ไม่ได้เป็นเรื่องบ่อยนักที่เราจะเห็น CEO ของ TikTok ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อแบบนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฟังมุมมอง ความเห็นของเค้า พร้อมได้คำตอบในประเด็นร้อนหลายอย่างเช่นการรักษาข้อมูลผู้ใช้จากทางการจีน ความข้องเกี่ยวกับจีนและบริษัท ปัญหาเรื่องผลกระทบของแอปกับสุขภาพจิตวัยรุ่น และอื่น ๆ อีกหลายด้านครับ

ในงานสัมมนาของสำนักข่าว The New York Times ได้เชิญ นาย Shou Zi Chew ผู้บริหาร TikTok มาให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยดูจากท่าทางแล้วเป็นคนอารมณ์ดี ชอบเล่นมุกตลกกับผู้ใส้สัมภาษณ์อยู่เรื่อย แต่ท่าทีเป็นมิตรก็ไม่ได้ทำให้เค้ารอดจากคำถามเข้ม ๆ จากผู้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

วิธีรักษาข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐฯ ของ TikTok

คำถามจริงจังหมัดแรก เป็นเรื่องข้อสงสัยเกี๋ยวกับความข้องเกี่ยวของบริษัทกับทางการจีน ที่สหรัฐฯ มีความกังวลอย่างมากและได้พยายามสั่งแบนแอปออกจากประเทศ โดยได้ถาม Shou ว่ามีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้คำตอบกลับมาว่าบริษัทให้ความใส่ใจกับข้อกังวลเรื่องนี้อย่างมาก และได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานของสหรัฐเพื่อหาทางแก้ไข โดยได้ข้อสรุปเป็นการทำโครงการ Project Texas

Project Texas เป็นโครงการที่จะย้ายข้อมูลจากเดิมที่อยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย และประเทศสิงคโปร์ ให้ไปอยู่ในเซิฟเวอร์คลาวด์แห่งใหม่ในสหรัฐ ซึ่งจะได้บริษัท Oracle เป็นผู้คอยควบคุมดูแล โดยพนักงานที่จะมีสิทธิเข้าถึงเซิฟเวอร์ได้คือทีมงานสัญชาติสหรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ Shou บอกว่าโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก แต่ก็พร้อมจะทำเพื่อให้หลายฝ่ายคลายความกังวล

“บริษัทของเราเป็นผู้นำในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลแบบ Local, ไม่มีใครเค้าดีไซน์ระบบเก็บข้อมูลแบบนี้หรอกนะ”, Shou กล่าว

เค้ายังบอกด้วยว่า ปัญหาเรื่องข้อมูลนั้นแก้ไขได้ด้วยการตรวจสอบจากคนภายนอก และการแสดงถึงความโปร่งใส ซึ่งบริษัทก็มีการทำรายงานความโปร่งใสของการดำเนินงานทุกปี ตบท้ายคำถามด้วยการเสริมว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนขอข้อมูลผู้ใช้จาก TikTok มาก่อน และหากมีใครมาขอก็จะปฏิเสธไป

นอกจากนี้การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของ TikTok ก็ต้องผ่านระบบการขอเข้าถึงข้อมูล ที่มีมาตรการและแบบฟอร์มต่าง ๆ ให้ดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด และไม่ได้มีการมาจัดแบ่งว่าคนใดจากชาติไหนจะมีสิทธิเข้าถึงข้อมูล เพราะก็ใช้ระบบการทำงานเป็นแบบบริษัทเทคโนโลยีทั่วไป แต่ต่อไปก็จะเริ่มแบ่งข้อมูลตามประเทศที่ใช้งานตามแผน Project Texas ที่กล่าวไปให้สหรัฐฯ

ความอันตรายของเนื้อหาใน TikTok  

เมื่อถูกถามเรื่องเนื้อหาอันตราย และการออกกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมไม่ให้เด็ก ๆ ติด TikTok มากเกินไป Shou ก็ได้ตอบว่าเนื้อหาต่าง ๆ ที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มนั้นเกิดมาจากผู้ใช้งานเองทั้งนั้น นอกจากนี้แพลตฟอร์มเองก็มีกฏบังคับเนื้อหาอันตรายต่าง ๆ อยู่ 13 ข้อใหญ่ มีอธิบายให้เห็นในเว็บไซต์อยู่แล้ว แถม TikTok ยังมีหน้าตั้งค่าสำหรับผู้ปกครองให้ลูกด้วย ดังนั้นความกังวลเนื้อหาล่อแหลมกับผลกระทบต่อเด็กนั้นจึงไม่น่าเป็นห่วงอะไร

ส่วนในเรื่องการเสพติดเนื้อหา ใช้เวลากันแอปมาเกินไป Shou ก็ระบุว่าจริง ๆ แล้วคนเราก็มีสิทธิใช้เวลาไปกับอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มแรกที่สร้างไอเดียส่งแจ้งเตือนหากผู้ใช้งานใช้เวลากับแอปนานเกินไป แม้จะไม่ได้มีการล็อกแอปห้ามเล่นไปเลย แต่เจ้าตัวเค้าเองไม่ยอมตอบ ว่าวันนึงคนเราควรเล่นแอปอยู่ที่เท่าไรกันแน่

เคล็ดลับ Algorithm เสนอเนื้อหาให้ผู้ใช้

ในการสัมภาษณ์ยังใช้เวลาส่วนนึงไปกับการพูดถึงระบบ Algorithm ที่เป็นกลไลเสนอเนื้อหาให้กับผู้ใช้ โดย Shou อธิบายว่ามันก็แค่ใช้ “คณิตศาสตร์” ในระบบ Machine Learning รับข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้ แล้วก็เอามาประมวลผลว่าจะนำเสนอเนื้อหาแบบไหนให้ผู้ใช้ดี ง่าย ๆ แค่นั้นเอง และก็โยงเข้าแฮชแท็ก #BookTok ที่เป็นชุมชนแนะนำหนังสือกัน เพื่อแสดงว่าระบบของเค้าก่อให้เกิดเนื้อหาดี ๆ ชวนคนอ่านหนังสือด้วยนะ

ปิดท้ายงานสัมภาษณ์ ด้วยคำถามแทนใจผู้ใช้มีอายุที่ไม่เคยได้เล่นแอป ว่าหากเล่น TikTok แล้ว ควรติดตามใครดี? Shou ก็ยิ้มแย้มแล้วตอบทันควัน “ติดตามผมสิครับ” เรียกเสียงฮาจากทั้งห้อง “ผมมีคนติดตามอยู่หมื่นคนเอง”

โดยรวมแล้ว Shou เป็น CEO บริษัทโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และมีวิสัยทัศน์มองอนาคตของแพลตฟอร์มในแง่บวก ต้องการเปิดโอกาสให้เกิดความสร้างสรรค์ และเชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน มาแนวเดียวกับผู้นำแพลตฟอร์มอื่นอย่าง Mark Zuckerberg ยุคบุกเบิก แถมยังพร้อมจะแสดงความบริสุทธิ์ใจเรื่องการกักเก็บข้อมูล แต่ก็ไม่รู้ว่าการมาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ จะพอเอาชนะใจหรือคลายข้อกังขาความเกี่ยวข้องของบริษัทกับรัฐบาลจีนได้แค่ไหน เพราะก่อนหน้านี้ไม่นานก็ยังมีข่าวเรื่องการสั่งแบนแอป TikTok ไม่หยุดเลย

ชมคลิปเต็มสัมภาษณ์ Shou Zi Chew ในงาน DealBook ของ The New York Times:

Play video

 

ที่มา : theverge, New York Times