Huawei กำลังสูญเสียความเชื่อมั่นไปอย่างไม่อาจเรียกคืนมาได้โดยง่าย แม้กระทั่งในประเทศจีนอันเป็นบ้านเกิดของพวกเขาเองก็ตาม เพราะล่าสุดโลก Social ของชาวจีนนั้นเต็มไปด้วยความโกรธเคืองเป็นอย่างมาก จากวิธีการที่ Huawei Technologies ได้กระทำกับอดีตพนักงานที่เคยทำงานให้กับพวกเขานานกว่า 13 ปี แต่กลับถูกฟ้องร้องข้อหา Blackmail ติดคุกไปแล้วร่วมปี ก่อนพบภายหลังว่าไม่มีหลักฐานเอาผิด เล่นเอาชาวเน็ตจีนรวมตัวกันถล่ม Huawei จนเกิดดราม่ากันไปใหญ่แล้วในตอนนี้

มาผิดจังหวะ… Meng Wanzhou ผู้ถูกควบคุมตัวอยู่อย่างสุขสบาย โพสต์ข้อความหวังเรียกคะแนนสงสาร กลับโดนชาวเน็ตถล่ม

ดราม่าที่ว่านี้เกิดขึ้นบน Social Media ชื่อดังของจีนอย่าง Weibo (คล้าย ๆ กับ Twitter) โดยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง Meng Wanzhou – CFO ของ Huawei Technologies ผู้เป็นลูกสาวของ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง ได้มีการเคลื่อนไหวเป็นโพสต์ข้อความยาวในโอกาสครบรอบ 1 ปีที่เธอถูกจับในข้อหาเกี่ยวพันการแทรกแซงกับปัญหาทางการเมืองระหว่างอิหร่านและสหรัฐ ฯ โดยปัจจุบันเธอได้อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ส่วนตัวใน British Columbia, Canada มูลค่า 12 ล้านเหรียญ (ราว ๆ 380 ล้านบาท) โดยมีการกักบริเวณเอาไว้ และต้องใส่แทร็กเกอร์ติดตามตัวที่ขา จนกว่ากระบวนการส่งตัวผู้ต้องหาระหว่างแคนาดา – สหรัฐ ฯ จะเสร็จสิ้น

โดยในจดหมายเปิดผนึกในโอกาสครบรอบ 1 ปีตั้งแต่ถูกจับและกักบริเวณอยู่ที่แคนาดานั้น Meng Wanzhou ได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของศาล ฯ แคนาดาที่ดูแลและให้ความช่วยเหลือเธอเป็นอย่างดี และได้บรรยายความรู้สึกถึงช่วงปีที่ผ่านมาว่าเธอได้สัมผัสกับความกลัว ความเจ็บปวด ความสิ้นหวังและทรมาณที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งจดหมายดังกล่าวควรจะเรียกคะแนนความสงสารได้เป็นอย่างดี จากสาวก Huawei โดยเฉพาะชาวจีนที่ถือเป็นหัวใจของยอดขายที่ยังแข็งแกร่งต่อเนื่องในเวลาที่ต้องเจอปัญหากับทั้งโลกอยู่ตอนนี้ ตั้งแต่โดนแบนห้ามใช้ Google Services

จดหมายเปิดผนึกจาก Meng Wanzhou: Huawei Technologies

อย่างไรก็ดี โพสต์บน Social Media ชื่อดังของจีนอย่าง Weibo นั้น ชื่อของ Huawei ขึ้นสู่ Top Trending อีกครั้ง แต่คราวนี้เต็มไปด้วยโพสต์ข้อความเชิงลบ ความเกลียดชัง และแฮชแท็กรวมถึงตัวเลขเชิงสัญลักษณ์อย่าง 985 | 996 | 251 | 404 ที่ล้วนแต่เป็นการอ้างอิงถึงกรณีที่อดีตพนักงานรายหนึ่งของ Huawei ถูกบริษัทฟ้องข้อหา Blackmail ทำให้เขาต้องถูกกุมขังนานร่วมปีก่อนที่เพิ่งจะถูกปล่อยตัวมาหลังพบว่า คดีไม่มีหลักฐานเอาผิดที่ชัดเจนตามที่ Huawei เคยแจ้งความเอาผิดไว้ให้เป็นเหตุ

Mr. Li ผู้ติดคุกฟรีร่วมปีด้วยน้ำมือ Huawei ขณะที่ Meng Wanzhou โพสต์เศร้าเรียกคะแนนจาก Mansion หรูในแคนาดา

ชนวนความดราม่ากันเองภายในประเทศจีนครั้งนี้ เกิดขึ้นในเวลาไร่เลี่ยกันกับที่ นาย Li Hongyuan ผู้เป็นอดีตพนักงาน Huawei Technologies นานกว่า 13 ปีต้องถูกคุมขังอยู่ที่คุกเสินเจิ้น เป็นเวลานาน 251 วัน ก่อนถูกปล่อยตัวเมื่อสัปดาห์ก่อน (ก่อนหน้าที่ Meng Wanzhou จะโพสต์ข้อความหวังทำซึ้งดังกล่าว) โดย Li ผู้นี้ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีกรรโชก ที่ Huawei กล่าวหาว่าเขาได้กระทำการขู่ Blackmail เรื่องความลับทางการค้าของ Huawei เพื่อแลกกับเงินก้อนราว ๆ 50,000 เหรียญ (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) ให้เป็นเงินชดเชยจากการเลิกจ้างเขา

โดยเหตุนี้ต้องย้อนไปในช่วงปี 2018 ที่นาย Li ได้ออกจากการเป็นพนักงานประจำของบริษัท ซึ่งมีข่าวว่าเขาพยายามเจรจาเพื่อให้ได้เงินจากการเลิกจ้างเพิ่มเติมจากที่ได้รับ และ 2 เดือนให้หลังก็พบการโอนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับเขาผ่านบัญชีของพนักงาน Huawei รายหนึ่ง ก่อนที่ทาง Huawei จะโร่เข้าแจ้งความจับนาย Li ด้วยข้อหากรรโชกพร้อมแจงข้อเท็จจริงอ้างว่าถูกนาย Li ขู่ Blackmail ด้วยความลับทางการค้าเพื่อให้จ่ายเงินก้อนใหญ่ให้กับเขานั่นเอง งานนี้ส่งผลให้เขาถูกจับเข้าคุกตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2019 ที่ผ่านมา ถูกฝากขังนอนคุกไปร่วมปีก่อนอัยการจะพบว่า Huawei ไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นพอในการเอาผิด

หลังได้รับการปล่อยตัวเขาได้โพสต์ข้อความบน Social Media รวมถึงให้สัมภาษณ์กับสื่อชั้นนำหลายรายว่า “ไม่มีการกระทำผิด หรือขู่กรรโชกใด ๆ เขาเพียงแค่ต่อรองเงินชดเชยแทนการเลิกจ้างตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งมีเงินก้อนโบนัสประจำปีอยู่ด้วย ที่เขาคิดว่าต้องต่อรองให้ได้ตามสิทธิ์ของแรงงาน… “ งานนี้เล่นเอาชาวเน็ตจีนหัวเสียไปตาม ๆ กันพากันประณาม Huawei ต่าง ๆ นา ๆ ถึงความเย่อหยิ่งและเลือดเย็นของบริษัทนี้ที่กระทำต่อพนักงาน แถมยังเกิดการเปรียบเทียบกับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า Meng Wanzhou นั้นถูกกักบริเวณอยู่ใน Mansion หรูทั้งที่มีมูลความผิด ส่วนนาย Li Hongyuan นั้นต้องนอนคุกฟรี ๆ มาเกือบปี

ผมไม่มีเจตนาที่จะสร้างกระแสมากมายขนาดนี้บนโลกออนไลน์ แต่ผมไม่เสียใจที่พูดความจริงออกไป บางครั้งความจริงก็มีต้นทุนที่ต้องแลก ในช่วงที่ผมอยู่ในคุกนั้น ผมเจ็บปวดเหลือเกิน คุณปู่อันเป็นที่รักของผมช็อคจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเสียชีวิตลง ส่วนลูก ๆ ของผมนั้นต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว ผมหวังว่าคุณจะมีเวลาให้ผมได้พบและทานกาแฟร่วมกันสักวัน… – คำกล่าวของ Li Hongyuan ในจดหมายเปิดผนึกส่งให้ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง Huawei และบิดาของ Meng Wanzhou

โดยตัวเลขเชิงสัญลักษณ์ทั้ง 4 นั้นมีที่มา ซึ่ง 985 มาจากรหัสโครงการพิเศษของนาย Li ที่จบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำก่อนเข้าร่วมทำงานให้กับ Huawei อย่างยาวนาน หรือ 996 คือชั่วโมงการทำงานอันเป็นวัฒนธรรมขององค์กรใหญ่ ๆ ในจีนที่ถูกมองว่าดูดวิญญาณของพนักงาน เพราะทำงานกันตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม และเป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ส่วนตัวเลข 251 นั้นมาจากจำนวนวันที่นาย Li ติดคุกฟรี ๆ และตัวเลข 404 นั้นเด็ดที่สุด เพราะหน้าเพจหลาย ๆ แพลตฟอร์มที่เรื่องราวของ Li เกิดดราม่าขึ้นนั้นกลายเป็นหน้า Error 404 แทนซึ่งงานนี้ชาวเน็ตถล่ม Huawei และรัฐบาลจีนเละว่า “นี่อาจเป็นการยืนยันสิ่งที่พวกเขาโดนกล่าวหาโดยสหรัฐ ฯ มาตลอดว่า รัฐบาลจีนกับหัวเหว่ยนั้นมีความสัมพันธ์เชิงลึกต่อกันจนน่ากลัว… “ แน่นอนว่าการเซ็นเซอร์กันออกไปดื้อ ๆ แบบนี้ไม่น่าจะส่งผลดีต่อ Huawei เอาเสียเลยล่ะ

…หรือในบ้านอย่างจีน ก็จะไม่เหลือความน่าเชื่อถืออีกต่อไป ?

งานนี้อาจจะไม่ใช่แค่ดราม่าธรรมดาเสียแล้ว เพราะอาจส่งผลกระทบในวงกว้างและรุนแรงต่อความน่าเชื่อถือของ Huawei เองที่ในระดับสากลนั้นกำลังมีปัญหา ตั้งแต่เจอกรณีแบนจากฝั่งสหรัฐ ไม่ให้ร่วมทำธุรกิจใด ๆ กับแบรนด์อย่าง Google หรือแม้แต่ในระดับการเมืองเองที่ถูกกล่าวหาอยู่บ่อยครั้งว่าธุรกิจของ Huawei นั้นเป็นเสมือนเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลจีน ซึ่งเดิมทีแล้ว ภายในประเทศจีนเองนั้น แบรนด์ของ Huawei ยังแข็งแกร่งมาก ยอดขายและศักยภาพทางธุรกิจยังคงเติบโตได้อยู่อย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมคุณภาพที่พวกเขามีอยู่ แต่ครั้งนี้อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปถ้า Huawei ไม่เร่งแก้ไขปัญหาความน่าเชื่อให้กับชาวจีนอันเป็นที่รักมาเสมอ

อย่างไรก็ตาม เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่ายเพราะว่า Huawei เองก็ยังยืนยันจะดำเนินคดีกับนาย Li ต่อไปโดยอ้างว่าไม่ใช่การกลั่นแกล้งใด ๆ ต่อกัน แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย หรือ แม้แต่กรณีเซ็นเซอร์ที่หน้าเพจโซเชี่ยลกลายเป็นหน้า Error 404 นั้น ชาวเน็ตก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนเสียทีเดียวว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลจีนที่ถูกสั่งโดย Huawei ให้จัดการเพื่อรักษาภาพลักษณ์เอาไว้ตามที่ถูกกล่าวหานั่นเอง

 

อ้างอิง: The New York Times | The Guardian | BBC News | The Washington Post