คณะกรรมการธิการยุโรปออกแถลงการณ์รับไม่ได้กับคำตัดสินล่าสุดสำหรับประเด็นข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีของ Apple ที่มีสาธารณรัฐไอร์แลนด์เป็นเสมือนผู้สมรู้ร่วมคิดในคดี หลังศาลอุทธรณ์ยุโรปมีคำตัดสินว่า Apple ไม่มีความผิดโดยมีไอร์แลนด์เป็นพยาน โดยล่าสุดคณะกรรมาธิการต่อต้านการผูกขาดการค้าเตรียมทำเรื่องดำเนินการยื่นศาลสูงสุดของยุโรปต่อไป ขอสู้ต่ออีกยกหลังส่อแววสูญเงินภาษีมูลค่าสูงสุดเกือบ 5 แสนล้านบาท

คดีที่ยังไม่มีข้อสรุป… EU ยื่นฟ้อง Apple ตั้งแต่ปี 2016 ข้อหาเลี่ยงภาษีในไอร์แลนด์ร่วม 5 แสนล้านบาท ล่าสุดศาลกลับคำตัดสิน !

สำหรับประเด็นปัญหา 5 แสนล้านดังกล่าวเกิดเป็นคดีความใหญ่โตขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2016 โดยคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป (The European Commission) เป็นฝ่ายยื่นฟ้อง Apple ต่อศาลยุติธรรมของยุโรป ในข้อหาจงใจหลีกเลี่ยงภาษีจากรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในยุโรป โดยกล่าวหาว่า Apple ใช้วิธีการโยกย้ายรายได้ให้ผ่านระบบบัญชีของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งโดยธรรมชาตินั้น ก็เป็นประเทศที่มีอัตราภาษีธุรกิจที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินที่สุดในโลกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

  • อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของทั้งโลกเฉลี่ย 25 – 30%
  • ไอร์แลนด์อยู่ในกลุ่มจัดเก็บภาษีถูกที่สุดในโลกที่อัตรา 12.5%
  • ประเทศไทยของเราจัดเก็บภาษีอยู่ที่อัตรา 20%

ตามข้อกล่าวหาของ EU นำโดยนาง Margrethe Vestager ผู้อำนวยการดูแลด้าน Antitrust (หรือปัญหาการผูกขาดทางการค้า) ได้มีการสืบสวนสรุปความได้ว่า “ไอร์แลนด์มอบดีลสุดพิเศษให้กับ Apple ชนิดที่ชาวไอร์แลนด์ทั้งประเทศก็รู้กันดีว่า มีบริษัทเทคโนโลยีบางรายจ่ายภาษีเงินได้อยู่ที่อัตรา 0.05% เท่านั้น สิ่งนี้เป็นการขัดต่อข้อตกลงของประเทศสมาชิกแห่งสหภาพยุโรป” ซึ่งหมายถึงการจัดเก็บภาษีต้องเป็นธรรมต่อสหภาพโดยรวม

โดยสรุปแล้ว ปัญหาคือรัฐบาลไอร์แลนด์นั้นรวมหัวกับ Apple ในการบริหารจัดการดีลภาษีสุดพิเศษที่ถึงแม้จะสร้างรายได้เข้ารัฐน้อยลงไปมาก แต่ก็เป็นการสร้างงานรวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ดีหากมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับ Apple เข้ามามีสำนักงานหลักอยู่ในประเทศ อย่างไรก็ตามศาลชั้นต้นได้มีคำตัดสินออกมาช่วงปีก่อนเป็นที่เรียบร้อยว่า Apple มีความผิดจริงและจะต้องชดใช้เงินค่าเสียหายให้กับ EU ผ่านไอร์แลนด์สูงถึงกว่า 13,000 ล้านยูโร คิดเป็นไทยร่วม 5 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ซึ่งแน่นอนว่าระดับ Apple ย่อมไม่พอใจยื่นขออุทธรณ์ทันควันแถมคราวนี้มีการเรียกบุคลากรระดับผู้นำของรัฐบาลไอร์แลนด์เข้าให้การในคดีเป็นพยานอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้ล่าสุดเมื่อช่วงเดือน กรกฎาคม 2020 ทีผ่านมา ศาลอุทธรณ์กลางของยุโรปก็ได้กลับคำพิพากษาในที่สุด ตัดสินว่า Apple ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา ด้วยเหตุว่าได้จ่ายภาษีอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ทางภาษีของไอร์แลนด์ทุกประการ โดยมีรัฐบาลไอร์แลนด์ช่วยยืนยันให้

EU เล็งยื่นฎีกา ขอสู้ต่อเพื่อสร้างบรรทัดฐานด้านการจัดเก็บภาษีของยุโรป หวังจัดการปัญหา “Sweetheart Deal”

คำตัดสินล่าสุดนั้นทำให้ทางตัวแทนของ EU นั้นหัวเสียไปตาม ๆ กันเลยก็ว่าได้ เพราะปัญหาการจัดเก็บภาษีนั้นเป็นหนึ่งในนโยบายหลักสำหรับการปรับโครงสร้างทางรายได้ให้เข้ากับยุคสมัยแห่งโลกดิจิทัลซึ่ง EU เองมีการออกกฎระเบียบด้านนี้เอาไว้ว่า “ประเทศสมาชิกจะไม่สามารถให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ธุรกิจรายได้เป็นกรณีพิเศษไม่ได้ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายภายใต้กฎการอนุเคราะห์ทางการเงินแห่งสหภาพยุโรป”

จาก Statement ข้างบนนี้ แปลโดยสรุปได้เลยว่า EU เองก็มีกฎเรื่องของการรับเงินสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอยู่ ซึ่งประเทศเหล่านั้นจะไม่สามารถมอบสิทธิพิเศษแบบเฉพาะรายได้ (เว้นแต่ว่ามีมาตรฐานอัตราภาษีที่ถูกอยู่แล้วเป็นการชัดเจน) ซึ่งลำพังมาตรฐานอัตราภาษีของไอร์แลนด์เดิมมันก็ถูกมากอยู่แล้วดันเล่นลดลงไปเหลือแทบเป็น 0% ตามข้อกล่าวหา ซึ่งแน่นอนว่าบรรดา Tech Giants ที่ทุกวันนี้มาจากฝั่งอเมริกาและจีนเป็นหลักก็ต้องเลือกไปตั้งสำนักงานที่ไอร์แลนด์น่ะสิ

ปัญหานี้ทำให้ล่าสุดทาง EU ได้ประกาศชัดว่ากำลังศึกษารายละเอียดพร้อมตั้งเรื่องเพื่อดำเนินการยื่นศาลสูงสุดของยุโรปในการสู้คดีต่อไป ด้วยมูลค่าเม็ดเงินนั้นมหาศาลถึงร่วม 5 แสนล้านบาท แน่นอนว่าไม่มียอมง่าย ๆ

งานนี้ EU เองก็กำลังหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดีลสุดพิเศษแต่ไม่ค่อยเป็นธรรมเช่นนี้อยู่ด้วย เพราะเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ประเทศเล็ก ๆ มักได้ประโยชน์ไปแบบไม่สนแม้กระทั่งเม็ดเงินเข้าประเทศตัวเองแบบนี้ปล่อยไว้ย่อมไม่เป็นการดี คือยุโรปอาจกลายเป็นแค่กลุ่มประเทศระดับปฏิบัติการให้กับ Tech Giants ที่แทบไม่ได้รับส่วนแบ่งทางรายได้เลยนั่นเอง ซึ่งวิธีการนี้ก็มีชื่อเล่นให้นักข่าวสายธุรกิจของยุโรปเรียกกันแล้วด้วยว่า “Sweetheart Deal” หรือแปลตรง ๆ คงนิยามได้ทำนองว่า “ดีลหวานเจี๊ยบ” ชนิดให้ทุกอย่าง ไม่ขอแบ่งเงินสักแดงเดียว ขอแค่มาลงทุนตั้งสำนักงานกับเราก็พอแล้ว

 

อ่านเพิ่มเติม: Tech Giants ไม่เสียภาษี? ทำไมทำได้? ประเทศต่างๆยอม?

อ้างอิง: The Verge | CNN Business | BBC