หลังจากที่พาชมบรรยากาศใน Keynote และห้อง Session ภายในงาน Google I/O 2016 แล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาพาเดินดูในแต่ละโซนกันบ้างว่ามันอะไรมาโชว์ภายในงาน และมีอะไรน่าสนใจบ้าง (ถึงแม้จะไม่ได้ Gadget ติดมือกลับบ้านก็ตาม ฮืออออออ)
บทความทั้งหมดสำหรับงาน Google I/O 2016
ทัวร์ฟรีกับ Droidsans : งาน Google I/O 2016 ตอนที่ 1 Keynote และสถานที่ภายในงาน
ทัวร์ฟรีกับ Droidsans : งาน Google I/O 2016 ตอนที่ 2 เที่ยวชมสิ่งที่น่าสนใจในงาน
ทัวร์ฟรีกับ Droidsans : งาน Google I/O 2016 ตอนที่ 3 ปาร์ตี้ยามค่ำคืน
เพื่อให้ได้ความรู้สึกเหมือนไปเดินงานจริงๆ ผมเลยทำตำแหน่งบนแผนที่ภายในงานไว้ให้ด้วย จะได้รู้ว่าในแต่ละภาพคือจุดไหนของงานนี้
จุดแรกหลังจากเดินออกมาจาก Keynote ที่ทุกๆคนจะต้องเห็นกันคือเจ้าหุ่นยนต์แขนกลที่ให้เราควบคุมด้วยมือถือได้ โดยจะมีก้อนลูกบาศก์ใหญ่ๆให้เราสามารถหมุนเลือกมุมของลูกบาศก์ตามที่ต้องการได้ จากนั้นก็เลือกสีที่ต้องการ จากนั้นเจ้าแขนกลก็จะไปหยิบแปรงสีของสีนั้นๆขึ้นมา แล้วรอเราสะบัดมือถือ มันก็จะสะบัดแปรงสีให้สีกระเด็นไปโดนลูกบาศก์นั่นเอง
และใกล้ๆกันจะมีห้อง Google Play Music อยู่ด้วยซึ่งข้างในเป็นห้องแสดงเกี่ยวกับเสียงดนตรี แต่ไม่ได้ถ่ายไว้เลยขอข้ามไปละกันนะครับ = =
พอเดินเข้ามาในพื้นที่งานก็จะเจอกับ Project Loon อย่างเด่นชัด ซึ่งเป็นโปรเจคที่ทาง Google อยากจะให้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงบริเวณที่เดิมทีสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็เลยจะใช้บอลลูนเป็นตัวช่วยส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตนั่นเอง ซึ่งในงานนี้เค้าก็เอามาโชว์ให้ดูกันว่ามันมีหน้าตาเป็นยังไง และมีทีมงานคอยให้ตอบคำถาม
และที่อยู่ข้างๆกับ Project Loon จะเป็นพื้นที่ของ Android Experiment และ Android Pro Audio
ซึ่ง Android Experiment เป็นโปรเจคของทาง Google ที่ให้นักพัฒนาแอนดรอยด์สามารถส่งโปรเจคไอเดียเจ๋งๆเข้ามาแสดงในหน้าเว็ป ซึ่งทีมงานได้คัดเลือกผลงานที่น่าสนใจบางส่วนมาจัดแสดงให้ได้ดูกันในงานนี้ครับ
IOIO Plotter เป็นโปรเจคที่จะให้หุ่นยนต์วาดลายเส้นเป็นรูปที่ถ่ายด้วยกล้องจากแอนดรอยด์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่ได้รับความสนใจมาก โดยทีมงานจะแปะกระดาษไว้แล้วให้ผู้เข้าร่วมงานมาถ่ายรูปแล้วให้หุ่นยนต์ทำการวาดรูปให้
AR Music Kit โปรเจคที่ใช้ AR ในการเล่นเสียงดนตรี เมื่อกล้องจับภาพกระดาษที่มีโน๊ตต่างๆอยู่บนกระดาษได้ แล้วเอามือไปบังกระดาษมันก็จะเล่นเสียงตามโน๊ตตัวนั้นๆ
อันนี้ไม่รู้ชื่อโปรเจคแฮะ ใช้กล้องในการจับใบหน้าของเรา แล้วแสดงสีหน้าเป็นแบบตัวการ์ตูนที่จอด้านหลัง ไม่ว่าจะหลับตา อ้าปาก หรือยิ้มก็ตาม
ส่วน Android Pro Audio ก็เป็นการใช้งานอุปกรณ์แอนดรอยด์กับอุปกรณ์ดนตรีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมหรือการใช้งานทางด้านเสียงดนตรีแบบจริงๆจังๆ ก็มีให้ได้ทดลองแทบทั้งหมดเลย
Play Together เป็นการเอาอุปกรณ์แอนดรอยด์มาแสดงเป็นเครื่องดนตรีแต่ละตัวแล้วมาเล่นเป็นดนตรีร่วมกัน
ใกล้ๆกันนั้นจะเป็นจุดตั้งโลโก้ I/O ขนาดใหญ่ ซึ่งปีนี้ทำออกมาได้น่าสนใจดี และกลายเป็น Landmark สำหรับถ่ายรูปของคนส่วนใหญ่ไปเลยล่ะ
เมื่อเดินมาข้างๆ Stage 1 ก็จะเจอกับ Nest และ Android Wear
โดย Nest ก็จะแสดงสินค้าต่างๆของ Nest และที่ทำงานร่วมกับ Nest ได้ และมี OpenThread ซึ่งเป็นโปรเจคที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพื่อใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆของ Nest ได้
ส่วน Android Wear นั้นจะไม่มีอะไรมากนัก เป็นการโชว์ Android Wear ซะมากกว่า ให้ได้ลองเล่น ได้เรียนรู้ความสามารถของ Android Wear
และในโซนนี้จะเป็นจุดชาร์จแบตด้วย โดยจะมีรางปลั๊กไฟให้เสียบปลั๊กเพื่อชาร์จคอมชาร์จมือถือกัน
ข้างๆกันจะเป็น Access & Empathy ซึ่งเป็นการแสดงเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Google ไปใช้งานในปัจจุบัน ตรงนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจมากจึงขอข้ามไปอย่างรวดเร็วนะครับ
เดินมานิดหน่อยก็จะเจอกับโซน Google Play และ Android Studio ซึ่งจะโฟกัสไปที่ Android Studio 2.2 ที่เปิดตัวไปใน Keynote รวมไปถึง Android Instant Apps และ Developer Console ที่มีทีมงาน Google ให้ปรึกษาและถามตอบในแต่ละเรื่องเลย
และใกล้ๆกันก็จะมีรูปปั้นแอนดรอยด์สีขาวถือป้ายที่มีข้อความว่า “What would you #NameAndroidN?” เพื่อให้ทุกๆคนสามารถเขียนบนรูปปั้นตัวนี้เพื่อเสนอไอเดียชื่อของ Android N
จริงๆเดินไปอีกหน่อยจะมี Android Auto ที่ติดตั้งอยู่บนรถให้ลองใช้งานกันครับ แต่ไม่ได้แวะไปเพราะมันก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ๆนอกไปจากได้ลองเล่น Android Auto ก็เลยขอข้ามไปนะครับ
พอเดินข้ามมาอีกฝั่งก็จะเจอกับโซน Official Hours กับ Ask a Dev ครับ ซึ่งมีไว้สำหรับนักพัฒนาที่อยากได้รับคำแนะนำจากทีม Google แบบตัวต่อตัว ใช่ครับ พูดคุยกันแบบตัวต่อตัวเลย มีปัญหาอะไรอยากจะถาม มี Feedback อะไรอยากจะแจ้ง หรืออยากจะได้คำแนะนำอะไรก็สามารถคุยกับทีมของ Google ได้โดยตรง โดยโซนนี้จะมีการเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อยๆที่เป็นหัวข้อเกี่ยวกับ Product ของ Google
และยังมี Big Idea Wall ให้นักพัฒนาสามารถแชร์ไอเดียในหัวข้อต่างๆได้ โดยแผ่นที่แปะอยู่บนกระดานนั้นจะมี NFC ติดอยู่ เพื่อในคนอื่นๆสามารถใช้อุปกรณ์แอนดรอยด์แตะอ่านข้อมูล ซึ่งจะใช้ร่วมกับแอพ Spaces ที่ทาง Google เปิดตัวไปไม่กี่วันก่อนงานจะเรื่มครับ ซึ่งแต่ละหัวข้อที่แปะอยู่บนนี้จะก็แยกเป็นกลุ่มๆอยู่ใน Spaces ดังนั้นใครสนใจไอเดียไหนก็จะให้แตะ NFC เพื่อเข้าร่วมห้องในแอพ Spaces ครับ
เดินเข้าไปด้านในของงานอีกหน่อยจะเป็นโซน Google Cloud Platform ซึ่งเป็นบริการของทาง Google ที่น่าจะคุ้นเคยกันอยู่แล้วไม่ว่าจะ BigQuery, Cloud Test Lab หรือ App Engine ซึ่งไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่มากนัก ดังนั้นจึงขอข้ามไปอย่างไวเช่นกัน
ส่วนข้างๆกันนั้นจะเป็นโซน Firebase ซึ่งล่าสุดถูกพูดถึงใน Keynote เพราะ Firebase นั้นถูกยกเครื่องใหม่ทั้งหมด กลายเป็นว่า Firebase เป็นบริการครบวงจรที่เป็นช่วยนักพัฒนาแอพในการจัดการเกี่ยวกับการทำงานหลังบ้าน
อย่างเช่นการเอา Firebase มาช่วยในการส่งข้อมูลขึ้นเซิฟเวอร์แบบ Realtime โดยแสดงออกมาในรูปของโต๊ะบอลที่สามารถนับคะแนนจากการเล่นแล้วส่งข้อมูลขึ้นเซิฟเวอร์เพื่อเก็บไปทำเป็น Ranking ได้
และโซนนี้ก็เน้นไปที่การให้คำแนะนำและคอยตอบคำถามแก่เหล่านักพัฒนานั่นแหละ เพราะ Firebase (ตัวใหม่) นั้นพึ่งเปิดตัวใน Keynote จึงทำให้นักพัฒนาหลายๆคนยังมีข้อสงสัยอยู่มากพอสมควร แต่ก็รู้สึกว่าทีมงาน Firebase จะมีเยอะกว่าโซนอื่นๆอย่างเห็นได้ชัดนะ (ใส่เสื้อสีเหลือง)
เดินลึกเข้าไปข้างในจะเป็น Geo ซึ่งเป็นเรื่องของ Google Maps น่ะแหละ ซึ่งมาพร้อมกับรถบัส Code the Road ซึ่งไม่ได้แปลกใหม่อะไรเช่นกัน แต่ที่แปลกใจก็คงจะเป็นเคสสำหรับ Nexus ที่สามารถสั่ง Customize ลายโดยใช้แผนที่จาก Google Maps ได้ (ไม่ได้ถ่ายไว้ชัดๆ แต่อยู่ตรงมุมซ้ายมือของภาพข้างล่าง)
เดินขึ้นมาทางด้านหน้างานก็จะเป็นโซน Search, AMP และ Mobile Web ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับเว็ปครับ ไม่ว่าจะเป็นการทำ App Indexing หรือ Accelerated Mobile Pages ที่แข่งกับ Instant Articles ของ Facebook
Device Wall ที่แสดงในปีที่แล้วก็มาโชว์อยู่ เวลาที่กดดูหน้าเว็ปในเครื่องใดเครื่องหนึ่ง เครื่องอื่นๆก็เปลี่ยนไปเป็นหน้านั้นๆตาม ซึ่งหลังบ้านใช้ Firebase ในการส่งข้อมูลให้อุปกรณ์ทุกตัว
Music Lab (เอ..ทำไมไม่อยู่ใน Android Pro Audio กันนะ)
โซนใกล้ๆกันจะเป็น Developing For Kids ซึ่งเป็นแอพต่างๆที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับให้เด็กหัดเขียนโปรแกรมกันนั่นเอง ซึ่งจะเน้นไปในเรื่องของการให้เด็กหัดเขียนโปรแกรมอย่างง่ายๆ
โปรเจคนี้ผมลืมชื่อ แต่น่าสนใจดี คือหุ่นยนต์จะเป็นตุ๊กตาน่ารัก (มั้ง) โดยให้เด็กสามารถเขียนโปรแกรมสั่งงานเพื่อควบคุมผ่านบลูทูธได้ ซึ่งการเขียนโปรแกรมก็จะเป็นบล็อคให้เด็กลากมาต่อกันเป็นโปรแกรมน่ะแหละ แต่ที่น่าสนใจหรือรูปแบบการเขียนมากกว่า เพราะจริงๆแล้วแอพหรือโปรแกรมแนวๆนี้ก็มีเยอะอยู่แล้ว
ซึ่งตัวแอพนี้ทำให้เด็กสามารถเขียนรับค่าจากไมค์หรืออื่นๆบนแอนดรอยด์ได้อย่างอิสระ เพียงแค่ลากบล็อคที่ต้องการมาวางต่อกันนั่นเอง
แล้วก็มีตัวอย่างการใช้ Scratch ในการสอนให้เด็กหัดเขียนโปรแกรม
เมื่อเดินมาที่หน้าทางเข้างาน จะเป็นโซน Codelabs ที่จะให้ผู้เข้างานสามารถมาลองเขียนโค้ดในหัวข้อต่างๆกันได้ ไม่ว่าจะเป็น Cardboard, Web Bluetooth หรือแม้แต่การเขียนโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อกับ Nest โดยมีทีม Google คอยดูแลครับ
ซึ่งจะมีอุปกรณ์เตรียมไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ที่ต้องทำคือแค่นั่งหน้าคอม เปิดเว็ปขึ้นมาแล้วจะเจอกับ Instruction อธิบายทีละขั้นตอนให้เราทำตามกันได้เลย
ซึ่งด้านหน้าทางเข้า Codelabs จะมีร้านค้าขายของภายในงานอยู่สองฝั่งด้วยกัน ซึ่งจ่ายด้วยเงินสดไม่ได้เช่นเคย ต้องรูดบัตรหรือจ่ายผ่าน Android Pay เท่านั้น
ฝั่งหนึ่งจะขายพวกเสื้อ ถุงผ้า และตุ๊กตาแอนดรอยด์สำหรับงาน I/O 2016 ซึ่งราคาก็จะอยู่ระหว่าง $15-$45 (แพงเอาเรื่องเหมือนกัน)
ส่วนอีกฝั่งหนึ่งก็จะขายเสื้อเหมือนกันน่ะแหละ แต่จะเป็นเสื้อที่สกรีนให้แบบสดใหม่ ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพื่ออะไร เพราะมันค่อนข้างเสียเวลามากพอสมควร
สำหรับอาหารและขนมนั้นมีให้ไม่ค่อยเพียงพอซักเท่าไร หมดบ่อยมาก เนื่องจากคนเยอะเกินและแต่ละจุดอยู่ไกลพอสมควร แต่ก็ไม่ได้ถึงกับไม่มีให้กินครับ แค่ต้องรอพนักงานเค้ามาเติมหน่อย ซึ่งปีนี้กระติกน้ำที่ให้มาถือว่าใช้ประโยชน์ได้มากเลย เพราะปีที่แล้วได้มาเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้เนื่องจากจัดอยู่ใน Moscone Center ที่ไม่ต้องเดินไกลและเป็นที่ร่ม
ก็หมดเพียงเท่านี้แหละครับสำหรับบรรยากาศภายในงาน Google I/O 2016 ซึ่งโดยส่วนตัวผมแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยประทับใจซักเท่าไรนัก (หลายๆคนภายในงานก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน) เนื่องจากไม่ได้มีอะไรแปลกใจมากนักแบบปีที่แล้ว
และสถานที่ค่อนข้างกว้างเกินไปทำให้เดินกันจนเมื่อย สำหรับ Session ก็ต้องต่อคิวยาวเหยียดทำให้เสียเวลาไปพอสมควร (ยืนตากแดดอีกต่างหาก) เลยทำให้หลายๆคนหาที่นั่งพักตามสนามหญ้าหรือในที่ร่มกัน แต่ที่นี่ลมเย็นดีนอนหลับสบายมากๆนะเออ (นอนเพลินจนเผลอหลับเช่นกัน)
อุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในงานนี้ก็จะเป็นพวกตระกูล Nexus ทั้งหมด รวมไปถึง Pixel C ด้วย (ลาก่อน Nexus 9) และก็ยังคงมี Chromebook Pixel เรียกว่าตัวนี้ใช้งานได้คุ้มค่าจริงๆ แต่มีข้อเสียก็ตรงนี้อุปกรณ์เหล่านี้ต้องมาจัดแสดงในพื้นที่กลางแจ้งที่มีแดดแรงนี่แหละ ทำให้มองหน้าจอยากมาก (ถ่ายรูปก็ยิ่งยากไปใหญ่) แถมบางเครื่องต้องตากแดดจึงทำให้เครื่องร้อนตลอดเวลา
ส่วน Product ใหม่ๆที่เปิดตัวใน Keynote อย่าง Google Home หรือ Daydream ก็ไม่มีตัวอย่างให้ได้ลองสัมผัสกัน ที่มีให้ได้ดูก็จะมีแต่พวกซอฟต์แวร์กันทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือหลายๆอย่างยังทำไม่เสร็จนั่นเอง
ถึงแม้จะไม่ประทับใจเท่าปีก่อนๆแต่บทความพาทัวร์ของเราก็ยังไม่หมดนะเออ เพราะเหลืออีกหนึ่งตอนที่อยากให้รอติดตามกันครับ ยังมีบางอย่างภายในงานนี้ที่ผมยังไม่ได้พูดถึง เพราะจะพูดหนึ่งในตอนต่อไปนั่นเอง
Comment