OnePlus Buds Pro หูฟังไร้สายระดับไฮเอนด์รุ่นแรกของบริษัทฯ มีคิววางขายในประเทศไทนในวันที่ 10 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งนั่นก็แปลว่าเหลืออีกไม่กี่วันแล้ว โดยต้องบอกว่าตัวหูฟังนี้ได้มาถึงมือทีมงาน DroidSans สักพักแล้ว วันนี้ผมจะมาเขียนเล่าประสบการณ์การใช้งานทั่วไปให้ฟังกันครับว่าเป็นไงบ้าง เวิร์คไหม ฟังเพลงแนวไหนได้บ้าง เอาเล่นเกมไหวไหม รวมถึงระบบตัดเสียงที่เขาว่าดีนักดีหนา จริงหรือเปล่า? มาหาคำตอบได้ในบทความนี้ครับ

ดีไซน์การออกแบบและความสบายในการสวมใส่

รอบนี้ OnePlus Buds Pro ที่ผมได้มาทดลองใช้งานมาเป็นแบบสีดำด้าน Matte Black สวย ๆ หล่อ ๆ ดีไซน์ครั้งนี้ถือว่าให้สิบเต็มสิบไม่มีหัก ออกแบบมาสวยงามมาก โดยนอกจากสีดำแล้ว หูฟังรุ่นนี้จะยังมีสีขาว Glossy White ให้เลือกอีกด้วย

ตัวหูฟังแอบเป็นรอยนิ้วมือง่ายไปนิดนึง 

ขนาดเคสพอดีมือ ใส่กระเป๋ากางเกงยีนส์ได้สบาย ๆ 

ในเรื่องของการสวมใส่ OnePlus Buds Pro เป็นหนึ่งในหูฟัง In-Ear ที่ใส่แล้วไม่รู้สึกว่าเจ็บหู ใส่ได้เรื่อย ๆ ใส่นอนฟังเพลง ฟังเรื่องผี ฯลฯ ก่อนนอนแล้วหลับไปพร้อม ๆ กับมันยังได้ โดยภายในกล่องจะมีไซส์จุกหูฟังให้เลือกตั้งแต่ใส่ S ไปจนถึง L ส่วนตัวเหมาะกับไซส์ M แบบ Default พอดี เลยแกะจากกล่องมาแล้วใส่ใช้งานได้เลย ไม่ต้องเปลี่ยน

พอร์ตชาร์จ USB-C รองรับการชาร์จแบบไร้สาย 

สเปค OnePlus Buds Pro

  • Dynamic Driver ขนาด 11 มม.
  • Frequency Response 20 – 20,000 Hz
  • Noise Cancellation
    • Smart Adaptive Noise Cancellation
    • Transparency Mode
  • Bluetooth 5.2
  • รองรับ SBC, AAC และ LHDC3
  • มาตรฐานทนน้ำทนฝุ่น IP55 (ตัวเคสรองรับ IPX4)
  • แบตข้างละ 40 mAh ตัวเคสความจุ 520 mAh
  • ชาร์จไวผ่าน USB-C และแบบไร้สายมาตรฐาน Qi
  • สีให้เลือก : สีดำ Matte Black และ สีขาว Glossy White
  • น้ำหนักหูฟังข้างละ 4.35 กรัม และเคสหนัก 52 กรัม

คุณภาพเสียง

OnePlus Buds Pro เป็นอีกหนึ่งหูฟังไร้สายที่สามารถเอามาฟังเพลงได้ทุกแนว เด่นย่านต่ำและย่านกลาง เบสค่อนข้างเน้น (แต่ไม่บวม) แต่ Sound Stage หรือเวทีเสียงแอบแคบไปนิดนึง เมื่อเทียบกับหูฟังรุ่นอื่น ๆ ในราคาใกล้เคียงกัน (ความคิดเห็นส่วนตัว) ส่วนเรื่อง Sound Isolation นี่บอกเลยว่าสุดยอด ด้วยความที่ OnePlus Buds Pro เป็นหูฟังแบบ In-Ear ด้วยแหละ ยิ่งถ้าปรับระดับ Noise Cancellation แบบ Max นะ แทบไม่ได้ยินเสียงด้านนอก ตัดเสียง White Noise อย่างเสียงแอร์หรือพัดลมออกไปได้เกือบหมด

ไม่ได้พูดถึงย่านสูงของ OnePlus Buds Pro นี่ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่ดีนะ คือมันโอเคดีเลยล่ะ ใช้ได้ เพียงแต่ว่าย่านต่ำกับกลางมันเด่นกว่าเท่านั้นเองยังสามารถเอาไปฟังเพลงหรือเครื่องดนตรีเสียงสูง ๆ ได้สนุกอยู่

การควบคุมการใช้งานจะมาเป็นแบบ บีบ บริเวณปลายตัวหูฟัง

  • บีบหนึ่งครั้ง = หยุดเพลง
  • บีบสองครั้ง = เลื่อนไปเพลงต่อไป
  • บีบสามครั้ง = ย้อนไปเพลงก่อน
  • บีบค้างไว้ = สลับจาก Noise Cancellation เป็น Transparency Mode

ระบบตัดเสียง

เมื่อกี้พูดถึงเรื่อง Noise Cancellation ของ OnePlus Buds Pro ไปนิดนึงแล้ว มาขยายความกันตรงนี้เลยดีกว่า โดยใครที่ใช้สมาร์ทโฟน OnePlus อยู่แล้ว สามารถไปปรับการใช้งานได้ที่หน้า Bluetooth เลย มีทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่

  • Noise Cancellation (ตัดเสียงรบกวนภายนอกได้ 15 เดซิเบล)
  • Smart (ตัดเสียงรบกวนภายนอกได้ 15 – 40 เดซิเบล แล้วแต่สถานการณ์)
  • Max Noise Cancellation (ตัดเสียงรบกวนภายนอกได้ 40 เดซิเบล)

ซึ่งบอกเลยว่าตัว Max สุดจริงมาก ซึ่งทางบริษัทฯ เคลมว่า กรองเสียงออกไปได้มากถึง 40 เดซิเบล บวกกับความเป็น In-Ear ของตัวหูฟังด้วย บอกเลยว่าไม่ต้องเปิดเพลง ก็ใส่นั่งในร้านกาแฟ ทำงานมีสมาธิได้ (แต่สำหรับบางคนอาจจะต้องเปิดเพลงคลอ ๆ หน่อยนะ คือมันยังมีเสียงภายนอกเล็ดรอดเข้ามาอยู่)

HeyMelody
HeyMelody
Developer: HeyTap
Price: Free

แต่ถ้าไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนยี่ห้อ OnePlus ให้ดาวน์โหลดแอป HeyMelody มา จะได้สามารถปรับแต่งเสียงของหูฟัง OnePlus Buds Pro ได้แบบเดียวกับใช้มือถือจากวันพลัสเลย

แถมการใส่นั่งวินมอเตอร์ไซต์ อันนี้เสียงลมเล็ดรอดเข้ามาน้อยมาก ๆ แทบจะไม่มีเลยพูดแบบนี้ดีกว่า ต้องยกเครดิตให้กับทีม R&D ของ OnePlus ที่ออกแบบจุก In-Ear ออกมาได้ดีเยี่ยม ทำให้ Sound Isolation ทำงานได้ดี รวมถึงระบบ Noise Cancellation (ปรับสุด) ก็มีส่วนสำคัญอีกด้วย

มี Zen Mode Air เปิดเสียง White Noise เพิ่มสมาธิด้วย วิธีเปิดใช้งานคือบีบปลายหูฟังค้างเอาไว้ 3 วินาที 

การดูหนังและเล่นเกม

OnePlus Buds Pro มากับมาตรฐาน Bluetooth 5.2 และค่าความหน่วงที่ต่ำสุด 94 มิลลิวินาที ทำให้หายห่วงเลยเรื่องภาพกับเสียงไม่ตรงกัน จากที่ทดลองดูหนังบน Netflix ก็พบว่าดูได้เพลิน ๆ ไม่มีปัญหาอะไรแต่อย่างใด รวมถึงการเล่นเกม (ทดสอบกับ PUBG) เสียงยิงปืน เสียงฝีเท้าอะไรแบบนี้ ก็เล่นได้ปกติ ไม่มีการทำงานผิดพลาด หรือ Sync ภาพและเสียงไม่ตรงกัน เหมือนกับหูฟังไร้สายในช่วงแรก ๆ

ความทนทาน

OnePlus Buds Pro ผ่านมาตรฐานทนน้ำทนฝุ่นระดับ IP55 ซึ่งถือว่าเหมาะกับช่วงหน้าฝนพายุเข้าแบบนี้มาก ๆ ส่วนตัวใส่ตากฝนนิดหน่อย ตัวหูฟังไม่มีปัญหานะ สามารถใช้งานต่อได้สะดวก ใส่เข้ายิม หรือแม้กระทั่งล้างน้ำทำความสะอาด (จากประสบการณ์ส่วนตัว ไม่แนะนำให้ทำตาม เอาแค่ผ้าชุบน้ำพอแล้ว ฮ่าๆ)

นอกจากตัวหูฟังแล้ว ตัวเคสของ OnePlus Buds Pro ก็แข็งแกร่งไม่แพ้กันเลยนะ ผ่านมาตรฐาน IP เหมือนกัน แม้ว่าจะไม่ใช่ IP55 แต่สำหรับตัวเคสแล้ว มาตรฐาน IPX4 ถือว่าโอเคไม่แพ้กันเลยล่ะ สำหรับใครที่ซุ่มซ่ามเผลอทำหล่นฟุตบาทที่มีน้ำขังอะไรแบบนี้ เปอร์เซ็นต์ในการรอดชีวิตมีสูงมาก ๆ

แบตเตอรี่

OnePlus เคลมว่า Buds Pro สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องสำหรับการชาร์จเต็ม 100% หนึ่งรอบได้ 5 – 7 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับว่าเปิดหรือปิด ANC) แต่จากที่ลองใช้งานมา พบว่าพอฟังแตะหลัก 4 ชั่วโมง แบตก็เริ่มหมดแล้ว ตรงนี้คาดว่าน่าจะเป็นเพราะส่วนตัวเป็นคนฟังเพลง (หรือดูหนัง) เสียงดังด้วย บวกกับเปิด ANC แบบ Max เอาไว้ตลอดเวลา

ใช้งานหนัก ๆ มาหนึ่งสัปดาห์เต็ม แบตของตัวเคสยังเหลือ 20% 

แต่ถึงอย่างไร ตัวเคสของ OnePlus Buds Pro ก็มีแบตในตัวเยอะถึง 520 mAh สามารถชาร์จไฟเข้ากลับให้ตัวหูฟังได้อีก ทำให้ฟังได้รวม ๆ 28 – 38 ชั่วโมง

สรุปการใช้งาน

หลังจากใช้งานมาหนึ่งสัปดาห์เต็ม ๆ ต้องบอกว่า OnePlus Buds Pro ถือเป็นอีกหนึ่งหูฟังที่คุณภาพเสียงใช้ได้ ค่อนไปทางดี แถมระบบตัดเสียง Noise Cancellation ก็อยู่ในเกณฑ์ท็อป ๆ ของตลาดหูฟัง รวมถึงการออกแบบดีไซน์ต่าง ๆ ก็ทำออกมาได้พรีเมียมแบบสุด ๆ โดยราคาค่าตัวของเจ้า OnePlus Buds Pro เคาะมาที่ 4,999 บาท เรียกว่าจ่าย 5,000 บาทไป มีเงินทอน 1 บาท เอามาชั่งน้ำหนักอีกว่าช่วง WFH นี้น้ำหนักขึ้นหรือลด ฮ่า ๆ

โดยเทียบกับเจ้าอื่นที่ราคาใกล้เคียงกันแล้ว ผมมองว่า OnePlus Buds Pro มีศักยภาพมากพอที่จะไปสู้กับรุ่นนั้น ๆ ได้แบบพอฟัดพอเหวี่ยง เผลอ ๆ กับบางตัวอาจจะชนะด้วย บอกได้เลยว่าเพื่อน ๆ คนไหนซื้อ OnePlus Buds Pro ไปใช้งาน ไม่มีผิดหวังแน่ ๆ เหมาะกับแทบจะทุกแนวเพลง ทุก Lifestyle จริง ๆ