งานนี้ต้องยอมรับในไอเดียสุดล้ำของสภาคองเกรซสหรัฐ ฯ จริง ๆ เพราะนอกจากจะทยอยเรียกกลุ่มยักษ์ใหญ่สายเทคโนโลยี (Tech Giants) สัญชาติอเมริกันเข้าพบเพื่อหารือจนแทบจะครบทุกชื่อที่พวกเรารู้จักกันดีแล้วนั้น ล่าสุดสภาทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างเห็นชอบร่วมกันในร่างกฎหมายใหม่ที่จะเข้ามากำหนดให้แพลตฟอร์มอย่าง Facebook นั้นต้องปรับโครงสร้างการทำงานของระบบ ให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการสามารถใช้งานและย้ายข้ามแพลตฟอร์มได้โดยง่าย

กฎหมายใหม่ เพื่อเสรีภาพขั้นสุดของผู้บริโภค บังคับ Tech Giants เปิดระบบให้ย้ายหนีได้

กฎหมายใหม่ที่ว่านี้มีชื่อว่า “Augmenting Compatibility and Competition by Enabling Service Switching Act” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ACCESS Act” โดยมีเจตนารมณ์หลัก ๆ ที่ชัดเจนหากแปลความตามชื่อเลยคือ เพื่อสร้างความสามารถในความเข้ากันได้และการแข่งขันข้ามแพลตฟอร์มโดยวิธีการบังคับเปิดระบบให้ย้ายบริการได้ หากเพื่อน ๆ นึกไม่ออกให้นึกภาพว่าเหมือน การย้ายค่ายผู้ให้บริการมือถือบ้านเราที่ต้องทำได้โดยง่าย แต่นำไปบังคับใช้กับแพลตฟอร์มให้บริการเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Facebook แทนนั่นเอง 💡 !

ที่น่าสนใจมากคือทั้งสภาคองเกรซของสหรัฐ ฯ ที่ประกอบไปด้วย 2 พรรคใหญ่นั้น ล้วนแล้วแต่แสดงความเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการออกกฎหมายนี้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นทั้งการสร้างระบบอันเข้มงวดต่อผู้ให้บริการ และ ส่งเสริมการแข่งขันที่ไร้อำนาจผูกขาดทางการค้า โดยงานนี้ธุรกิจที่อาจจะอยู่ไม่สุขมากที่สุด น่าจะมีชื่อ Apple | Facebook | Google แถว ๆ นี้นี่แหละ เพราะลงทุนไปมากกับการสร้าง Ecosystem ของตัวเองให้ผู้บริโภคอยู่ในพื้นที่บริการของพวกเขา ไม่สามารถหนีออกไปจากแพลตฟอร์มได้ง่ายนัก

ข้อมูลของพวกคุณ คือทรัพย์สินโดยสมบูรณ์ของพวกคุณ หลักการนี้ต้องชัดเจน ฉะนั้นแล้วผู้บริโภคควรที่จะมีทางเลือกบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกรูปแบบ โดยไร้ซึ่งกำแพงใด ๆ กั้น – วุฒิสภา Josh Hawley | สภาคองเกรซ

สหรัฐ ฯ หวังทำลายกำแพงผูกขาดทางการค้า ผู้บริโภครับประโยชน์ ส่วน Facebook นั้น กุมขมับรอได้เลย…

อีกหนึ่งไม้เด็ดของร่างกฎหมายฉบับนี้นั้นคือ การบังคับให้บริการออนไลน์ทุกเจ้า ! ต้องต่อ API (Application Programing Interface) เป็นระบบเปิดเข้าด้วยกันผ่านตัวกลางที่ควบคุมโดย คณะกรรมาธิการการค้า (Federal Trade Commission) ของสหรัฐ ฯ อีกที เผื่อในกรณีที่ผู้บริโภครายใด ๆ ต้องการย้ายออกจากบริการหนึ่งไปยังอีกบริการหนึ่งนั้น ต้องทำได้โดยง่ายและสมบูรณ์ เช่น ย้ายจาก Facebook ไป Hi5 😆 ต้องจบได้ในไม่กี่คลิ๊กและต้องเลือกได้ด้วยว่าข้อมูลที่ย้ายนั้น Facebook ต้องลบของเราออกให้หมดทันทีที่มีการย้ายออกเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์

ร่างกฎหมายนี้ถูกมองว่า นอกจากจะเป็นการยกระดับการกำกับดูแลเหล่าบริการออนไลน์เพื่อคุ้มครองสิทธิในข้อมูลของผู้บริโภคอย่างเต็มที่แล้วนั้น ยังเป็นกลยุทธ์ในการแก้เกมส์ผูกขาดทางการค้าผ่าน Ecosystem ของเหล่าธุรกิจสายเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ปัจจุบันนั้น กำลังเข้าสู่ยุคทองของตนเองกันอย่างเต็มที่เลยล่ะ หากมองจากอาณาจักรขององค์กรเหล่านี้ จะเห็นได้ว่ามีรูปแบบของบริการที่ครอบคลุมในทุก ๆ การเคลื่อนไหวของชีวิตเราเต็มไปหมด แถมเข้าไปแล้วออกยาก 😆 หนึ่งในนั้นก็คือ Facebook Inc. ซึ่งนับเป็นที่หมายตาของรัฐบาลสหรัฐ ฯ มาสักพักใหญ่ ๆ แล้วในเรื่องนี้นั่นเอง  😐

โดยหากมองจาก Facebook เป็นตัวอย่าง จะเห็นว่าได้มีความพยายามเพิ่มฟังก์ชั่นการควบคุมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการที่สามารถทำได้เองมากขึ้นอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะแง่มุมของการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของตัวผู้บริโภคเองได้นั้น ได้มีการเปิดให้เราสามารถดาวน์โหลดข้อมูลมาดูได้ว่า Facebook จัดเก็บข้อมูลอะไรของเราไปบ้างนับตั้งแต่ใช้บริการมา

อย่างไรก็ดี กรณีนี้ต่างออกไปมาก เพราะคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะส่งผ่านข้อมูลผู้ใช้งานไปยังคู่แข่งได้แม้จะผ่านตัวกลาง และก็คงไม่ใช่แค่ Facebook แต่คิดว่าไม่น่ามีบริการออนไลน์เจ้าใดอยากทำเป็นแน่ เพราะถ้าเพื่อน ๆ จะสามารถพากันย้ายที่เล่นโซเชียลได้ง่าย ๆ ราวกับย้ายค่ายมือถือขนาดนี้ล่ะก็ Tech Giants จะต้องพบเจอกับการแข่งขันที่สูงมากกว่าที่เคย ส่วนผู้บริโภคอย่างเรา ๆ นั้น แน่นอนว่ารอรับประโยชน์จากการแข่งขันราวกับค่ายมือถือแย่งลูกค้ากันยังไงยังงั้นเลยล่ะ งานนี้ 😎

 

อ้างอิง: The Verge