เหล่าผู้ใช้ uber และ grab car สะดุ้งโหยงเมื่อได้เห็นข่าวนี้ เมื่อกรมขนส่งฯ เตรียมขอใช้ ม.44 สั่งปิดแอป uber และบริการแชร์การขับขี่อื่นๆทั้งหมด หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาได้ล่อจับคนขับ uber ไปถึง 18 รายพร้อมเปรียบเทียบปรับ 2,000 บาท โดยให้เหตุผลเดิมว่าเป็นการให้บริการอย่างผิดกฎหมาย ไม่ได้รับการคุ้มครองกรณีเกิดอุบัติเหตุ และทำลายระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ต่างๆอีกด้วย

uber ได้เปิดให้บริการในเมืองไทยมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ที่ผ่านมา รวมเวลากว่า 2 ปีเศษ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้บริการแชร์การขับขี่เป็นบริการที่ถูกต้องแต่อย่างใด แต่กรมขนส่งฯก็เหมือนเกียร์ว่างปล่อยให้บริการมาโดยตลอด สอบถามไปทางผู้บริหารของ uber ก็จะมีการชี้แจงว่าได้เคยเข้าไปพูดคุยกับทางหน่วยงานรัฐมาอย่างต่อเนื่องจนหลายๆคนก็นึกว่ากลายเป็นบริการที่ถูกกฎหมายไปแล้วเสียด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ดีในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้อูเบอร์ได้มีการเปิดให้บริการเพิ่มเติมในหลายพื้นที่ และอาจขัดผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่มจนกลายเป็นชนวนของหายนะในครั้งนี้นั่นเอง

หากว่าทางกรมขนส่งยื่นใช้ ม.44 ในการหยุดให้บริการแชร์การขับขี่ได้จริง ก็นับว่าเป็นพัฒนาสูงสุดของประเทศ นำพาจาก Thailand 4.0 กลายเป็น Thailand 44.0 ได้อย่างก้าวกระโดดไปเลยครับ

uber ผิดกฎหมาย? เราควรทำอย่างไร?

หากว่ากันตามจริงตัวแอปอูเบอร์ถือเป็นบริการที่ผิดกฎหมายตามข่าว เพียงแต่ว่าเหล่าผู้ให้บริการที่ถูกกฎหมาย เช่น แท็กซี่ ให้บริการได้แย่กว่า และมีการทำผิดกฎหมายเป็นว่าเล่น จนคนเอือมระอาและเลือกที่จะใช้บริการที่ผิดกฎหมายอย่าง uber มากกว่านั่นแหละ เราเคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้เยอะมากแล้วตั้งแต่เมื่อเกิดปัญหาใหม่ๆ ยังไงลองไปอ่านเรื่องนี้อีกครั้งได้ที่

สำหรับเรื่องการพัฒนาคุณภาพและบริการของรถแท็กซี่ในเมืองไทยนี้ ผ่านมากี่วันกี่เดือนกี่ปีก็ดูเหมือนจะเป็นความหวังที่ริบหรี่ที่จะเห็นแท็กซี่บ้านเราไม่ปฎิเสธผู้โดยสาร ไม่แสดงกิริยาไม่สุภาพ หรือทิ้งผู้โดยสาร เรายังเห็นคนบ่นแท็กซี่เลือกรับ(ฟัน)แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การโกงมิเตอร์ที่เนียนทำกันจนเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แบบหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ หากว่าวันนี้เหล่าผู้ใช้แอป uber หรือ grab car ต้องการจะใช้งานต่อ ดูท่าว่าจะต้องรวมพลังกันลองต่อต้านคัดค้านกันอย่างจริงจัง เปิดแคมเปญบน  change.org กันอีกสักครั้งเพื่อยื่นเรื่องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่เป็นผล แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ทางเลือกการเดินทางที่ดีของพวกเราต้องจากไปแบบที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย

ที่มา :  The Nation