เป็นเรื่องที่น่าจะรู้กันพอสมควรแล้วสำหรับความพยายามงัดข้อกันระหว่าง Huawei กับรัฐบาลสหรัฐและชาติพันธมิตร ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งทางสหรัฐฯ ได้กล่าวหาว่า อุปกรณ์โทรคมนาคมของ Huawei อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงนานาชาติ หลายคนอาจจะคิดว่าสหรัฐแค่ต้องการหาเรื่องจีนเท่านั้น วันนี้เราเลยจะลองไปหาข้อมูลมาให้อ่านกันว่า มีเหตุผลอื่นๆอะไรอีกหรือไม่ที่ทำให้ อเมริกาต้องวอแวกับ Huawei ขนาดนั้น

*บทความนี้เขียนขึ้นมาก่อนความขัดแย้งรอบล่าสุดในเดือนพ.ค.62

สถานการณ์ในปัจจุบันระหว่าง อเมริกา vs Huawei ผลกระทบเริ่มขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ พันธมิตรหลายประเทศเริ่มพิจารณากันอย่างจริงจังจะใช้อุปกรณ์สื่อสารของ Huawei หรือไม่ โดยประเทศที่เข้าร่วมกับทางอเมริกาและประกาศเลิกใช้อุปกรณ์เครือข่ายจาก Huawei แล้วก็ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ รวมถึงอีกหลายประเทศที่กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ โดยพบว่ามีกิจกรรมหลายอย่างที่น่าเป็นห่วงจริง ตั้งแต่ต้นปี 2019 ที่ผ่านมามีข่าวไม่ดีกับบริษัทไม่ว่าจะเป็น การตั้งข้อหาอาญา 13 กระทงซึ่งเกี่ยวข้องกับการขโมยความลับทางการค้า และการถูกจับกุมตัวของผู้บริหารระดับสูงเพราะดันไปมีส่วนพัวพันกับการแทรกแซงกรณีการคว่ำบาตรอิหร่านของอเมริกา และล่าสุดเยอรมันนีเองก็โดนขู่เรื่องความสัมพันธ์จากอเมริกาว่าอาจยกเลิกการแชร์ข่าวกรองระหว่างกันหากเยอรมันไม่ยกเลิกใช้อุปกรณ์ Huawei  ทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับคำสำคัญที่ถูกยกมาเป็นข้อกังวลของนานาชาติในตอนนี้ “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงนานาชาติในอุปกรณ์สื่อสารแห่งยุค 5G” นั่นเอง

เดี๋ยวเรามาดูกันสักหน่อยว่า

  • HUAWEI มาจากไหน… ? แล้วมีความสัมพันธ์ยังไงกับรัฐบาลจีน
  • ทำไมใช้อุปกรณ์ Huawei แล้วมีความเสี่ยงต่อความมั่นคง
  • อเมริกา vs Huawei ใครเป็นภัยกว่ากัน

โดยในบทความนี้จะมีการแทรก Quote จากเหล่าผู้เชี่ยวชาญ และคร่ำหวอดเรื่องความส้มพันธ์นี้มาให้เรื่อยๆนะครับ

HUAWEI มาจากไหน… ? แล้วมีความสัมพันธ์ยังไงกับรัฐบาลจีน

Huawei นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นธุรกิจเล็กๆที่ขายและรับติดตั้งอุปกรณ์ชุมสายโทรศัพท์ในยุคปี 1987 ซึ่งเป็นช่วงการปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของจีน และด้วยความมุมานะของผู้ก่อตั้งอย่างคุณ Ren Zhengfei ผู้เป็นนายทหารเก่าในกองทัพปลดแอกประชาชนของจีน ทำให้บริษัทใช้เวลาแค่ราวๆ 15 ปีแรกก็สามารถกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่เน้นเรื่องการวางระบบชุมสายโทรคมนาคมได้ในที่สุด พร้อมกับเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญแก่แผนกวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก (ปัจจุบันบุคลากรราวๆ 47% ทำงานอยู่ในแผนก R&D) มากที่สุดสำหรับเอกชนจีนรายหนึ่งจะทำเลยก็ว่าได้ จนกระทั่งกลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำของโลก ในฐานะผู้ผลิต จัดหา และพัฒนาอุปกรณ์ระบบเครือข่าย รวมไปถึงอุปกรณ์สื่อสารและนวัตกรรมมากมายเพื่อผู้บริโภคอย่างเช่นทุกวันนี้นั่นเอง

Huawei มีพนักงานทั่วโลกราว 170,000 คน และเกือบครึ่งทำงานในด้านค้นคว้าวิจัย โดยมีสถาบันด้านวิจัยอยู่ 21 แห่งใน จีน สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร ปากีสถาน ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เยอรมัน โคลัมเบีย สวีเดน ไอร์แลนด์ อินเดีย รัสเซีย อิสราเอล และตุรกี มีงบในการค้นคว้าวิจัยเกือบ 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว1

เมื่อเดือนตุลาคม ของปี 1994 คุณ Ren Zhengfei ได้กล่าวเอาไว้ว่า “อีก 10 ปีข้างหน้าตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมจะแบ่งออกเป็นของ Siemens, Alcatel, และ Huawei” ใครจะไปเชื่อว่า ณ วันนี้ถ้านึกถึงอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคม ในหลายๆครั้งชื่อของ Huawei มาก่อนอีก 2 แบรนด์ข้างต้นไปแล้วเสียด้วยซ้ำ  😮 

และด้วยความที่ผู้ก่อตั้งอย่างคุณ Ren นั้นเคยเป็นอดียนายทหารเก่าในกองทัพที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลกอย่างกองทัพปลดแอกประชาชนซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจโดยตรงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ระหว่างทางที่ก้าวขึ้นมาเป็น Huawei แบบทุกวันนี้ เต็มไปด้วยคำถามว่า ผู้ผลิตอุปกรณ์และนวัตกรรมสื่อสารรายใหญ่แบรนด์นี้ มีความสัมพันธ์อย่างไรกับรัฐบาลจีนหรือไม่ ถึงทำให้อดีตนายทหารผู้มีภูมิหลังมาจากความยากจนข้นแค้น ประสบความสำเร็จกลับกลายมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลคนนึงของโลกนวัตกรรมได้ในเวลาอันสั้นไม่ถึงชั่วอายุคนขนาดนี้ ถึงแม้จะไม่มีข้อพิสูจน์ แต่มันก็น่าสงสัย…

ประเด็นอยู่ที่ว่าความเสี่ยงต่อการจารกรรมหรือวินาศกรรมใดๆจากเทคโนโลยีพวกนี้ อาจขึ้นอยู่กับว่าบริษัท (Huawei) มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนว่าเป็นอิสระโดยสมบูรณ์จากรัฐบาลในประเทศนั้น ซึ่งในเคสของ Huawei หลายชาติน่าจะเห็นตรงกันว่ามีความเสี่ยง ถึงแม้จะบอกว่าสามารถจัดการกับความเสี่ยงพวกนั้นได้ก็ตาม – Robert Williams | Executive Director – Paul Tsai China Center, Yale Law School

การใช้อุปกรณ์ HUAWEI มันไปสร้างความเสี่ยงถึงขนาดเป็นภัยความมั่นคงยังไง

สำหรับใครที่ติดตามเรื่องของ 5G มาโดยตลอด น่าจะพอทราบว่าเครือข่าย 5G นี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือกระดูกสันหลังของโลกในอนาคตเลยก็ว่าได้ เราไม่สามารถเลี่ยงโลกที่กำลังจะทำให้อุปกรณ์ทุกชิ้นสามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต และสิ่งที่ทำให้มันเชื่อมกันได้ก็จะเป็นเครือข่าย 5G เนี่ยแหละ โดยบริษัทที่เป็นแกนหลักในการพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ก็มีจากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Nokia Siemens Alcatel Ericsson Samsung และแน่นอนว่า Huawei ก็เป็นหนึ่งในนั้น และยังได้รับความสนใจที่สุดเจ้านึง ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ในราคาที่ดีกว่าหลายๆบริษัท ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจาก Economy of Scale ที่ทำผลิตเฉพาะใช้ในประเทศก็คุ้มทุนแล้ว และมีหลากหลายสภาพภูมิประเทศ หลายสภาพประชากรให้ทดสอบอีกด้วย

5G คืออะไร – ไม่ใช่แค่เร็ว แต่เป็นรากฐานของอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า

และด้วยความที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่าย ข้อมูลต่างๆก็จะถูกส่งผ่านไปอย่างมากมายด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายฝ่ายก็มีความกังวลในเรื่องนี้ว่าหากมีการจารกรรมข้อมูลส่วนนี้ไปได้ นั่นหมายถึงทางจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของประชากรในประเทศนั้นๆได้เลยในทันที

การมาไล่ตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์สื่อสารพวกนี้มันไม่ได้ช่วยพิสูจน์อะไรได้เลยกับความเสี่ยงในอนาคต อุปกรณ์ดีๆที่บอกว่าปลอดภัยจากจีนเนี่ย แค่อัพเดท firmware ให้ครั้งเดียวก็กลายเป็นภัยคุกคามได้แล้วล่ะ – Mark Warner | วุฒิสภา – มลรัฐเวอร์จิเนีย

ซึ่งข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสามารถนำเอามาใช้ควบคุมความคิดของคนได้ไม่อยาก ตัวอย่างที่ดังที่สุดก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นการเลือกตั้งของอเมริกาเอง ซึ่ง Facebook มีการขายข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ และถูกนำเอามาใช้ในการปลุกปั่นความเกลียดชัง โจมตีนักการเมืองฝั่งตรงข้าม จนสามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้กันเลยทีเดียว

แฉผลการเลือกตั้ง Trump และประชามติ Brexit ถูกป่วนจากบริษัท Cambridge Analytica และความผิดพลาดของ Facebook

ติดตามข่าวอื่นเกี่ยวกับ Cambridge Analytica

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และขโมยข้อมูลการวิจัยจากบริษัทต่างๆ ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนของการวิจัยของ Huawei ถูกกว่าคู่แข่ง และเมื่อนำมาเสนอขายในราคาที่ต่ำกว่า ก็จะทำให้บริษัทที่ถูกละเมิดเหล่านั้นอาจไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ต่อไป และอาจทำให้ Huawei กลายเป็นมหาอำนาจด้านเครือข่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

สหรัฐฯต้องมีมาตรการอันเข้มงวดเพื่อให้แน่ใจว่าห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญจะปลอดภัยจากกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐอื่น (จีน) เราต้องไม่ลืมว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลายที่เกิดขึ้น ล้วนได้รับแรงสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน – Marco Rubio | วุฒิสภา – มลรัฐฟลอริดา

ด้วยวิวัฒนาการของประเทศจีนที่ถึงแม้จะเปิดระบบเศรษฐกิจให้มีลักษณะเช่นตลาดเสรีมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเศรษฐกิจของประเทศยังผูกพันอยู่กับการดูแลควบคุมและเป็นเจ้าของโดยตรงจากรัฐบาล เช่นเดียวกับ Huawei ที่ผู้ก่อตั้งมีภูมิหลังมาจากการเป็นส่วนนึงของพรรคคอมมิวนิสต์ และเอกชนในจีนโดยเฉพาะรายใหญ่ๆก็ไม่อาจพิสูจน์บูรณภาพในความเป็นอิสระจากรัฐบาลจีนได้

ซึ่งจากประเด็นนี้ ถึงแม้ว่าจีนจะมีธุรกิจสำคัญโดยเฉพาะกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากที่เป็นกิจการของรัฐอย่างเช่น China Mobile หรือ China Rail Corporation ซึ่งมักจะได้ดีได้เพราะการผลักดันโดยตรงจากการใช้อำนาจของความเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจของจีน และก็ต้องทำกิจการในทางที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของรัฐบาลจีนอย่างแน่นอน แต่เอกชนรายใหญ่ๆอย่างเช่น Huawei, Tencent Group, หรือ Alibaba นั้น ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจากการดิ้นรนต่อสู้ด้วยศักยภาพของผู้นำองค์กรยุคบุกเบิกที่เริ่มต้นกันมาในยุคปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจีนในช่วงปี 1980 และก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ในรูปแบบเอกชนจึงไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับรัฐบาลเป็นกรณีพิเศษ จะมีก็แต่ตามปกติที่รัฐบาลของทุกชาติก็คงอยากให้เอกชนในชาติประสบความสำเร็จทุกระดับ เพราะมันหมายความถึงรายได้ภาษีที่เข้ารัฐ การสร้างงาน รวมถึงชื่อเสียงของรัฐนั่นเอง

พวกเขาได้แต่กล่าวอ้างลอยๆ คุณ Ren Zhengfei อยู่ในกองทัพปลดแอกประชาชนก็จริง แต่มันไม่ได้มีเหตุผลเอาเสียเลย แน่นอนล่ะเขาเลือกรับใช้ชาติก็เพราะมันคือการก้าวหนีความยากจนของยุคนั้น และเขาก็ไม่ได้เคยมีตำแหน่งอะไรสำคัญนะ นอกจากนั้นหากจะมีจุดมุ่งหมายร่วมกันระหว่าง Huawei กับรัฐบาลจีน มันคือการสร้างชื่อเสียงและการเป็นผู้นำเทคโนโลยีของโลกมากกว่าต้องมาสุ่มเสี่ยงถูกกล่าวหาเรื่องการจารกรรมอะไรพวกนี้ – Qing Wang | ศาสตราจารย์ด้านการตลาดและนวัตกรรม – University of Warwick

คำชี้แจงสั้นๆจาก HUAWEI – “มันไม่ใช่ภัยคุกคามต่อความมั่นคง”

Huawei ต้องพยายามอย่างในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาที่จะอธิบายว่า “มันไม่ใช่ภัยคุกคามต่อความมั่นคง” และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ทางการสหรัฐฯยังไม่ได้มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ใดๆเลยว่าทาง Huawei มีความร่วมมืออันไม่เหมาะสมใดๆในการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารเพื่อประโยชน์กับรัฐบาลจีน หรือแม้แต่ในอนาคตก็ตามที นอกจากนั้นมันยังมีวิธีการตั้งหลายรูปแบบที่จะจำกัดความเสี่ยงใดๆประเภทนั้นได้ อย่างที่ได้ทำกับในหลายๆชาติที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารของ Huawei อยู่ทั่วโลก แต่ที่น่าสนใจมากๆ ไม่แพ้คำชี้แจงนี้เลยก็คือ ประธานบริหารของ Huawei Technologies ยังตั้งข้อโต้แย้งเอาไว้อีกด้วยว่า

รัฐบาลสหรัฐเองนั้น มีพฤติกรรมที่อาจเรียกได้ว่าปากว่าตาขยิบที่สุดชาตินึง เพราะขณะที่ตัวเองกำลังกล่าวหาจีนด้วยเรื่องของมาตรฐานทางความมั่นคงต่างๆ นานา แต่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของสหรัฐฯเอง กลับเป็นหนึ่งในชาติที่มีผลงานการสอดแนมเต็มไปหมดทั่วโลก 😳

ชื่อชั้นระดับ Huawei คงไม่ยอมให้ใครมาทำลายชื่อเสียงเอาดื้อๆ ล่าสุดได้มีการทำคำร้องไปยังศาลยุติธรรมสหรัฐฯให้หาข้อยุติในเรื่องการกระทำของรัฐบาลกลางสหรัฐที่ประกาศแบนผลิตภัณฑ์ของ Huawei เพราะว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติสูงสุดของสหรัฐฯ และเมื่อการพยายามชี้แจงโดยตรงกับทางการฯไม่เป็นผล พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งพาระบบศาลยุติธรรมนั่นเอง

เกมส์ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นพระเอก แต่จีนก็ไม่ใช่เหยื่อ…

ด้วยศักยภาพทางด้าน R&D ขององค์กรระดับ Huawei นั้น ไม่แปลกเลยที่รัฐบาลจีนจะขอความร่วมมือในด้านต่าง รวมไปถึงการดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศอื่นๆ และใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดได้ แต่ต้องมองให้แฟร์ว่าท้ายที่สุดแล้วความน่ากังวลนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความเป็นจีนหรือ Huawei เพราะประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้จะมือสะอาด ถ้าจีนจะขอความร่วมมือจาก Huawei ได้ ทางสหรัฐก็สามารถขอความร่วมมือกับ Qualcomm บริษัทชิปเซตชื่อดังที่ถูกใช้งานอยู่ในอุปกรณ์สื่อสารทั่วโลก ก็ถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงไม่แพ้กัน

Play video

ความฉาวของหน่วยงานความมั่นคง (NSA) อเมริกาถูกเปิดโปงโดยนาย Edward Snowden ตั้งแต่เมื่อปี 2013 โด่งดังระดับทำเป็นหนังออกมาได้ และจนถึงปัจจุบันก็ยังส่งผลให้อเมริกาขาดความน่าเชื่อถือในสายตานานาประเทศ

หลายคนอาจมีคำถามว่า บริษัทอย่าง Google, Facebook หรือ Apple น่าจะร่วมมือกับทางการสหรัฐทำอะไรที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงด้วยหรือไม่นั้น ก็มีข่าวออกมาหลายต่อหลายครั้งที่มีการปฎิเสธ และยินยอม แต่การทำจะอะไรลับหลัง และมีความลับก็อาจจะยากกว่าบริษัทในจีนหน่อย ตรงที่มีพนักงานจากหลายประเทศทั่วโลก มีโอกาสที่ข้อมูลจะหลุดออกมา รวมถึงพนักงานภายในกันเองต่อต้านได้ด้วยนั่นเอง

Apple ปฎิเสธคำขอรัฐบาล ให้เปิดช่องเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้

Apple เป็นบริษัทที่มีข่าวด้านบวกเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้มาโดยตลอด แม้ทางการจะเรียกร้องอย่างใดก็ไม่เคยคิดจะกระดิกให้ จนเป็นที่มาของเหตุผลที่ผู้ใช้ Apple หลายคนบอกว่าเค้ายอมที่จะจ่ายแพงกว่าให้อุปกรณ์ iOS ก็เพื่อการนี้

ส่วน Google ก็จะมีพนักงานออกมาประท้วงเรียกร้องอยู่เรื่อยๆ เพื่อขอให้ยุติโปรเจกต์ที่ทำอยู่ เช่น Drone AI ทางการทหาร หรือการปรับแต่งเวอร์ชั่นของตัว Search Engine เปิดให้ทางการควบคุมเนื้อหาเพื่อให้สามารถเข้าประเทศจีนได้ เป็นต้น

ในทางกลับกันด้วยความที่จีนยังเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ หากทางการมีการร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลอยู่ใดๆ บริษัทเหล่านี้ก็ไม่น่าที่จะหลีกเลี่ยงได้เลย ส่วนเรื่องความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลยิ่งไม่ต้องพูดถึง เราได้เห็นเรื่องโป๊ะแตกเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากบริษัทในจีนมาหลายรอบแล้ว ส่วนนึงก็เพราะประเทศนี้ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญในด้านนี้เท่าไหร่ ทางการสามารถควบคุมทุกอย่างของประชาชนทั้งหมดได้ ซึ่งหากสามารถเข้าถึงข้อมูลของคนในประเทศอื่นๆ ได้ ก็ไม่มีอะไรมาการันตีว่าทางการจีนจะไม่ใช้ข้อมูลส่วนนี้มาใช้หาประโยชน์เช่นกัน

Huawei สร้างระบบ “ตาเทพ” ตรวจจับใบหน้าอาชญากรในจีน

มองมุมกลับ การควบคุมคนแบบเด็ดขาดก็อาจจะเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ใหญ่ ประชากรมากมาย และแตกต่างกัน และอาจต้องปรับตัวกันสักหน่อยเมื่อออกมาทำธุรกิจที่ต่างแดน

ไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะได้ข้อสรุปปัญหานี้กันออกมาอย่างไร สุดท้ายก็คงต้องขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า ในยุคของเทคโนโลยี 5G ที่ทุกๆอย่างนั้นกำลังจะเร็วเกินการควบคุมและฉีกทุกข้อจำกัดเดิมที่เราเคยมีมา รัฐบาลสหรัฐฯอาจคิดถูกที่พยายามควบคุมภัยคุกคามนี้ไว้แต่เนิ่นๆ หรือ Huawei นั้นเป็นแค่เหยื่อที่ถูกกระทำจากผลงานที่ดีเกินหน้าเกินตาชาวบ้านเค้าเกินไปก็เท่านั้น… แต่ที่สำคัญที่สุดคือ พวกเราในฐานะผู้บริโภคและประชากรของประเทศเล็ก ๆ ในโลกใบใหญ่นี้ การที่เราเลือกที่จะเชื่อว่าอเมริกาทำถูก หรือ Huawei แค่ถูกกลั่นแกล้งนั้น คงไม่สำคัญเท่ากับการตระหนักไว้เสมอว่า มีภัยคุกคามหรือความเสี่ยงอะไรบ้างที่เราอาจจะต้องพบเจอและพึงระวังเอาไว้ในการก้าวเข้าสู่ยุค 5G อย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง

ข้อบกพร่องจำนวนมหาศาลในห่วงโซ่อุปทานนี้ (โครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคม) มันเป็นความเสี่ยงมาตลอดอยู่แล้วกับความมั่นคงของทุกชาติรวมถึงจีนเองก็ตามที มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่จีนหรือ Huawei เพราะพวกเขาเองก็มีการจัดซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตชาติอื่นๆอยู่มาก เช่นการใช้ชิพเซ็ตของ Qualcomm ก็อาจเป็นความเสี่ยงได้เพราะความร่วมมือกับหน่วยข่าวกรองสหรัฐ ไม่ต่างกัน

ข้อเท็จจริงที่เราต้องตระหนักคือ ตราบใดที่ความขัดแย้งระดับนานาชาติหรือระหว่างรัฐยังดำรงอยู่ ความกังวลพวกนี้คงเป็นเรื่องที่ย่อมมีขึ้นเสมอ มันเป็นปัญหาในระดับโครงสร้างเลยล่ะ กรณีของ Huawei ของจีนเป็นแค่ประเด็นที่โลกให้ความสนใจอยู่ตอนนี้ แต่เดี๋ยวในอนาคตก็มีชื่ออื่นเข้ามาเป็นเป้าแทนที่อยู่ดีนั่นแหละ – William Snyder | ศาสตราจารย์ด้านกฏหมาย – Syracuse University

ที่มา: Wiki1 |The Verge | Amarin Books | Reuters