หลังจากที่ทาง กสทช. เห็นชอบให้มีการควบรวม True – dtac ได้ เรียบร้อย ทำให้ตอนนี้หากจะนับก็เหลือเพียง 2 ค่ายมือถือรายใหญ่นั่นก็คือ AIS และ True – dtac เท่านั้น แล้วแบบนี้ใครที่ถือครองคลื่นมากกว่าจะได้เปรียบหรือเปล่า และอนาคตผู้ใช้งานในแต่ละเครือข่ายจะเป็นยังไง เรามาหาคำตอบกันครับ

ฟากฝั่งของ AIS ที่ถือครองคลื่นเป็นผืนใหญ่ โดยมีจำนวนมากถึง 1450 Mhzพราะต้องรองรับจำนวนลูกค้าที่มากที่สุดอยู่ แถมล่าสุดจับมือเป็นพันธมิตรกับ NT ได้เพิ่มมาอีก 10 MHz รวมเป็น 1460 MHz ในขณะที่ทาง True-dtac นั้นนอกจากในส่วนของคลื่นแล้ว ยังมีจำนวนลูกค้าที่ต้องมาใช้งานร่วมกันด้วย ซึ่งถ้าใครที่ตามข่าวก็จะรู้ว่า 2 ค่ายนี้ไม่สามารถรวมคลื่นได้ ทำได้เพียงแค่โรมมิ่งหากันเท่านั้น

ควบรวมแล้ว แต่ True – dtac รวมคลื่นกันไม่ได้

แม้ว่าในภาพรวม เราจะเห็นว่าคลื่นของ True กับ dtac จะมีให้ใช้งานมากถึง 1350 MHz แต่เนื่องจาก กสทช. นั้นไม่อนุญาตให้มีการนำคลื่นมารวมกัน เพราะมันผิดกฏในการประมูลคลื่น นั่นทำให้ตัวคลื่น 1800 และ 2100 ที่ทั้งคู่ถืออยู่ไม่สามารถนำมารวมกันได้ หรืออธิบายง่ายๆ ว่าผู้ใช้งานทั้ง 2 เครือข่ายยังคงมีแบนด์วิธให้ใช้งานเท่าเดิม และต้องใช้รูปแบบของการ โรมมิ่ง เชื่อมโครงข่ายกันเท่านั้น 

ลูกค้า dtac ร้องเฮ ส่วนลูกค้า True ร้องโฮ

เดิมทีลูกค้า dtac มีเครือข่าย 5G ค่อนข้างจำกัด นั่นก็คือคลื่น 700MHz เพียง 10MHz เท่านั้น แม้จะเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่กระจายได้ไกล แต่ด้วยจำนวนแบนด์วิธที่น้อยความเร็วในการรับส่งข้อมูลก็น้อยตามไปด้วย พอสามารถโรมมิ่งกับ true ซึ่งมีคลื่น 5G 2600MHz ให้ใช้งาน ก็เลยทำให้ผู้ใช้งาน dtac เข้ามาเบียดการใช้งาน 5G บนความถี่นี้ แน่นอนว่าจะส่งผลให้มีความแออัดของช่องสัญญาณเกิดขึ้นชัดเจน ยกตัวอย่างง่ายก็เหมือนถนน ที่ก่อนน้านี้มีแต่รถของ true วิ่งอยู่ค่ายเดียว แต่ตอนนี้มีรถของ dtac เข้ามาวิ่งด้วยอีกเป็นล้านคัน

ถนน 5G เส้นเดิมที่มีรถของลูกค้า True วิ่งอยู่ ตอนนี้มีรถของลูกค้า dtac เข้ามาวิ่งด้วย เพิ่มความแออัดเข้าไปอีก

กลับกันในฝั่งของลูกค้า true นอกจากจะโดนเข้ามาเบียดคลื่น 5G 2600MHz จนแน่นแล้ว แทบจะไม่ได้อะไรเพิ่มจากดีลควบรวมในตอนนี้เลย ตัวคลื่น 4G แผ่นใหญ่ 60 MHz ที่อยู่บน 2300 MHz ก็ไม่ใช่สิทธิ์ของ dtac ไม่สามารถใช้งานได้ อาจจะมีแค่ส่วนของตัวคลื่น 700 MHz ที่พอช่วยโรมมิ่งในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเพิ่มพื้นที่ของ true ให้ครอบคลุมมากขึ้นเท่านั้น เรียกง่ายๆ เป็นเพียงพื้นที่ส่วนน้อยมากๆ

AIS ต่อยอด เพิ่มจำนวนคลื่นรอรับลูกค้า

ทางฝั่ง AIS แม้จะมีจำนวนคลื่นมากเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ยังคงต้องการคลื่นเพื่อมารองรับลูกค้าและการใช้งานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งการไปจับมือเป็นพันธมิตรกับ NT นำคลื่นๆ 700 MHz มาสร้างประโยชน์เพิ่มอีก จนกลายเป็น Super Block 40 MHz จากการที่คลื่นนั้นมีความถี่ติดกัน ก็เลยได้เป็นคลื่นแผ่นใหญ่ไปเต็มๆ ช่วยให้พื้นที่การครอบคลุม 5G นั้นครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น และได้สปีดความเร็วมากขึ้นไปด้วย

เปรียบเทียบปริมาณคลื่น AIS กับ True – dtac

หากเปรียบเทียบจากจำนวนคลื่นที่เปิดให้บริการล่าสุดแล้ว ทางฝั่งของ AIS ยังคงครองอันดับ 1 ด้วยปริมาณแบนด์วิธมากถึง 1460 MHz แถมยังมีคลื่นผืนใหญ่ Super Block ในหลายย่านความถี่ โดยเฉพาะในกลุ่ม 5G นั้นมีครอบคลุมหมดทุกย่าน ไล่ไปตั้งแต่ความถี่ต่ำ 700MHz กลาง 2600MHz และสูงระดับ mmWave อย่าง 26GHz ซึ่งตอนนี้ก็มีแผนการพัฒนาและใช้งานออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้บริการ 5G แบบ SA ในกลุ่มสมาร์ทโฟนเรือธง ทั้งฝั่งของ Android และ iPhone นั่นทำให้การใช้งาน 5G ลดการพึ่งพาคลื่น 4G ในแบบ NSA นอกจากจะช่วยให้การใช้งาน 5G ตอบสนองได้รวดเร็วขึ้นแล้ว ช่องสัญญาณ 4G ที่หนาแน่นน้อยลงก็ช่วยให้การเชื่อมต่อสัญญาณและความเร็วของ 4G เพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนั้นทาง AIS ยังได้เริ่มนำเอาคลื่น mmWave มาใช้งาน ทั้งการยิงสัญญาณเน็ตความเร็วสูงแทนการลากสายไฟเบอร์ และได้มีการทดลองเสา mmWave ในพื้นที่สยาม ซึ่งผู้ใช้งานมือถือ Pixel บางรุ่นที่รองรับ 5G mmWave ก็ได้สัมผัสความเร็วแบบ Gigabit กันไปเต็มๆ 

ตัวอย่างการนำคลื่น 5G แต่ละช่วงความถี่ไปใช้งาน (อ่านเพิ่มเติม เรื่องเล่า 5G)

ส่วนคลื่นของ True-dtac แม้จะดูมีแบนด์วิธมากถึง 1350 MHz แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นช่วงคลื่นคนละส่วน เพราะไม่สามารถนำมารวมได้ ตามกฏหมายทำได้แค่ roaming เท่านั้น ก็เลยส่งผลให้ช่วงคลื่นอย่าง 700MHz กับ 1800MHz ที่มีด้วยกันทั้งคู่ ก็ยังต้องแยกกันใช้ต่อไป ส่วนคลื่น 5G ความถี่กลาง 2600MHz ที่ทางทรูถืออยู่ 90MHz นั้นน่าจะช่วยให้ประสบการณ์ 5G ไม่แตกต่างจากทาง AIS แต่เอาจริงๆ แล้วตรงส่วนนี้ทางทรูมีการแบ่งไปใช้งาน 5G ที่ 50MHz และ 4G อีก 40MHz นั่นหมายความว่าลูกค้า true – dtac ต้องมาเบียดกันใช้งาน 5G ในช่องแบนด์วิธแค่ 50MHz ซึ่งจะเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่ ลูกค้าน่าจะให้คำตอบ ได้จากการใช้งานที่ผ่านมา

และด้วยกฎหมายการประมูลที่ติดล็อคไม่สามารถรวมคลื่นกันได้ในตอนนี้ ทางฝั่งของ True – dtac ก็เหมือนโดนแช่แข็งคลื่นเอาไว้กลายๆ เพราะหากไม่สามารถรวมแบนด์วิธเป็นผืนใหญ่ได้ การจะจัดระเบียบหรือพัฒนาโครงข่ายเน็ตเวิร์คต่อยอดออกไปก็ทำได้ยาก

 

สรุปสถานการณ์ของทั้ง 2 ค่าย

หากมองในภาพรวมจำนวนคลื่นของทั้ง 2 ค่ายนั้นมีจำนวนช่องสัญญาณหรือแบนด์วิธที่ใกล้เคียงกัน แต่เอาจริงๆ แค่บล็อคสัญญาณในระดับ 5MHz ก็หมายถึงช่องสัญญาณที่สามารถรองรับผู้ใช้งานหรืออุปกรณ์ต่างๆ ได้เป็นหมื่นเป็นแสนชิ้น และหากลงไปดูในรายละเอียด AIS นั้นมีช่วงแบนด์วิธที่เป็นแผ่นใหญ่ Super Block เหมือนถนน Super Highway ครบหมดใน 3 ช่วงความถี่ ต่ำ กลาง สูง ตอบโจทย์ทั้งความครอบคลุม ความเร็วในการอัปโหลดดาวน์โหลดข้อมูล และมีแนวทางในการใช้คลื่นใหม่ๆ อย่าง mmWave ชัดเจน

ในขณะที่ทาง true-dtac ตัวเลข 1350 MHz มีการซอยแบ่งช่วงคลื่นแยกกัน แถมยังแบ่งการใช้งานผสมทั้ง 4G และ 5G ในช่วงคลื่นเดียวกันจนทำให้แบนด์วิธที่ควรจะใช้งานได้เต็มๆ น้อยลงไปอีก และการควบรวมจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น แต่ช่องสัญญาณเอามารวมกันไม่ได้ เหมือนถนนที่มีเลนกว้างเท่าเดิม แต่ต้องรองรับรถเพิ่มอีกเป็นล้านๆ คัน ผ่านช่องทางการ roaming ที่แทรกเบียดเลนเข้ามาเรื่อยๆ มันก็จะเคลื่อนที่ได้ช้าลง

ส่วนแผนการพัฒนาเครือข่ายและในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าทางฝั่ง AIS นั้นมีแอ็คชั่นในการหยิบเอาคลื่นมาต่อยอด เพื่อขยับการใช้งาน 5G ไปสู่เจเนอเรชั่นใหม่ๆ หรือกำลังก้าวไปสู่ 5.5G มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ทางฝั่งของ True – dtac กลับไปเน้นในเรื่องของพวกบริการเสริมมากกว่า เพราะเมื่อยังไม่สามารถรวมคลื่นมาจัดสรรปันส่วนใหม่ได้ เลยเหมือนไม่มีควาามชัดเจนว่าจะทำยังไงกับคลื่นที่แยกกันถือในมือทั้งๆ ที่เรื่องของสัญญาณและความเร็วในการใช้งานนั้นเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการเป็นอันดับแรก