หลายคนน่าจะทราบกันไปแล้วถึงผลการประมูลคลื่น 1800MHz เมื่อวันก่อน ซึ่งทาง AIS และ dtac เป็นเพียงสองรายที่เข้าร่วมการประมูล คว้าใบอนุญาตกันไปเพียงคนละใบ ใบละ 10MHz (5MHz x 2) ทำให้เหลือใบอนุญาตอีกถึง 7 ใบ สถานการณ์คลื่นของ AIS ดีขึ้นอีก แต่ดีแทคน่าเป็นห่วงเพราะคลื่นหายไปเพียบ

สรุปจำนวนคลื่นที่แต่ละเครือข่ายมีอยู่

*คลื่น 2300MHz หลายครั้งเราจะได้ยินว่ามีจำนวน 60MHz เพราะเป็นคลื่นที่ให้บริการในระบบ TDD ซึ่งมีการคิดจำนวนคลื่นที่ต่างออกไป ในที่นี้จึงขอนับคลื่น FDD แบบเดียวกับคือทั้งขา Uplink และ Downlink เพื่อให้เห็นจำนวนคลื่นที่ใช้งานจริงของทั้ง 2 ระบบ

AIS ตีบวกคลื่น 1800MHz อีก 10MHz เป็นเครือข่ายที่มีคลื่นในมือมากที่สุดในไทย

ปัจจุบันคนที่ใช้เครือข่ายเอไอเอสหลายคนน่าจะพอใจกับคุณภาพสัญญาณที่ใช้งานอยู่ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่พบเจอปัญหากันบ้าง โดยเฉพาะเวลาที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่คนเยอะๆ มีการใช้งานดาต้ากันหนักๆ การได้คลื่น 1800MHz เพิ่มขึ้นมาอีก 10MHz (5MHz x 2)ก็จะช่วยให้การบริการในส่วนนี้ทำได้ดีขึ้นอีก และใครที่ใช้มือถือ 4G รุ่นเก่า ไม่รองรับการรับสัญญาณ 4G หลายคลื่นพร้อมกัน (Carrier Aggregation) ก็จะสามารถทำความเร็วได้เพิ่มเติมอีกด้วย จับเพียงคลื่น 1800MHz คลื่นเดียวก็มีความกว้างของสัญญาณให้ใช้ถึง 40MHz (20MHz x 2) กลายเป็นเจ้าเดียวในไทยที่มีคลื่นความถี่ให้บริการในย่านเดียวกว้างขนาดนี้ จากที่แต่ก่อนดีแทคเคยใช้สโลแกนนี้ทำการตลาดมาก่อน และเมื่อรวมจำนวนคลื่นทั้งหมดในพอร์ท ทำให้ปัจจุบัน AIS มีจำนวนคลื่นในมือถึง 120MHz (60MHz x 2) ขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งของผู้ให้บริการที่มีจำนวนคลื่นในมือมากที่สุดไปเรียบร้อย

ซึ่งงานนี้ AIS ประกาศตัวเต็มที่ว่านี่แหละคือพลังของ 4G Super Block เพราะในตอนนี้ไม่มีใครถือคลื่น 1800 เต็มบล็อก 40MHz (20MHz x 2)  อีกแล้ว (ก่อนหน้านี้คือ dtac Super 4G ที่บอกว่ากว้างที่สุด แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 5×2 MHz )

ทาง AIS บอกว่าการได้คลื่น 1800MHz เข้ามาเพิ่มเต็มเป็น Super Block ด้วยคลื่นที่ชุดความถี่ติดกันนั้นทำให้สามารถเพิ่มความเร็วจาก 300Mbps เพิ่มเป็น 390Mbps ได้ รวมถึงยังสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้มากขึ้นอีก 33%

ณ ที่นี้ จึงขออธิบายการทำงานของคลื่น FDD กับ TDD แบบสั้นๆ ว่ามันต่างกันยังไงเผื่อใครมีข้อสงสัยนะครับ ระบบ Frequency Division Deplexing (FDD) นั้นสามารถรับส่งสัญญาณได้พร้อมกับเหมือนมี 2 ช่องถนน เลยมีการคูณ 2 เข้าไปเพื่อให้สะท้อนกับสภาพการใช้งานคลื่นจริงๆ ส่วนระบบ Time Division Duplexing (TDD) นั้นเป็นถนเส้นเดียวสลับกันรับส่ง เลยไม่มีการคูณเพิ่มช่องสัญญาณเข้าไปนั่นเอง กดอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 4G FDD vs TDD ต่างกันอย่างไร

dtac ได้คลื่นมา 10 MHz (5MHz x2) แต่รวมแล้วคลื่นอาจจะหายถึง 70MHz เริ่มเห็นผล ต.ค.นี้ หวังเยียวยาและประมูลครั้งใหม่

ถ้าใครใช้ดีแทคอยู่ น่าจะได้รับ SMS เข้ามาแจ้งถึงการชนะประมูลคลื่น 1800MHz แต่เรื่องนึงที่ดีแทคไม่ได้บอกคือ ดีแทคได้คลื่นมาเพียง 5x2MHz แต่กำลังจะต้องเสียคลื่นไปถึง 70MHz* เพราะหมดสัมปทานในเดือนหน้านี้แล้ว (แบ่งเป็นคลื่นสัมปทานจาก CAT 1800 MHz จำนวน 50MHz (25MHz x 2) และคลื่น 850 MHz จำนวน 20MHz (10MHz x 2) ดังนั้นคลื่น  1800MHz ที่เป็นคลื่นหลักในการให้บริการ 4G กำลังจะหายไปเกือบ 75% ส่วนคลื่น 2300MHz ที่ได้มาจากทาง TOT ก็ยังไม่สามารถทดแทนได้ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการขยายโครงข่ายและเครื่องมือถือในปัจจุบันก็ยังไม่รองรับคลื่น 2300MHz มากนัก

ส่วนคลื่น 850MHz ที่ปัจจุบันดีแทคให้บริการเฉพาะ 2G อยู่นั้นก็ไม่มีผลอะไรกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตเท่าไหร่อยู่แล้ว (จะหมดสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 นี้เช่นกัน) ดังนั้นภาพรวมของคุณภาพคลื่นดีแทคจัดว่าน่าเป็นห่วง และต้องรอดูว่าดีแทคจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร สามารถขอเยียวยาและใช้งานคลื่นต่อได้แค่ไหน หรือต้องรอให้เกิดการประมูลครั้งใหม่ขึ้นมา ที่ไม่รู้ว่าจะมีขึ้นเมื่อไหร่ และป่านนั้นทั้งสองเครือข่ายอาจจะพร้อมสู้ราคามากกว่าปัจจุบันแล้วก็เป็นได้ สำหรับคนที่ใช้งานดีแทคอยู่ น่าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงจังหลังหมดสัมปทานในเดือนตุลาคมนี้ ก็ต้องรอดูกันครับ *จำนวนคลื่นสัมปทานจากเดิมที่ CAT และ Dtac ถือครองอยู่จริงๆมีอยู่ 45×2 MHz แต่ว่าดีแทคใช้จริงที่ 25MHz จึงเอาเพียงแค่นี้มาคำนวนนะ

True ไม่เข้าร่วม ทำให้จำนวนคลื่นตาม AIS 10MHz (5MHz x 2) แต่ยังเพียงพอ สะสมเงินรอไว้ก่อน

แม้ว่าในการประมูลครั้งนี้ True จะไม่เข้าร่วม แต่หลายฝ่ายก็เข้าใจได้เพราะคลื่นที่เค้ามีอยู่มีค่อนข้างเพียงพอแล้วสำหรับการให้บริการ และคลื่นถูกนำออกมาประมูลในครั้งนี้ไม่ใช่คลื่นเดิมของทาง True แต่อย่างใด ทำให้ปัจจุบัน True มีคลื่นตาม AIS อยู่ 10MHz (5MHz x 2) ซึ่งเมื่อคิดสัดส่วนของจำนวนคลื่นและจำนวนลูกค้าแล้ว True ยังถือว่ามีตัวเลขที่ดีอยู่ และคนใช้บริการหลายคนก็ยังค่อนข้างพอใจ โดยในปัจจุบันจำนวนลูกค้าของ True มีมากเป็นอันดับสองแซงดีแทคไปเรียบร้อย และเริ่มมีผลกำไรมากขึ้น หากมีการประมูลครั้งต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า True น่าจะมีสถานการณ์การเงินที่ดีเพียงพอที่จะเข้าร่วมการประมูลได้อย่างดีแน่นอน

กสทช. เล็งจัดประมูลใหม่ทั้ง 900/1800MHz โยกคลื่นรถไฟไปความถี่อื่น ปรับเงื่อนไขชำระเงิน

จบการประมูลครั้งนี้ไปดูเหมือนว่าคนที่ได้จริงๆจะมีเพียง AIS ที่เก็บคลื่นเข้าพอร์ทเข้าไปเพิ่มเติม ทรูไม่ได้ไม่เสียอะไร ส่วนดีแทคเสียเต็มๆ แต่คนใช้ก็ยังมีทางเลือกได้ว่าอยากจะเอายังไงต่อ แต่ที่เสียแบบเลือกไม่ได้ก็คือพวกเรา และประเทศชาติที่คลื่นความถี่สองอันรวมแล้วถึง 45×2 MHz ถูกฟรีซเอาไว้ไม่ได้ใช้งาน แทนที่จะได้เงินเอามาใช้บริหารประเทศ หลายหมื่นล้าน ได้คลื่นเอามาพัฒนาเครือข่ายให้ดีขึ้นให้เร็วและเสถียรกว่าเดิม กลับกลายเป็นว่างเปล่าประโยชน์

อย่างไรก็ดีล่าสุดทางกสทช. ได้มีการแถลงข่าวเพิ่มเติมโดยน่าจะมีการจัดประมูลใหม่อีกรอบ นำเอาทั้งสองคลื่นความถี่นี้มาเปิดประมูลอีกครั้งโดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเพิ่มเติม แต่ไม่มีการลดราคาประมูล โดยความเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขหลักๆ ได้แก่

  • คลื่น 1800MHz ประมูลใหม่ทั้ง 7 ใบอนุญาตที่เหลืออยู่ ยืนราคาตั้งต้นเดิม แต่ปรับให้สามารถจ่ายเงินได้เป็น 5 งวด จากเดิม 3 งวด
  • คลื่น 900MHz เตรียมเจรจากับกระทรวงคมนาคมย้ายคลื่นความถี่สำหรับรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปอยู่ที่ช่วง 450MHz แทน ทำให้สามารถเอาคลื่นมาประมูลได้ทั้ง 10 MHz พร้อมกับปรับเงื่อนไขการชำระเงินจากเดิม 5 งวดเป็น 8 งวด

ก็ต้องรอดูว่าการประมูลครั้งต่อไปจะสามารถจัดขึ้นได้เมื่อไหร่ ทุกฝ่ายต่างก็อยากให้เกิดการประมูลขึ้นด้วยกันทั้งนั้น เพราะปัจจุบันแต่ละเครือข่ายยังต้องการคลื่นความถี่ไปเพิ่มเติมกันด้วยทั้งนั้น เพื่อรองรับกับเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ โดยในปัจจุบันแต่ละค่ายก็มีการปูทางนำเทคโนโลยีเครือข่ายล้ำๆ มาติดอาวุธเพิ่มเข้าไปอยู่เนืองๆ ซึ่งมีความน่าสนใจยังไงบ้างไว้จะมาเล่าให้ฟังกันต่อไปครับ