ถือว่าเป็นอีกประเด็นที่มาแรงอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนสำหรับยักษ์ใหญ่อย่าง Huawei ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ Meng Wanzhou (CFO) ถูกแคนาดาควบคุมตัวตามคำร้องของสหรัฐฯภายใต้กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน จนกระทั่งวันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2019 ศาลยุติธรรมแห่งรัฐบาลกลางสหรัฐฯได้ประกาศตั้งข้อหาอาญาชนิดจัดให้ยกเข่ง 13 กระทงไล่ตั้งแต่ Huawei Technologies บริษัทลูกในเครือไปจนถึงตัวผู้บริหารอย่าง Meng Wanzhou เลยทีเดียว

ศาลยุติธรรมแห่งรัฐบาลกลางสหรัฐฯได้มีประกาศตั้งข้อหาอาญาออกมาอย่างเป็นทางการแล้วรวม 13 กระทงด้วยกัน โดยมีจำเลย 4 รายได้แก่:

White Collar Crime 2019 – ปีหมูที่ไม่หมูสำหรับ Huawei

เปิดรับปี 2019 อย่างยิ่งใหญ่เลยทีเดียวสำหรับข้อหาทางอาญารวม 13 ข้อหารวดที่ Huawei กำลังเผชิญชนิดที่เรียกว่าอาจจะเป็นหนึ่งใน White Collar Crime ประเภทคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงที่สุดของปีนี้เลยก็ว่าได้

White Collar Crime คืออาชญากรรมที่กระทำโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีสถานะทางสังคมระดับสูงและเป็นที่เคารพนับถือ โดยอาศัยช่องทางของอาชีพของตนในการกระทำผิด
– Edward Sutherland | นักอาชญาวิทยา

สำหรับข้อหาหลักๆที่จำเลยทั้ง 4 รายดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องล้วนเป็นคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่จะใช้วิธีการพิเศษในการสืบสวนและดำเนินคดีผ่านคณะลุกขุนใหญ่ (Grand Jury Investigation) เนื่องจากเป็นคดีเฉพาะรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจอันร้ายแรง ประกอบไปด้วยความผิดที่ประกาศสู่สาธารณชนเป็นเบื้องต้นดังต่อไปนี้:

  • สำหรับ Huawei Technologies และ Skycom – การกระทำธุรกรรมอำพราง ฉ้อโกงธุรกรรมธนาคารข้ามมลรัฐ และรวมไปถึงฐานสมคบในการกระทำดังกล่าว
  • สำหรับ Huawei Technologies และ Huawei Device USAฐานสมคบในการกระทำที่ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีโดยคณะลูกขุนใหญ่ใน Eastern District ของ New York
  • สำหรับ Meng Wanzhou – การกระทำธุรกรรมอำพราง ฉ้อโกงธุรกรรมธนาคารข้ามมลรัฐ และรวมไปถึงฐานสมคบในการกระทำดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

ธุรกรรมอำพราง – ฉ้อโกง – สมคบคิด พ่วงคดีเก่าละเมิดความลับทางการค้า

ข้อหาเบื้องต้นดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงข้อกล่าวหาที่มีมาสักพักนึงแล้วในเรื่องของการกระทำธุรกิจร่วมกับอิหร่านโดย Skycom Tech ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Huawei โดยทีมบริหารรวมถึงพนักงานของ Huawei หลายรายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการกระทำธุรกิจของบริษัทดังกล่าวและยังรวมไปถึงการอำพรางธุรกรรมแก่สถาบันทางการเงินข้ามชาติหลายรายเพื่อปกปิดพฤติการณ์ของการแทรกแซงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯต่ออิหร่านนั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว ส่วนนึงของการเปิดเผยข้อกล่าวหาครั้งนี้ยังมีการโยงไปถึงกรณีตั้งแต่ปี 2014 ที่ Huawei ส่อแววมีความผิดจริงในการขโมยความลับทางการค้าส่วนทรัพย์สินทางปัญญา “หุ่นยนต์ทดสอบอุปกรณ์โทรศัพท์นามว่า Tappy” ของบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สัญชาติอเมริกันอย่าง T-Mobile ในความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการทดสอบอุปกรณ์เป็นการภายในก่อนส่งออกไปให้ลูกค้าอย่าง T-Mobile ทดสอบก่อนวางขายอีกที นั่นเอง!

การกระทำนี้บ่อนทำลายตลาดที่แข่งขันอย่างเสรีและเท่าเทียมของเรา สร้างความเสียหายให้ผลงานอันภาคภูมิของอเมริกันชน โดยที่ Huawei ได้ละเลยต่อกฏหมายอันศักดิ์สิทธิ์เพียงแค่ให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ
– Christopher Wray | ผู้อำนวยการ FBI

การค้า – การเมือง เรื่องเดียวกัน… ?

ในคดีละเมิดความลับทางการค้า – กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯได้มีการเปิดเผยผลการสอบสวนมาก่อนหน้านี้ความว่า Huawei มีการส่งวิศวกรเข้าไปขโมยข้อมูลภายใน T-Mobile จริงพร้อมทั้งลักลอบถ่ายภาพ วัดสัดส่วน ตลอดจนพยายามที่จะขโมยเอาชิ้นส่วนของหุ่นยนต์ Tappy ตัวดังกล่าวกลับออกไป  😯 อย่างไรก็ตาม Huawei ได้ออกมาตอบโต้กรณีนี้ว่าอาจมีความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่นี่เป็นการกระทำส่วนบุคคลในความพยายามของพนักงานหรือกลุ่มพนักงานที่จะสร้างผลงานหุ่นยนต์ทดสอบระบบดังกล่าวเอง ไม่ใช่การกระทำในนาม Huawei ทั้ง Huawei USA และ Huawei China อย่างแน่นอน แต่ แต่ แต่!! ล่าสุดในกระบวนการสืบสวน FBI ได้ข้อมูลมาว่า Huawei ได้เสนอโบนัสคำนวณจากมูลค่าสำหรับพนักงานที่สามารถไปเรียนรู้และเอาตัวอย่างข้อมูลเทคโนโลยีของบริษัทต่างๆทั่วโลกมาได้ (จริงๆในรายงานใช้คำว่า Steal = ขโมย 😯 ) โดยสื่อสารผ่าน encrypted email address ภายใน

สำหรับกรณีแทรกแซงกระบวนการคว่ำบาตรฯ – เบื้องต้นทางบริษัทได้มีการออกมาชี้แจว่า Huawei ไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆในการกระทำของ Meng Wanzhou ต่อกรณีของธุรกรรมทั้งหลายระหว่าง Skycom และอิหร่าน ล่าสุดในเคสนี้ทางการของทั้งแคนาดาและสหรัฐฯกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อส่งผู้ร้ายข้ามแดน อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลจีนได้ออกมาเรียกร้องให้ทางสหรัฐฯยกเลิกคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าว และทั้งที่ก่อนหน้านี้มีท่าทีตอบรับจากประธานาธิบดี Donald Trump ว่าเขาพร้อมจะแทรกแซงกระบวนการนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทางการจีนก็ได้ หากจีนยอมรับการเจรจาประเด็นสงครามทางการค้าให้เป็นไปได้โดยดีกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ทางวุฒิสภาและกระทรวงยุติธรรมได้ออกมาตอบโต้ท่าทีนี้ของนาย Trump ว่า “เราบังคับใช้กฏหมาย ไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการเจรจาทางการค้า และไม่ได้ทำการค้า” ส่งผลให้ล่าสุดสถานการณ์ยังคงตรึงเครียดต่อไปนั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องสงสัยเลยในกรณีนี้ก็คือ สหรัฐฯกำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางความยิ่งใหญ่ของ Huawei ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของโลกให้ได้ ง่ายๆเลยเพราะว่าบริษัทนี้เป็นศูนย์กลางของศักยภาพทางเทคโนโลยีของจีน
– บรรณาธิการ ของ The Guardian

สหรัฐฯ สกัดดาวรุ่ง… ?

Huawei ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลกโดยโค่นเจ้าของตำแหน่งเก่าอย่าง Ericsson ลงได้ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา แต่ล่าสุดกลับต้องเผชิญกับความยากลำบากจากแรงกระเพื่อมรอบโลก โดยส่วนใหญ่มักจะมีความเคลื่อนไหวเชิงต่อต้านและความพยายามจับผิดมาจากรัฐบาลสหรัฐและประเทศพันธมิตรหลายประเทศ ตั้งแต่การออกมาประกาศแบนผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนในตลาดสหรัฐฯช่วงต้นปี 2018 ไปจนถึงการส่งจดหมายเตือนให้ประเทศพันธมิตรทบทวนและยกเลิกแผนการใช้อุปกรณ์สื่อสารของ Huawei กับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายถึงขนาดว่ารัฐบาลสหรัฐฯเสนอเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินให้แก่ประเทศที่สัญญาว่าจะไม่ใช้อุปกรณ์สื่อสารที่ผลิตจากประเทศจีนเลยทีเดียว

ไม่แน่ใจว่านี่คือสภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด หรือ เป็นการกระทำผิดทางอาญาแท้ๆจากฝีมือของพวกเขาเอง แต่บอกเลยว่าต้องติดตามกันต่อเนื่องไปอีกยาวๆว่าสถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางใด ยังไม่รวมถึงกรณีพิพาทกันระหว่าง T-Mobile และ Huawei เองที่เบื้องต้นในปี 2017 ได้มีการจ่ายค่าชดเชยไปเพียงราวๆ 4.8 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเองเพราะพบความผิดเพียงแค่ละเมิดสัญญาต่อกันทั้งๆที่ T-Mobile เคยฟ้องร้องเรียกเอาไว้มากถึง 500 ล้านเหรียญ โดยหลังจากการเปิดเผยข้อมูลใหม่เข้ามาร่วมไว้ในคดีเกี่ยวเนื่องกันนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าทาง Huawei เองอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มอีกเป็นจำนวนมหาศาลต่อไป…

ที่มา: phoneArena | ABC NewsThe Guardian