จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปีที่กฎหมาย e-Service ได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเอาไว้เพื่อจัดเก็บภาษีจากบรรดา Tech Giants หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ข้ามชาติที่เข้ามาให้บริการในไทย มีรายได้จากคนไทย จะต้องเริ่มเสียภาษีเข้าประเทศที่ให้บริการอย่างบ้านเรากันบ้าง ล่าสุดเข้าใกล้ดีเดย์วันเริ่มประเมินภาษี 1 กันยายน ทางเจ้าของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Google เริ่มเคลื่อนไหวออกอีเมลให้พาร์ทเนอร์โฆษณาอัพเดทข้อมูล VAT เข้าระบบกันแล้ว

บริษัทไอทีข้ามชาติ ต้องจ่ายภาษีเข้าประเทศ

“กฎหมายภาษี e-Service” ที่ประกาศใช้ไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มุ่งบังคับจัดเก็บภาษีครอบคลุมผู้ให้บริการดิจิทัลทุกรายที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (ซึ่งแน่นอนว่าเกินทุกราย) ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการออนไลน์/ดิจิทัลข้ามชาติในรูปแบบใด ๆ ซึ่งถ้าว่ากันคร่าว ๆ  Facebook | Netflix | Disney+ | LINE | Spotify | App Store (Apple) นั้นโดนกันถ้วนหน้าอย่างแน่นอน แต่รายที่อาจจะครอบคลุมพื้นที่การถูกจัดเก็บภาษีเพิ่มมากที่สุดอาจหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่าง Google ที่มีทั้งบริการดาวน์โหลดอย่าง Play Store สตรีมมิ่งอย่าง YouTube Premium และแน่นอนที่สุดคือพื้นที่โฆษณาทั้งหมดใน Ecosystem ของ Google เช่น Display Network (Banner ตามเว็บไซต์), Search Ads (Google Search), Video Ads (YouTube) เป็นต้น

 

Google เริ่มให้กรอกข้อมูลภาษี

อัพเดทล่าสุด ก็เป็นพี่ใหญ่ Google ทำการออกอีเมลแจ้งเตือนไปยังบรรดาพาร์ทเนอร์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของพวกเขาให้เข้าไปอัพเดทข้อมูลสำหรับระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กันก่อนวันที่ 1 กันยายนนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัท ฯ จะสามารถประเมินภาษีในภูมิภาคได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน จากที่ก่อนหน้านี้ทางแพลตฟอร์มอย่าง Google เองไม่ว่าจะเป็นรายรับหรือรายจ่ายเป็นธุรกรรมจากต่างประเทศทั้งหมดไม่เคยมีการจดทะเบียนมูลค่าเพิ่มเอาไว้จนกระทั่งถูกบังคับใช้โดย e-Service Tax นี่แหละ

ผลโดยเบื้องต้นในฐานะพาร์ทเนอร์โฆษณาของ Google (มีส่วนแบ่งรายได้) เช่น ผู้ให้บริการพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ หรือ YouTuber ที่รับส่วนแบ่งทางรายได้จาก Google ซึ่งมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเอาไว้อยู่แล้วกรณีนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะก่อนหน้านี้เวลารับรายได้จากทางแพลตฟอร์มมาก็ต้องมีการทำเรื่องขอชำระ VAT กันอยู่แล้ว วิธีการใหม่นี้จะทำให้สามารถนำการคำนวณหักภาษีบนแพลตฟอร์มมาคำนวณบริหารจัดการต้นทุนเช่น ภาษีซื้อ – ภาษีขายได้ แต่หากไม่มีการจด VAT เอาไว้ก็อาจถูกตัดสัดส่วน 7% ตรงนี้เอาไว้โดยไม่สามารถนำไปหักคืนตามวิธีการทางบัญชีได้เช่นกัน

 

เก็บภาษีแล้ว ค่าบริการจะแพงขึ้นไหม

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเรื่องต้นทุนที่แท้จริง จากที่ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างบรรดา Tech Giants ทั้งหลายนั้น จะมีวิธีการบริหารจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาตรงนี้อย่างไร ซึ่งผู้ประกอบการและชาวเน็ตไทยแอบเป็นกังวลกันพอสมควรว่าจะมีการผลักภาระมาเพิ่มค่าบริการหรือมีการแบ่งสัดส่วนรายได้ที่ลดหย่อนลงไปราว 7 – 10% แทนหรือไม่ คงต้องตามรอดูพวกเซอร์วิสต่างๆ ว่าจะมีการบวกค่าสมาชิกหรือการใช้บริการเพิ่มเติมหรือไม่ ในช่วงปลายปีนี้ครับ

 

อ่านเพิ่มเติม: กฎหมาย e-Service บังคับใช้แล้ว | Google, YouTube, Facebook, และทุกบริการจากต่างชาติ ต้องเสียภาษีเข้าประเทศจริงๆ(สักที)