จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่กว่าที่กลับเข้าที่เข้าทาง ซึ่งเหล่าร้านอาหารก็เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ยอดขายต่อวันหายฮวบไปแบบน่าใจหาย จะมีก็ยอดฝั่ง Delivery สั่งอาหารส่งถึงบ้านที่ยังพอเรียกลูกค้าได้บ้าง แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่ค่อยรู้ก็คือ หลายร้านที่เราสั่งกันผ่านแอป ต่างมีการบวกราคาหรือเรียกค่าคอมตั้งแต่ 0 – 35% ซึ่งทางผู้ประกอบการร้านอาหารได้ออกมาวอนแพลตฟอร์มสั่งอาหารช่วยลดราคาในช่วงนี้

 

โดยเพจที่ออกมาเป็นตัวแทนร้านอาหารต่างๆในการเรียกร้อง ก็คือ “เพื่อนแท้ร้านอาหาร” ที่ได้โพสต์เรียกร้องให้เหล่าแพลตฟอร์ม Food Delivery อย่าง LINE MAN, GrabFood, GetFood, หรือ Food Panda ช่วยพิจารณาปรับลดค่า GP ลงเหลือ 15% เป็นระยะเวลา 3 เดือน จากที่ก่อนหน้ามีการชาร์จสูงถึง 35%

จากมาตรการปิดร้านอาหาร ทำให้แต่ละร้านไม่สามารถรับลูกค้าเข้ามานั่งทานในร้านได้อีกต่อไป และน่าจะส่งผลช่วยให้ธุรกิจส่งอาหารได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย

ค่า GP คือ?

ค่า GP ถ้าตามภาษาที่เหล่าร้านค้าเรียกกันมันก็เป็นเหมือนค่าคอมที่แพลตฟอร์ม Food Delivery เรียกเก็บจากร้านอาหาร ซึ่งมีการเรียกเก็บในเรตที่ไม่เท่ากัน ตามข้อมูลที่เราได้รับมาถ้าร้านดังๆหน่อยก็อาจจะได้เรตที่ต่ำ ส่วนมากจะโดนค่า GP ตรงนี้สูงถึง 35% และข้อตกลงนี้จะต่างกันออกไปตามแต่ละแพลตฟอร์ม โดยค่า GP นี้แต่ละร้านจะมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันออกไป บางร้านเลือกที่จะรับค่า GP ตรงนี้ไปด้วยตัวเอง (กรณีโดนค่า GP ไม่สูงมาก) และบางร้านก็มีการบวกเอาไว้จากราคาหน้าร้านแทน เช่น ราคาขายหน้าร้าน 70 บาท เมื่อประกาศลงแอป ก็จะขึ้นเป็น 100 บาท เมื่อหักค่า GP ไปก็จะเหลือเท่าเดิม ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสำหรับแอปที่ทำค่าส่งถูกๆ และหวังรายได้เพิ่มจากส่วนแบ่งตรงนี้แทน

ไขข้อข้องใจ สั่งอาหาร LINE MAN – Grab Food – GET Food แอปไหนคุ้ม, ใครมีบวกราคา, โปรโมชั่นมาแรงที่สุด?

เราเคยเก็บข้อมูลเมื่อกลางปี 2019 ที่ผ่านมา พบว่า LINE MAN ไม่มีการบวกราคา แต่ราคาค่าส่งก็จะสูงกว่ากว่า Grab ที่จะมีการบวกราคาต่อออเดอร์ไม่น้อยกว่า 10-25 บาท เลยทีเดียว

แพลตฟอร์ม นอนตีพุงได้ค่า GP ไปฟรีๆ?

เป็นความเข้าใจที่หลายคนคิดว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้เค้านอนนับเงินสบายๆ ทำนาบนหลังคน แต่ในความเป็นจริงแล้วค่าบริหารจัดการส่วนนี้ก็ไม่น้อย โดยส่วนนึงก็จะหักเป็นค่าคนขับรถส่งอาหารก่อน และอีกส่วนนึงก็เป็นค่าใช้จ่ายของส่วนออฟฟิศ ทั้งทีมงานดูแลฝั่งลูกค้า และฝั่งร้านอาหาร ทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่คอยพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก รวมถึงทีมบริหารจัดการ และฝ่ายการตลาดที่ต้องจัดโปรโมชั่น และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็ไม่ได้น้อยเลย ยิ่งถ้าตัวแอปไม่ได้รับความนิยม คนใช้ยังไม่มาก โอกาสที่ขาดทุนก็มีอยู่ไม่น้อย

เคยถามคนขับบางรายมีรายได้สูงถึงเดือนละ 40,000 บาท เรียกว่าเปลี่ยนชีวิตเลยก็ว่าได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ไม่อยากออกตัวแทนเหล่าแอป ว่าเค้ากำไรหรือขาดทุนแค่ไหน และหลายร้านที่วันนี้ก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากแพลตฟอร์มส่งอาหารนี้โดยไม่ออกมาบ่นอะไร แต่ก็อยากฝากเอาไว้ว่า ในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งใดก็ตาม มันก็เป็นเรื่องดีที่เราสามารถปันน้ำใจ เอาใจทั้งฝั่งลูกค้าและพาร์ทเนอร์ ประคองทุกฝ่ายให้อยู่กันได้ ฝ่าช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปพร้อมๆกัน ก็น่าจะดีที่สุดครับ