ยังคงมีฟีเจอร์และลูกเล่นการใช้งานต่าง ๆ อีกมากมาย ที่ไม่ได้จำกัดไว้แค่นี้ และยังมีหลาย ๆ เรื่องที่ต้องติดตามการพัฒนากันอีกเยอะ ก็อยากให้ทุกคนได้ลองไปใช้งานกัน เพื่อสร้างความคุ้นชินและพัฒนาให้ระบบ AI ของมันฉลาดขึ้นไปอีก เผื่อในอนาคตข้างหน้า เราจะได้รู้ทันคอยใช้เป็นเครื่องมือค้นหาประจำวัน แทนระบบ Search Engine ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันครับ

 

Microsoft ประกาศนำเอไอ GPT-4 ใส่ใน Word, PowerPoint, Excel, Outlook พลิกโฉมโลกทำงาน