รีวิวมือถือกันไปซะเยอะ วันนี้มาถึงคิวสมาร์ทวอทช์ดีไซน์สวยสเปคครบๆ อย่าง Fitbit Sense กันบ้างดีกว่า โดยส่วนตัวใช้ตัวนี้มาซักพักแล้ว วันนี้เลยจะมาเขียนบทความบอกเล่าถึงประสบการณ์การใช้งานให้ผู้อ่านได้ลองอ่านไว้ประกอบการตัดสินใจก่อนจะซื้อมาใช้งาน

ดีไซน์การออกแบบ

หน้าตาของ Fitbit Sense แทบจะเหมือนกับ Fitbit Versa 2 ที่ผมเคยรีวิวไปเมื่อก่อนหน้าแบบเป๊ะๆ 100% เลย วัสดุงานประกอบต่างๆ ยังคงไว้แบบเดิมเหมือนรุ่นก่อน แต่รอบนี้เหมือนว่าทาง Fitbit จะอัปเกรดสเปคด้านในมาให้แบบแทบจะยกเครื่อง

ฝั่งซ้ายมือของตัวเครื่อง Fitbit Sense จะมีปุ่ม Home เอาไว้ 1 อัน สำหรับกดใช้งาน ป้อนคำสั่งต่างๆ ให้กับตัวนาฬิกา กดครั้งเดียวจะเป็นการกลับไปหน้า Home และกดค้างจะเป็นการเรียกผู้ช่วยอัจฉริยะขึ้นมา

หน้าจอของ Fitbit Sense จะยังคงใช้แบบสี่เหลี่ยมเหมือนเดิม แสดงผลชัดเจน แต่ข้อสังเกตก็คือขอบจอทั้ง 4 ด้านค่อนข้างหนาเอาเรื่องอยู่

สเปค Fitbit Sense

  • หน้าจอ AMOLED ขนาด 1.58 นิ้ว ความละเอียด 336 x 336 พิกเซล
  • หน่วยความจำ (ROM) 4GB
  • เซ็นเซอร์
    • Sense: Electrical sensors compatible with ECG & EDA app
    • Sense: Skin temperature sensor
    • Versa 3: Device temperature sensor
    • Optical heart rate sensor
    • Built-in GPS + GLONASS
    • Gyroscope
    • Altimeter
    • 3-axis accelerometer
    • Ambient light sensor
    • Wi-Fi (802.11b/g/n 2.4GHz)
    • NFC
    • Vibration motor
    • Speaker
    • Microphone
  • มาตรฐานกันน้ำ 5ATM ลึก 50 เมตร
  • ใช้งานได้กับทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS

หน้าจอแสดงผล

Fitbit Sense จะเลือกใช้หน้าจอ AMOLED ขนาด 1.58 นิ้ว ความละเอียด 336 x 336 พิกเซล ครอบทับด้วยกระจกนิรภัย Gorilla Glass 3 จาก Corning สามารถทนต่อแรงขีดข่วนและแรงกระแทกได้ดีในระดับหนึ่ง โดยในส่วนนี้ Fitbit เคลมว่า Fitbit Sense ดันความสว่างได้สูงสุดถึง 1,000 nits 

โดย Fitbit Sense สามารถเลือกปรับความสว่างได้ 3 ระดับ ได้แก่ Dim (สลัว), Normal (ปกติ) และ Max (สว่าง)  ซึ่งจากที่ทดลองใช้งานมา ก็พบว่าระดับ Normal ก็ใช้งานสบายๆ เหลือๆ แล้วล่ะ

แน่นอนว่า Fitbit Sense ก็มาพร้อมกับฟีเจอร์ Screen Wake (หรือ Raise to Wake) เหมือนกัน คือฟีเจอร์นี้จะเป็นประโยชน์มากๆ เพราะเราไม่ต้องเอานิ้วไปแตะหน้าจอเพื่อให้หน้าจอแสดงผลขึ้นมาเลย พอเปิดใช้งานฟีเจอร์นี้ปุ๊บ เพียงแค่พลิกข้อมือขึ้นมา จอก็ติดแล้ว

มีฟีเจอร์ Always-On Display ให้หน้าจอของ Fitbit Sense ติดไว้ตลอดเวลา แต่จะบอกว่าพอเปิด AOD เอาไว้ แบตก็หมดค่อนข้างไวพอสมควรเลย

การใช้งานทั่วไป

Fitbit Sense ถือว่าเอามาใช้งานทั่วไปได้แบบเหลือๆ โดยหลักๆ การป้อนคำสั่งต่างๆ จะทำได้ด้วยการปัดหน้าจอ

  • ปัดไปทางซ้าย : หน้าตั้งค่า
  • ปัดไปทางขวา : หน้าเมนู
  • ปัดลง : ดูการแจ้งเตือน
  • ปัดขึ้น : ดูข้อมูลจิปาถะ

ตัวนาฬิกาจะให้หน่วยความจำมาทั้งหมด 4GB สำหรับเอาไว้เก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่ง Fitbit Sense สามารถติดตั้งแอปต่างๆ ได้ด้วย อันนี้ผมติดตั้งแอป Spotify เข้าไป เอาไว้ฟังเพลง เปลี่ยนเพลงจากข้อมือได้เลย ไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมา

แต่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถฟังเพลงจาก Spotify ผ่านจาก Fitbit Sense ได้โดยตรงเลย คือเหมือนแค่ตัวนาฬิกาจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเฉยๆ ทั้งๆ ที่ Fitbit Sense ก็มีลำโพงใส่มาให้แท้ๆ

แถมปรับเพิ่ม-ลดเสียงจาก Fitbit Sense ไม่ได้อีกด้วย ทำได้เพียงแค่เปลี่ยนเพลง เซฟเพลง เท่านั้น

นอกจาก Spotify แล้ว เรายังสามารถติดตั้งแอปอื่นๆ ใส่ไว้ใน Fitbit Sense เพิ่มเติมได้อีกเพียบ ผ่านแอป Fitbit Mobile

รองรับการแสดงผลภาษาไทยหรือยัง

ปัญหาการแสดงผลหน้าแจ้งเตือนเป็นภาษาไทย เหมือนว่าจะเป็นปัญหาของสมาร์ทวอทช์หรือฟิตเนสแบนด์จาก Fitbit มาโดยตลอด ซึ่งในรุ่นนี้ ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ Fitbit Sense ยังไม่สามารถแสดงผลการแจ้งเตือนเป็นภาษาไทยได้

ขึ้นเป็นภาษาต่างด้าว

ฟีเจอร์ตรวจจับการนอน

Sleep Tracking ถือเป็นจุดขายของ Fitbit เลยก็ว่าได้ ให้ข้อมูลเชิงลึกมาแบบครบๆ ไม่ว่าจะเป็น Light Sleep เท่าไหร่ Deep Sleep มีเยอะไหม ฯลฯ พร้อมกับมีการให้คะแนนจาก 1 – 100 แต้ม ว่าคืนนี้การนอนของเรามีประสิทธิภาพไปในทิศทางไหน

มีบอกด้วยนะว่าคืนนั้นเรานอนไปตอนไหน และตื่นมาตอนไหน แต่จากประสบการณ์ที่ใช้มาร่วมเดือน ส่วนตัวคิดว่าการวัดการนอนของ Fitbit Sense ไม่ค่อยตรงกับความรู้สึกของผมซักเท่าไหร่ บางวันบอกว่าผมมี Deep Sleep ชั่วโมงนิดๆ และให้คะแนนมา 78 แต้ม ซึ่งตามเกณฑ์จัดว่าค่อนข้างโอเค แต่ตัวผมเองกลับมาว่าคืนนั้นผมไม่ได้นอนเต็มอิ่มซักเท่าไหร่ แถมตื่นมาก็รู้สึกงัวเงียๆ ไปตลอดทั้งวันด้วย

อย่างไรก็ดี คนรอบข้างที่ใช้ Fitbit กลับบอกว่า ข้อมูลการนอนของเราค่อนข้างจะตรงอยู่พอสมควร ทำให้ในส่วนนี้คิดว่าน่าจะแล้วแต่คนจริงๆ

เซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ

Fitbit Sense สามารถสั่งงานให้เซ็นเซอร์ Heart Rate ทำงานแบบตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจเราแบบ Real-Time ไปเลยว่า ณ ตอนนั้น หัวใจเต้นแรงไหม มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ฯลฯ

ซึ่งส่วนนี้เราสามารถเข้ามาเช็คในแอป Fitbit ได้อีกทีว่า วันนี้ค่าเฉลี่ย HR ของเราอยู่ที่เท่าไหน จุด Peak ขึ้นไปสูงสุดที่ BPM หรือต่ำสุดเท่าไหร่

ฟีเจอร์ออกกำลังกาย

Fitbit Sense มีตัวเลือกฟีเจอร์ออกกำลังกายแบบเยอะมากๆ ครอบคลุมแทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่เดิน วิ่ง คาร์ดิโอ ไปจนถึงการว่ายน้ำ แถมสมาร์ทวอทช์รุ่นนี้ยังมี GPS มาให้ในตัวอีกด้วย

ส่วนตัวเป็นคนชอบเดินมากๆ ซึ่งเจ้า Fitbit Sense ก็มักจะเก็บ Log ข้อมูลเอาไว้ให้อัตโนมัติ ว่า Sessions การเดินเมื่อกี้นานแค่ไหน เบิร์นแคลไปเท่าไหร่ ฯลฯ

มาตรฐานกันน้ำ

Fitbit Sense มากับมาตรฐานกันน้ำแบบ 5ATM หรือพูดง่ายๆ ก็คือกันน้ำลึก 50 เมตรนั่นเอง ใส่ออกกำลังกายหนักๆ ได้แบบสบาย รวมไปถึงจะใส่อาบน้ำก็ยังได้ (แต่แนะนำให้ถอดออกมาล้างทำความสะอาดบ้าง)

แบตเตอรี่

หัวข้อนี้ถือว่าเหนือความคาดหมายแบบสุดๆ เพราะตอนแรกคิดว่า Fitbit Sense จะใช้งานได้แค่แบบ 2 – 3 วัน ต้องชาร์จแบตแล้วเหมือนกับสมาร์ทวอทช์ส่วนมากในตลาด แต่ที่ไหนได้ เจ้า Fitbit Sense สามารถลากยาวไปถึง 1 อาทิตย์เต็มๆ แถมเวลาแบตใกล้จะหมด ก็จะมีอีเมลส่งมาแจ้งเตือนด้วย

Fitbit Sense จะใช้เวลาชาร์จแบต 0 – 80% ประมาณ 30 – 40 นาทีไม่เกินนี้ ส่วนถ้าจะเอาให้เต็ม 100% เลย ตรงนี้จะใช้เวลาประมาณชั่วโมงนิดๆ ครับ

สรุป Fitbit Sense น่าใช้ไหม

จากที่ใช้งานมาเป็นเวลาร่วมๆ เดือน ส่วนตัวมองว่า Fitbit Sense เป็นอีกหนึ่งสมาร์ทวอทช์ที่น่าใช้พอตัวเลยล่ะ แม้ว่าจะมีราคาค่าตัวที่ค่อนข้างจะสูง 11,990 บาท (ซื้อออนไลน์น่าจะได้ราคาดีกว่านี้) แต่ฟีเจอร์และคุณภาพงานประกอบที่ได้จาก Fitbit Sense ถือว่าไม่เป็นสองรองใครเลยจริงๆ