ช่วงนี้หลายๆคนน่าจะได้รับ Email หรือการแจ้งเตือนเวลาใช้แอปเรื่องการนโยบายความเป็นส่วนตัวจากหลายๆที่กันจนงงว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงได้เกิดขึ้นพร้อมกันเต็มไปหมดขนาดนี้ โดยเรื่องของเรื่องเกิดจากทางสหภาพยุโรปหรือ EU เค้าได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎด้านนโยบายความเป็นส่วนตัวใหม่ที่เรียกว่า GDPR ซึ่งมีผลกับแทบทุกเว็บทุกบริการ และบริการเหล่านี้ก็เลือกที่จะเปลี่ยนนโยบายทั้งหมดให้กับผู้ใช้ในทุกประเทศทั่วโลกไปด้วยเลย และวันแรกที่กำหนดให้ใช้ก็คือวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมานั่นเอง
GDPR คืออะไร
GDPR ย่อมาจาก General Data Protection Regulation ซึ่งเป็นกฎที่ทาง EU ได้กำหนดมาตั้งแต่ปี 2016 เพื่อควบคุมวิธีที่บริษัทต่างๆดูแลจัดการข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ รวมถึงการส่งต่อข้อมูลไปให้บริษัทอื่นๆด้วย โดยหลักๆ GDPR จะทำให้บริษัทต่างๆต้องขอความยินยอมจากผู้ใช้ก่อนเก็บข้อมูลเสมอ และผู้ใช้สามารถขอดูข้อมูลที่ถูกเก็บไป พร้อมตรวจสอบ และเพิกถอนความยินยอมนั้นๆได้ ซึ่งกฎนี้ครอบคลุมถึงบริษัทที่อยู่นอก EU ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตามที่มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อบริษัทที่ทำโฆษณาออนไลน์ต่างๆ ที่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ ในที่นี้บริษัทที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดคงจะไม่พ้น Google หรือ Facebook ที่ทำมาหากินจากการขายโฆษณาและปล่อยข้อมูลผู้ใช้ให้คนลงโฆษณาเข้าถึงได้นั่นเอง
Tips : รู้หรือไม่ ที่เราเห็นโฆษณาตามเว็บหรือบน Facebook แล้วรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมมันตรงกับที่เราเคยคุย เคยค้นหา กำลังอยากได้ หรือน่าสนใจดี นั่นเป็นเพราะว่า บริการอย่าง Google Facebook เค้ามีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของเราผ่านทุกสิ่งอย่างที่เราใช้งาน ไม่ว่าจะมือถือ คอม หรืออุปกรณ์ใดๆที่ต่ออินเทอร์เน็ต และเค้าเข้าไปแทรกซึมได้ รวมถึงการดักฟังสิ่งที่เราคุยๆกันอยู่เลยด้วยซ้ำ และเอาข้อมูลวิเคราะห์จนรู้ได้ว่า เราน่าจะชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้และเอามาทำโฆษณาให้เราดูนั่นเอง
เกิดที่ EU สะเทือนแต่สะเทือนไปทั่วโลก
GDPR เป็นกฎที่ทาง EU ตั้งขึ้นมาก็จริง แม้ว่าจะไม่มีผลหากมีการละเมิดที่ประเทศอื่น แต่เหล่าบริษัทต่างๆก็เลือกที่จะปรับตัวแอปของตนทั้งหมดและพร้อมที่จะให้คนจากประเทศอื่นได้ใช้นโยบายความเป็นส่วนตัวเดียวกัน หากว่าบริษัทไหนเลือกที่จะใช้สองมาตรฐานสำหรับผู้ใช้ในแต่ละภูมิภาค ก็จะค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นบริษัทที่ไม่ปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคนั่นเอง
ค่าปรับแพงสุดกู่ จนทุกบริษัทต้องทำตาม
สาเหตุที่ปรับต่างๆต้องยอมปรับตัวตามกฎของ EU ในครั้งนี้ก็เพราะว่าค่าปรับที่ตั้งเอาไว้นั้นมีมูลค่าที่สูงลิบลิ่วเลยนั่นเอง โดยค่าปรับสูงสุดหาทำผิดข้อบังคับ คือ ค่าปรับเป็นจำนวน 4% ของรายได้บริษัททั้งหมดจากทั่วโลก หรืออย่างน้อย 20 ล้านเหรียญเลยทีเดียว ซึ่งบริษัทอย่าง Google หรือ Facebook โดนเข้าไปก็อ่วม ส่วนบริษัทเล็กๆก็ตายกันไปเลย
- รายได้ Google ทั่วโลกปี 2017 : 109,650 ล้านเหรียญ หากโดนปรับก็ 4386M USD คิดเป็นเงินไทยก็ แสนกว่าล้านบาท
- รายได้ Facebook ทั่วโลกปี 2017 : 40654 ล้านเหรียญ หากโดนปรับก็ 1626M USD คิดเป็นเงินไทยก็ ราวห้าหมื่นล้านบาท
ทำไมถึงเพิ่งออกมาแจ้งและประกาศเอาตอนนี้
เพราะมันว่าถึงเส้นตายที่ทาง EU ได้กำหนดไว้คือ 25 พ.ค. 2561 ถ้าไม่ทำตามขึ้นมาก็ไปอ่านค่าปรับข้างบนเลยจ้า
จะมีผลกระทบอะไรบ้าง
สำหรับผู้ใช้ทั่วไปอย่างเราๆ ก็จะเป็นอย่างที่เห็นครับ คือมีแจ้งเตือนมา และกด Agree กันให้มันจบๆไป เพราะการตระหนักถึงข้อมูลความเป็นส่วนตัวของประเทศเรายังค่อนข้างที่จะล้าหลังอยู่ ขนาดที่คนระดับผู้บริหารประเทศกล้าออกมาบอกกันว่า “แค่ข้อมูลบัตรประชาชนหลุด” อะไรแบบนั้นแหละ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่มีการทำการค้ากับประเทศในแถบยุโรปก็ควรต้องศึกษากันเพิ่มเติมให้ดีนะครับ เพราะถ้าไปทะเล่อทะล่าทำอะไรผิดกฎของเค้าขึ้นมาบริษัทอาจจะเจ๊งได้ทันทีแบบไม่รู้ตัวครับ
อ้อ เพิ่มเติมสำหรับคนที่หวงข้อมูลส่วนตัวนะครับ ตอนนี้เราจะเริ่มเห็นฟีเจอร์แบบเดียวกับที่ Google ทำเอาไว้ให้นานแล้วอย่าง Checkout ที่เปิดให้เราดาวน์โหลดข้อมูลส่วนตัวของเราทั้งหมดที่ทาง Google เก็บเอาไว้มาดูได้นะครับ และจะมีให้กดลบทิ้งยกเลิกการยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวได้ด้วยเช่นกัน อย่าง Facebook ก็เริ่ม rollout กันไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ยังไงก็ลองไปกดเล่นกันดูได้ครับ
อยากรู้ไหม Facebook เก็บข้อมูลอะไรของคุณเอาไว้บ้าง.. ลองดาวน์โหลดมาดูสิ
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมถ้าใครสนใจเรื่อง GDPR ลองไปอ่านจากเพื่อนบ้านเราได้ครับ ทาง Blognone เค้าได้เขียนเอาไว้ค่อนข้างละเอียดในระดับนึงละครับ “รู้จัก GDPR กฎใหม่คุ้มครองข้อมูลยุโรป ข้อมูลเก็บที่ไหน กฎหมายตามไปคุ้มครองที่นั่น”
ขอบคุณครับ