คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) แถลงเริ่มต้นกระบวนการสอบสวน Apple อย่างเป็นทางการแล้ว กับข้อหา “ผูกขาดทางการค้า” ที่บรรดาธุรกิจที่เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของ Apple ทั่วโลกนั้น ได้ร้องเรียนกันเป็นระยะ ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดมี Spotify และ Rakuten ร่วมแจมยื่นเรื่องฟ้องร้องว่า Apple นั้น ละเมิดนโยบายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรปโดยอาศัยความเป็นเจ้าของระบบปิดเพื่อผูกขาดการให้บริการต่าง ๆ นั่นเอง

งานเข้า Apple กันอีกแล้ว กับปัญหาประเด็นความพยายามในการสร้างอาณาจักร หรือ Ecosystems ของพวกเขา ซึ่งอาศัยความเป็นระบบปิดแล้วตั้งตัวเป็นแพลตฟอร์มทางผ่านให้แก่ทุก ๆ ธุรกิจที่ต้องการนำเสนอบริการใด ๆ ไปยังผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ Apple ทั้งหลาย ซึ่งถึงแม้จะทำให้เกิดการควบคุมคุณภาพของเนื้อหาและบริการได้เป็นอย่างดี (ลองเปรียบเทียบคุณภาพ Appsโดยรวมระหว่าง iOS กับ Android ดูสิ :lol:) แต่ก็ทำให้เกิดประเด็นการผูกขาด หรือ กีดกันทางการค้าได้ง่ายมาก อย่างที่ Apple ต้องพบเจอข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอดโดยเฉพาะในปีหลัง ๆ ที่พัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการอะไรออกมา ก็ไม่วายถูกคู่ค้าและคู่แข่งโจมตีในประเด็นดังกล่าว

ล่าสุดออกอาการหนัก ถูกคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่เป็นองค์กรฝ่ายบริหารที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการควบคุมกฎระเบียบโดยเฉพาะประเด็นทางการค้าโดยตรง ออกแถลงเริ่มกระบวนการสอบสวน Apple อย่างเป็นทางการ กรณีผูกขาดทางการค้า หรือ Antitrust โดยเบื้องต้นจะเป็นการสอบสวนและรับฟังพยานที่เป็นคู่ค้าที่ร้องเรียนกันเข้ามาตลอดหลายปีที่ผ่านมาก ซึ่งจะเน้นไปที่แพลตฟอร์มหลัก อย่าง App Store และ Apple Pay กันก่อนเลยเพราะมีปัญหาถูกฟ้องร้องสะสมหนักที่สุด

App Store | ระบบ in-app purchase กับข้อกล่าวหา “ผูกขาดทั้งคู่แข่งและคู่ค้า”

สำหรับแพลตฟอร์มแรกที่ถูกตั้งเรื่องสอบสวนก่อนใครอย่างไม่ต้องสงสัย คือ App Store พื้นที่นำเสนอบริการแอปพลิเคชั่นของ iOS – iPadOS – MacOS ให้แก่ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Apple ทั้งหลายนั่นเอง โดยถือเป็นข้อกล่าวหาหนักที่สุดจากบรรดาธุรกิจดิจิทัลทั่วโลกเลยก็ว่าได้ เพราะด้วยความที่ระบบปฏิบัติของ Apple นั้นเป็นระบบปิด การออกกฎเกณฑ์รูปแบบการเก็บค่าบริการสำหรับแอปพลิเคชั่นใน App Store และรวมไปถึงการหักค่าธรรมเนียมรายได้ราว 30% ซึ่งถือว่าแพงที่สุดสำหรับตัวเลขค่าธรรมเนียมของแพลตฟอร์มให้บริการบนโลกดิจิทัลแล้วก็ไม่ผิดนัก

สำหรับคู่กรณีรายล่าสุดของ Apple ที่ชงเรื่องมาถึง EU นั้นได้แก่ผู้ให้บริการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งเบอร์ 1 ของโลกอย่าง Spotify ที่ถึงขั้นเคลมว่า “การให้บริการบนแพลตฟอร์มของ Apple นั้นสร้างฐานผู้ใช้บริการอย่างเดียว แต่แทบไม่ทำกำไรให้พวกเขาเลย” จากการบังคับเก็บค่าธรรมเนียมรายได้สูงถึง 30% ในขณะที่คู่แข่งรายสำคัญของพวกเขาอย่าง Apple Music นั้นกลับไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ส่งผลให้เป็นการแข่งขันที่ไม่แฟร์แบบเห็น ๆ

นอกจากนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังมี Rakuten ผู้ให้บริการ e-commerce สัญชาติญี่ปุ่นที่ออกมาเรียกร้องให้เกิดการจัดการกับ App Store เช่นเดียวกัน จากการที่ Apple มีกฎระเบียบสำหรับผู้ให้บริการ e-books และ audiobooks ต้องเปิดการซื้อขายผ่าน in-app purchase เท่านั้นหากต้องการใช้บริการดังกล่าวใช้งานได้บนอุปกรณ์ Apple ส่งผลให้บริษัทไม่มีทางเลือกสำหรับการแข่งขันด้านราคาที่สมเหตุสมผลได้เลยหากต้องการทำกำไรให้ได้บนแพลตฟอร์มของ Apple

Apple ในฐานะเจ้าของนั้น มีหน้าที่เสมือน Gatekeeper ดูแลความปลอดภัยรวมถึงคุณภาพของแพลตฟอร์มและการให้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่คณะกรรมาธิการจำเป็นต้องดำเนินการให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้กำลังพยายามแทรกแซงการแข่งขันของตลาดเพื่อผูกขาดบริการของพวกเขาอย่างเช่นกรณีของ Apple Music หรือ Apple Books – Margrethe Vestager | เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการผูกขาดทางการค้าของคณะกรรมาธิการยุโรป

Apple Pay | นโยบายผูกขาดทางเลือกสำหรับ Mobile Payments

นอกจากประเด็นของ App Store ที่เป็นปัญหาใหญ่มาระยะหนึ่งแล้วนั้น Apple ยังถูก EU ตั้งเรื่องสอบสวนในกรณีแพลตฟอร์ม Mobile Payment ของพวกเขาอย่าง Apple Pay อีกด้วย หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายสำหรับผู้ให้บริการ ทั้งสินค้าและบริการใน App หรือ Website บนอุปกรณ์ Apple “ที่ส่อแววจะเป็นการ แทรกแซงและบิดเบือนการแข่งขันที่มีลักษณะเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Feature การจ่ายเงินผ่าน iPhones แบบ “Tap and Go” ที่กำหนดให้ต้องใช้ Apple Pay เป็นตัวกลางการจ่ายเงินเท่านั้น

รูปแบบการทำงานดังกล่าวนั้น สามารถเปิดให้ผู้ให้บริการตัวกลางรายอื่น ๆ ร่วมใช้ฟีเจอร์การ “แตะ จ่าย จบ” ได้เองด้วย อย่างที่บรรดา Mobile Payment Apps บน Android สามารถยกเอา Functionality นี้ไปพัฒนาต่อได้เอง เช่น App ธนาคารต่างประเทศหลายรายที่เริ่มให้บริการ Tap and Go กันมาหลายปีแล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้ Google Pay เป็นตัวกลางบังคับเสมอไปนั่นเอง อย่างไรก็ตามตัวแทนของ Apple นั้นไม่เห็นด้วยกับการสอบสวนนี้อย่างแน่นอน ก่อนจะออกแถลงการณ์ตอบโต้เอาไว้เป็นการเบื้องต้นดังนี้

สิ่งที่คณะกรรมการ ฯ กำลังทำนั้น ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่เลื่อนลอยของธุรกิจจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ต้องการจะลดต้นทุนกันดื้อ ๆ โดยไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เดียวกันกับผู้เล่นรายอื่น ๆ บนแพลตฟอร์มในเรื่องของมาตรฐานการดูแลความปลอดภัยของระบบและค่าธรรมเนียมการให้บริการ ซึ่งจุดประสงค์ของ Apple นั้นเพียงแค่ต้องการให้ลูกค้าของเราเข้าถึงได้เฉพาะทางเลือกและบริการที่ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุดก็เท่านั้น และเรายินดีที่จะแสดงให้คณะกรรมาธิการ ฯ ได้เห็นต่อไป – คำแถลงจาก Apple

อันที่จริงก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นปี 2020 นี้เอง Apple ก็เพิ่งจะถูกรัฐบาลฝรั่งเศสสั่งปรับเงินไปอ่วม ๆ ร่วม 4 หมื่นล้านบาท จากประเด็นผูกขาดทางธุรกิจ หรือ Antitrust นี่แหละ โดยมีมูลมาจากกรณีถูกจับได้ว่าไปแอบเจรจาธุรกิจกับคู่ค้ารวมถึงตัวแทนจำหน่ายบางรายอย่างลับ ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันด้านราคาระหว่างกันเองซึ่งส่งผลให้คู่แข่งรายอื่นรวมถึงผู้บริโภคเสียประโยชน์นั่นเอง นอกจากนั้นทางการสหรัฐ ฯ เองก็กำลังทยอยเรียกบรรดา Tech Giants ไม่ว่าจะเป็น Apple – Google – Facebook – Amazon เวียนกันขึ้นให้ถ้อยคำในปัญหาการผูกขาดทางการค้าด้วยเช่นกัน

 

อ้างอิง: CNN Tech | Business Insider |