กระแส AI ที่กำลังบูมไปทั่วโลก ณ เวลานี้ เกิดจากพัฒนาการด้านการทดลอง งานวิจัย และบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งนอกจากการทุ่มแรงกายและแรงเงินเพื่อพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ให้ฉลาดขึ้นแล้ว ยังต้องทุ่มเทกับการโฆษณาเพื่อดึงความสนใจจากคนทั่วไป ให้เกิดการรับรู้ และความอยากที่จะใช้เหล่าสินค้าและบริการ AI ด้วย จนหลายครั้งกลายเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค เมื่อคำโอ้อวดคุณสมบัติของ AI จากบริษัทเหล่านี้ กลับไม่สะท้อนความเป็นจริงของสินค้า
Tesla ปลอมคลิปแสดงความสามารถ Self-Driving Car
เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามาพร้อม ๆ กันกับเทคโนโลยีรถไร้คนขับ Autopilot หรือ Self-Driving Car ที่ทาง Tesla ก็ยกมาเป็นจุดเด่นของแบรนด์ด้วย โดยมีการสาธิตความสามารถของระบบ เป็นวิดีโอที่แสดงการขับเคลื่อนรถตามถนน จอดส่งคน และไปหาที่จอดในลานจอดรถได้เอง
แต่ต่อมาหลังจากมีคดีรถเทสล่าขับชนคนจนเสียชีวิตด้วยระบบ Autopilot เมื่อปี 2018 วิดีโอนี้จึงถูกหยิบขึ้นมาเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี และจึงถูกเฉลยโดยวิศวะของ Tesla ว่า วิดีโอดังกล่าวถูกจัดฉากขึ้น ด้วยการให้ข้อมูลแผนที่แบบสามมิติให้กับโปรแกรมของรถก่อน ไม่ใช่ความสามารถที่เกิดขึ้นจากระบบเองแบบ 100%
ทั้งนี้ พนักงานวิศวะก็ให้ข้อมูลว่า วิดีโอดังกล่าวมีเจตนาที่จะสาธิตความสามารถเมื่อระบบ Autopilot พัฒนาไปถึงขั้นสูงสุด ไม่ได้ต้องการแสดงความสามารถของระบบจริง ๆ ในตอนนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับทวีตของ Elon Musk ที่ใช้คำเหมือนว่าเป็นความสามารถจริงของรถ Tesla
GM Cruise ระบบไร้คนขับ ที่ใช้พนักงานช่วยขับ
อีกเรื่องในวงการยานยนต์มาจาก Cruise บริษัทรถยนต์ไร้คนขับของ GM ที่ให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับในเมืองซานฟรานซิสโก หลังเกิดอุบัติเหตุรถขับชนคนเดินข้างถนน ทางบริษัทจึงต้องออกมาชี้แจงการทำงานของระบบ Autopilot และได้เผยว่า มีการใช้คนจริง ช่วยระบบขับรถประมาณ 2-4% ในพื้นที่เมืองที่การจราจรมีความซับซ้อน โดยเฉลี่ยแล้วต้องใช้พนักงานราว 1.5 คนในการช่วยดูแลรถยนต์ 1 คัน และต้องคอยเช็คทุก ๆ 4 กม. (ก่อนให้สัมภาษณ์ใหม่ว่าทุก ๆ 6 – 8 กม.)
Google Duplex จัดฉาก Assistant
Google โชว์ความสามารถใหม่ของ Assistant ที่เรียกว่า Duplex เป็นฟีเจอร์ AI ที่สร้างเสียงมนุษย์มาพูดคุย รับคำสั่งจากเราแล้วไปโทรต่อเพื่อทำธุระนัดหมายแทนเราได้ โดยก่อนสาธิตการทำงานบนเวที Google I/O 2018 ทางซีอีโอ Sundar Pichai ก็พูดว่า เดโมที่กำลังจะได้ดูกัน เป็นบนสนทนาที่เกิดขึ้นจริง
แม้จะเรียกกระแสฮือฮาไปได้ แต่สื่อบางแหล่งก็ตั้งข้อสังเกตว่า บทสนทนาที่เกิดขึ้นมีความผิดปกติอยู่หลายส่วน เพราะทั้งสองธุรกิจที่คนโทรไปนัดหมายนั้น ไม่มีการเอ่ยถึงชื่อร้านเพื่อแนะนำตัวตอนต้นสาย และเสียงที่ได้ยินก็ชัด ไม่มีเสียงสิ่งรบกวนใด ๆ เลย เป็นเหตุให้คนรู้สึกสงสัยว่าเดโมที่ Google โชว์จะใช่ของจริงหรือไม่
Google Gemini เก่งเกินจริง
Google Gemini เคยโดนนำมาโชว์เมื่อปลายปี 2023 และมีจังหวะที่น่าตื่นเต้นที่สุด เป็นช่วงที่ AI สามารถมองเห็นและดูออกได้ว่า สิ่งที่อยู่ในวิดีโอคืออะไร กำลังทำอะไร และประมวลออกมาได้อย่างรวดเร็วแบบ Real-time
แต่ปัญหาอยู่ที่ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่สิ่งที่เห็นแบบในการสาธิต เนื่องจาก Google ไม่ได้นำวิดีโอให้ Gemini ดูแล้วได้คำตอบทันที แต่ใช้วิธีแคปภาพจากวิดีโอนำไปให้ Gemini และยิ่งไปกว่านั้น คือวิดีโอที่นำมาแสดงก็มีการตัดต่อ ปรับลดเวลาให้ดูเหมือนว่า Gemini ตอบได้เร็วขึ้นด้วย ซึ่งแม้เรื่องการลดระยะเวลาจะมีแจ้งอยู่ใต้วิดีโอ แต่ก็ต้องกดขยายเพื่อหาให้เจอ และไม่ได้มีการบอกในตัววิดีโอด้วย
Facebook แชตบอต M ที่ใช้มนุษย์ 70%
Facebook เคยมีโปรเจกต์ M ในปี 2017 เป็นแชทบอตที่เอามาสู้กับระบบ AI ของค่ายอื่น โดยมีจุดเด่นคือมีการใช้มุนษย์จริง ๆ มาคอยตอบคำถามของผู้ใช้งาน ในกรณีที่บอตไม่สามารถตอบได้ ทำให้เป็นจุดเด่นที่บริษัทอื่นไม่มี
แต่พบเป็นข่าวอีกทีคือตอนที่ Facebook ยกเลิกโครงการนี้ไป พร้อมได้รู้สถิติว่า จากคำถามของผู้ใช้งานทั้งหมด จำเป็นต้องใช้มนุษย์ในการตอบมากถึง 70% หรือพูดง่าย ๆ ว่าระบบบอต AI นั้นยังไม่พร้อมที่จะใช้งานมากพอ จึงเป็นระบบที่ไม่สามารถขยายสเกลให้มีขนาดใหญ่พอรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากได้
Amazon Just Walk Out ร้านค้าไร้คนขาย
ร้านค้าไร้คนขาย เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นจริงแล้วในหลายแห่งทั่วโลก โดยทาง Amazon ก็มีโครงการ Just Walk Out ที่เป็นร้านซูเปอร์มาร์เก็ตขายของแบบที่ให้ลูกค้าแค่หยิบของแล้วเดินออกจากร้าน ระบบก็จะตัดเงินในบัญชีเป็นการเช็คเอาท์เองเลย โดยใช้ระบบ AI มาคอยประมวลภาพจากกล้องวงจรปิดภายในร้าน
ล่าสุดในปีนี้ โครงการ Just Walk Out ถูกยกเลิกไปเสียแล้ว เนื่องจากหลังการพยายามพัฒนาระบบมานาน ตัว AI ก็ยังไม่มีความสามารถถึงเป้าที่ต้องการ และมีข้อมูลออกมาว่าเบื้องหลังระบบนี้จริง ๆ ต้องใช้คนคอยเช็คดูกล้องแล้วกดยืนยันการชำระเงิน โดยมีการจ้างพนักงานในอินเดียกว่า 1,000 คน มาคอยจัดการด้านนี้
Rabbit R1 เป็นแค่แอป Android
Rabbit R1 เป็นอุปกรณ์ผู้ช่วยส่วนตัวขนาดเล็ก ที่สามารถรับฟังคำสั่งเสียงของเรา แล้วปฏิบัติตามคำสั่งได้ โดยชูจุดขายเรื่องฮาร์ดแวร์ที่มีเพื่อรองรับการประมวลผลด้าน AI โดยเฉพาะ ในตอนที่เปิดตัวก็เรียกกระแสความสนใจได้มาก หลายคนมองว่าอาจเป็นการเบิกทางสำหรับสินค้าประเภทใหม่ได้เลย
แต่หลังเปิดตัวมา สื่อนอกก็ได้ไปพบว่า ระบบซอฟต์แวร์ของ Rabbit R1 นั้นจริง ๆ แล้วเป็นเพียงแค่แอปแอนดรอยด์ตัวหนึ่ง ที่ส่งการประมวลผลขึ้นไปจัดการบน Cloud และยังมีการเอาไฟล์มาติดตั้งลงบนมือถือ Android ได้ด้วย แม้การติดตั้งแบบนี้อาจไม่รองรับฟีเจอร์บางอย่าง แต่สุดท้ายแล้วระบบแอปสามารถนำมาใช้บนมือถือได้ กลายเป็นว่าตัวอุปกรณ์หลักก็ไม่ได้จำเป็นต้องซื้อมาใช้ขนาดนั้น
Humane Ai Pin
Humane Ai Pin เป็นอีกสินค้าประเภทเดียวกันกับ Rabbit R1 หรือตัวผู้ช่วยส่วนตัวขนาดเล็กที่เอามาติดเสื้อได้ โดยมีวิดีโอสาธิตความสามารถหลากหลาย เช่น การถามแล้วได้คำตอบแบบทั่วไป การให้กล้องสแกนอาหารแล้วคำนวนแคลอรี่ และการใช้แสงเลเซอร์ยิงออกมาแสดงข้อมูลได้บนมือ โดยตัว Humane Ai Pin มีราคา 699 ดอลลาร์ (~25,700 บาท) และหลังซื้อมาต้องสมัครค่าบริการเพิ่มอีก 24 ดอลลาร์ต่อเดือน (~880 บาท)
ตั้งแต่เปิดตัวมาพร้อมกับราคาที่แพง กับค่าบริการรายเดือน แค่นี้ก็ทำให้หลายคนส่ายหน้ากันแล้ว แต่ยิ่งมามีแผลใหญ่เพราะในวิดีโอสาธิตการใช้งาน มีคนจับได้ว่าตัว AI มีการให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ในเรื่องสถานที่เหมาะสมในการดูปรากฏการณ์สุริยุปราคา และการประเมินแคลอรี่ในถั่วอัลมอนด์
ไม่เพียงเท่านั้น หลังชาวเน็ตจับข้อผิดพลาดได้ Humane ก็รีบแก้ไขวิดีโอให้ข้อมูลถูกต้อง แต่กระแสแง่ลบก็พุ่งขึ้นมามากแล้ว เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการให้ข้อมูลผิด แต่ยังรวมถึงประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีตามที่บริษัทโฆษณาเอาไว้ ถึงขนาดที่นักรีวิว MKBHD บอกว่าเป็นสินค้าที่แย่ที่สุดที่เคยรีวิวมา
Sora วิดีโอ AI ที่ใช้ทีม Production สร้าง
หลายคนอาจเคยเห็นวิดีโอ Sora จาก OpenAI ที่สามารถสร้างวิดีโอความสมจริงสูงได้จากคำสั่ง Prompt เลือกมุมกล้อง วัตถุ ฉากที่มีความซับซ้อนสูง เหมือนชมภาพยนต์โปรดักชันใหญ่สร้างขึ้นมา จนเป็น Viral ไปทั่วอินเทอร์เน็ตอยู่ช่วงหนึ่ง
แต่แท้จริงแล้ว มีวิดีโอที่ไม่ได้เกิดขึ้นจาก AI 100% แต่มีทีมโปรดักชันที่ออกไปถ่ายฉากต่าง ๆ นำมาตัดต่อ โดยใช้ AI มาช่วยในบางส่วน อย่างวิดีโอ ‘Air Head’ นี้ก็มีคลิปเบื้องหลังออกมา แสดงว่าฉากต่าง ๆ รวมถึงนักแสดงนั้น เป็นของจริง และยังมีการระบุว่าสิ่งที่ Sora AI สร้างออกมานั้นมีความไม่แน่นอน และต้องใช้มนุษย์คอยจัดการแก้ไขอยู่ตลอด ไม่ได้เป็นการที่ใส่ Prompt คำสั่งไปแล้วได้วิดีโอสมบูรณ์ครบถ้วนเลย
GPT-4 ไม่ได้สอบเก่งกว่าคน
อีกข่าวที่เป็นกระแสหนักมากในช่วงหนึ่ง คือการที่ GPT-4 สามารถทำคะแนนข้อสอบเนติบัณฑิตได้ดีกว่า 90% ของนักศึกษากฎหมาย ยิ่งตอกย้ำความกังวลเรื่องการโดนแย่งงานจาก AI ในสังคมเข้าไปอีก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว GPT-4 ไม่ได้มีความเก่งขนาดนั้น หลังมีงานวิจัยพบว่าการทดสอบของ OpenAI ใช้หลักการที่ไม่ถูกต้อง เพราะดันไปเอาคะแนนของ GPT-4 มาวัดกับคนที่มีประวัติสอบตก และต้องทำข้อสอบซ้ำ ซึ่งจะได้คะแนนสอบน้อยกว่าการสอบของคนทั่วไปหรือคนที่มาทำข้อสอบครั้งแรก และในงานวิจัยยังแนะนำว่าจริง ๆ แล้วควรเอาคะแนนไปเทียบกับคนที่ทำข้อสอบผ่าน เพื่อให้ได้สถิติที่เหมาะสมกว่า
เรื่องราวการโฆษณาเกินจริงเหล่านี้ มีให้เห็นในบริษัททุกระดับ ทั้งบริษัทใหญ่เก่าแก่ จนถึงผู้เล่นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ จนกลายเป็นเหมือนวัฒนธรรมที่ต้องมาคู่กับเทคโนโลยี AI ไปแล้ว โดยบริษัทเหล่านี้ มีแรงจูงใจให้ต้องนำเสนอสินค้าให้ออกมาดูดีที่สุด จนถึงขั้นต้องยอมหลอกลวง บิดเบือนความจริง เพื่อเรียกกระแสความสนใจให้ได้ เพราะรู้ว่าท้ายที่สุดคนจะจดจำภาพลักษณ์ดี ๆ กันมากกว่ามาสืบค้นเบื้องหลัง และหากไม่มีการกล่าวถึง หรือเรียกร้องความโปร่งใส วงการนี้คงติดอยู่ในพื้นที่สีเทาแบบนี้ไปตลอดครับ
ที่มา :
- AI Hype is completely out of control – especially since ChatGPT-4o (youtube.com)
Cruise confirms robotaxis rely on human assistance every 4 to 5 miles (cnbc.com) - What Google isn’t telling us about its AI demo (axios.com)
- Google’s best Gemini demo was faked | TechCrunch
- Facebook scales back AI flagship after chatbots hit 70% f-AI-lure rate • The Register
- Lessons From The Failed Chatbot Revolution — And 7 Industries Where The Tech Is Making A Comeback – CB Insights Research
- Humane Ai Pin: Embarrassing demo with incorrect answers got updated with new video – Tech (mashable.com)
- Turns out the viral ‘Air Head’ Sora video wasn’t purely the work of AI we were led to believe | TechRadar
- GPT-4 didn’t ace the bar exam after all, MIT research suggests — it didn’t even break the 70th percentile | Live Science
Comment