ดูเหมือนคำกล่าวหาและโจมตีเรื่องความปลอดภัยจากการใช้งานอุปกรณ์ของ Huawei จากสหรัฐอเมริกานั้นจะเริ่มไม่เป็นผล แม้แต่กับพันธมิตรรายใหญ่อย่างสหราชอาณาจักร ที่ล่าสุดสภาความมั่นคงแห่งชาติของอังกฤษ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหญิง Theresa May เป็นประธาน ได้มีการประกาศอนุมัติให้ Huawei Technologies เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบเครือข่าย 5G แล้ว เรียกว่าหักหน้าพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ กันสุดๆ
อังกฤษไม่ร่วมแบน Huawei แค่เลือกใช้เฉพาะอุปกรณ์ “non-core”
มติของสภาความมั่นคงแห่งชาติของอังกฤษออกมาอย่างเป็นทางการแล้วว่าอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ Huawei สำหรับสนับสนุนการสร้างเครือข่าย 5G ได้ โดยเบื้องต้นลงมติกันในรายละเอียดไว้ ให้ใช้อย่างจำกัดไว้เฉพาะกลุ่มอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ “โครงสร้างหลักสำคัญ” หรือ “non-core” เท่านั้น ตัวอย่างเช่น เสาสัญญาณ สถานีส่งสัญญาณ อุปกรณ์กำหนดคลื่นความถี่ เป็นต้น ส่วนโครงสร้างสำคัญนั้นนิยามในที่ประชุมคืออุปกรณ์ที่มีการเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหวของประชาชนเอาไว้เช่น ระบบที่ส่งผ่านฐานข้อมูลการใช้งานผู้บริโภค กลุ่มนี้จะไม่ใช้อุปกรณ์ของ Huawei
ระหว่างการหารือกันก่อนลงมตินั้น ทางรัฐมนตรีอาวุโสหลายรายอย่าง Sajid Javid (รัฐมนตรีมหาดไทย) Jeremy Hunt (รัฐมนตรีการต่างประเทศ) Gavin Williamson (รัฐมนตรีกลาโหม) Liam Fox (รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศ) และ Penny Mordaunt (รัฐมนตรีพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ได้ทำความเห็นค้านเอาไว้ก่อนการลงมตินี้ โดยแสดงความกังวลเป็นพิเศษต่อความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ของอังกฤษ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
สหรัฐฯ มีฉุน พันธมิตรมีท่าทีไม่เอาด้วย
การตัดสินเช่นนี้ย่อมเสมือนหักหน้าพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่เอาจริงเอาจังกับการแบน Huawei รวมถึงกดดันชาติพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรข่าวกรอง 5 ชาติ หรือ “Five Eyes Intelligence Alliance” ให้ตัดสินใจแบน Huawei Technologies เช่นเดียวกัน โดยมี อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา แบกรับแรงกดดันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นรับลูกไปก่อนหน้านี้ ประกาศแบนอุปกรณ์ Huawei ในการสร้างโครงข่าย 5G ไปแล้วเรียบร้อย
ในขณะที่อีกกลุ่มที่ยังขัดใจพี่เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรคือ แคนาดานั้นยังไม่ให้คำยืนยันใดๆ ขอเวลาศึกษาอย่างละเอียดเสียก่อน นอกจากกลุ่ม Five Eyes แล้วพันธมิตรของสหรัฐฯเบอร์ใหญ่อย่าง รัฐบาลเยอรมันได้ออกมาประกาศชัดแล้วเช่นกันว่า จะไม่แบน Huawei ออกจากการประมูลรับเหมาติดตั้งอุปกรณ์เครือข่าย 5G จนกว่าอเมริกาจะมีหลักฐานที่แน่ชัดให้แก่คำกล่าวหาพวกนั้น
ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งรับเอาสิ่งนี้ (อุปกรณ์จาก Huawei) เข้าไปใช้กับโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารแล้ว เราอาจจะไม่สามารถแชร์ข้อมูลร่วมกับพวกเขาได้ รวมถึงอาจจะไม่สามารถทำงานด้วยกันได้เลย หากเป็นเรื่องของข้อมูล มันมีความละเอียดอ่อน
– Mike Pompeo | รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ
อังกฤษบอกรู้และเข้าใจ แต่ดูทรงแล้วเอาอยู่
สำหรับกลุ่มพันธมิตรข่าวกรอง Five Eyes นั้นได้มีการหารือกันขึ้นทันทีหลังจากอังกฤษมีมติดังกล่าวออกมา โดยเนื้อหาหลักเป็นการแถลงเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลและหน่วยข่าวกรองของสหราชอาณาจักร ซึ่งพวกเขาได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้เอาไว้โดยสรุปว่า
อังกฤษเข้าใจดีต่อความกังวลทั้งหลายทั้งปวงต่อความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ เพียงแต่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่นำพาเรามาสู่จุดนี้ ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ไม่แน่ใจ และความเสี่ยง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นโจทย์ใหญ่ต่อการตัดสินใจของผู้นำแห่งรัฐทั้งหลาย ในการให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ระบบกฏหมาย รวมถึงภาคธุรกิจอย่างดีที่สุด เพราะฉะนั้นการตัดสินใจบางสิ่งอย่างที่ละเอียอดอ่อน อาจกลายมาเป็นบรรทัดฐานทางสังคมได้
นอกจากนั้นทางผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรความมั่นคงหลายแห่งของอังกฤษ เช่น ศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์ หน่วยข่าวกรอง และรวมไปถึง MI6 (แน่นอนนี่คือหน่วยข่าวกรองลับที่เรารู้จักกันดี แต่ย่อมาจาก Military Intelligence, Section 6 ไม่ใช่ Mission Impossible นะ 😊) ยังให้การยืนยันว่าอังกฤษเข้าใจถึงปัญหาแต่เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าความเสี่ยงพวกนี้ ทางรัฐบาลอังกฤษสามารถจัดการได้ด้วยความมั่นใจนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม: อธิบายที่มาที่ไปของกรณีสหรัฐอเมริกา กับ หัวเหว่ย
ที่มา: Financial Times | The Telegraph
โสน้ำหน้า usa ให้มันบ้าไปตัวเดียวแล้วกัน
อเมริกากำลังจะบอกว่า ตัวเองไม่ได้ดักฟังหรือเก็บข้อมูลจากโลกโซเชียลไปใช้ จริงเหรอ
การล่าอาณานิคมยังคงอยู่แต่เปลี่ยนเป็นรูปแบบของการแทรกแซง การล้วงข้อมูลความลับ การสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน รบ. และการใส่ความฝ่ายตรงกัข้ามให้เสียหาย นี่เป็นสิ่งที่มองเห็นง่ายๆของ อเมริกา ไม่มีแรงกดดันชาติต่างๆคงไม่มีใครยอมรับฟังหรอก
อังกฤษบอก พี่แหละครับตัวดี