ตลอดปี 2020 นี้ ประเด็นปัญหาการ “ผูกขาดทางการค้า” ของเหล่า Tech Giants ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นพิเศษหลังจากที่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีนั้นกำลังกลายเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจและสังคมแทนที่ธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เคยมีมา งานนี้ฝั่งรัฐบาลจีนไม่ขอน้อยหน้าใคร สั่งเริ่มทำการสอบสวน Alibaba และ Ant Group ภายใต้การนำของแจ็ค หม่า มหาเศรษฐีของโลกจากแดนมังกรก่อนใครว่ามีพฤติกรรมทำธุรกิจอย่างผูกขาดหรือไม่

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลจีนเพิ่งได้มีแถลงการณ์สำคัญเกี่ยวกับการเริ่มต้นเดินหน้าจัดการกับปัญหาการผูกขาดทางการค้ากับเค้าบ้างแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้จะเป็นเหล่าชาติยุโรปและอเมริกาเสียส่วนมาก ที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง โดยจีนได้ประกาศเดินหน้าสอบสวน Tech Giants เบอร์หนึ่งของตัวเองอย่าง Alibaba Group กันก่อนเลย หลังจากที่มีอัตราการเติบโตและรุกคืบทางธุรกิจที่หลากหลายได้อย่างรวดเร็วตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นผู้ชนะในทุกสมรภูมิทางธุรกิจเลยก็ว่าได้

เบื้องต้น ทางการจีนได้ตั้งประเด็นการสอบสวนพุ่งเป้าไปที่แพลตฟอร์ม E-commerce ของ Alibaba และแพลตฟอร์ม FinTech อันเลื่องชื่อของ Ant Group (เจ้าของเดียวกับ Alipay) ที่ทาง Jack Ma หมายมั่นปั้นมือจะนำเข้าระทุมเป็น IPO ที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกถึงกว่า 35,000 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ก็ต้องผิดหวังไปยาว ๆ หลังจากถูกหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของจีนประกาศระงับการ IPO เอาไว้ โดยอ้างว่า Ant Group มีวัตถุประสงค์ละเมิดข้อบังคับและนโยบายทางการเงินของจีน จากความพยายามสร้างแพลตฟอร์มการให้กู้เงินแก่ผู้ประกอบและธุรกิจรายย่อยนั่นเอง

จีนเปิดหน้าฟาดฟัน Jack Ma | กินรวบ E-commerce – Logistics – Social Media – FinTech สร้างสภาวะผูกขาดชีวิตประจำวันของชาวจีนมากจนน่ากังวล

สำหรับประเด็นสำคัญในการเริ่มทำการสอบสวน Alibaba Group ของรัฐบาลจีนนั้น ได้รับการชงเรื่องมาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยตรงที่ในช่วงปีหลังมานี้ ดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกชะตากับบรรดา Tech Giants สัญชาติจีนแท้ ๆ เสียเท่าไหร่ โดยเฉพาะ 2 ยักษ์แห่งโลกอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียอย่าง Alibaba และ Tencent หลังจากที่ทั้งสองแพลตฟอร์มนั้นสร้างชื่อเสียงและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในระดับมหาอำนาจของโลกทางเทคโนโลยีไปแล้ว

อันที่จริงแล้ว Tech Giants สัญชาติจีนนั้นได้รับการสนับสนุนและเชิดชูจากชาวจีนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด จากผลงานการก้าวไปสู่ในระดับเดียวกันกับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติตะวันตกทั้งหลายได้ในเวลาอันสั้น แต่ในช่วงหลังมานี้ ประชาชนชาวจีนและรัฐบาลของพวกเขาเองน่าจะเริ่มตระหนักได้แล้วว่าการที่บริษัทเทคโนโลยีของพวกเขามีอำนาจเหนือตลาดมากเกินไปนั้น อาจส่งผลเสียได้ในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านความสามารถในการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายย่อย หรือคู่แข่งรายใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

รัฐบาลตั้งประเด็นความน่ากังวลเอาไว้ว่า การที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba มีอำนาจเหนือตลาดที่มีความสำคัญสูงพร้อม ๆ กัน เช่นการเป็นเจ้าของทั้งแพลตฟอร์ม E-commerce ระบบการบริหารจัดการลอจิสติกส์ และโซเชียลมีเดียนั้น ส่งผลให้คู่แข่งรายใหม่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้เลย คู่ค้าของพวกเขาก็เริ่มถูกใช้อำนาจเหนือบังคับ ส่วนผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปนั้นก็อาจจะพบกับปลายทางที่ไม่มีทางเลือกได้เลยหากต้องการสินค้าบางชนิด หรือการอำนวยความสะดวกบางประการจากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ

Alibaba เริ่มมีนโยบายบังคับให้ร้านค้าชื่อดังต้องเลือกว่าจะวางขายบนแพลตฟอร์มของ Alibaba แบบ Exclusive Store เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น ห้ามวางขายบนแพลตฟอร์มอื่นอย่างสิ้นเชิง โดยจะรับการสนับสนุนโปรโมชั่นตามเทศกาล ต้นทุนการขนส่งที่ถูกเป็นพิเศษ และรวมไปถึงแพ็คเกจประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียที่เป็นของ Alibaba เองแบบครบวงจร อันที่จริงแล้วคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Tencent Group ก็ทำสิ่งเดียวกันนี้เช่นกัน ซึ่งได้ส่งผลโดยตรงให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่ไม่มีอำนาจต่อรองมากพอนั้นจะไม่สามารถเพิ่มช่องทางการสื่อสารหรือค้าขายกับลูกค้าได้โดยอิสระ

เช่นเดียวกับกรณีของ Ant Group ที่พยายามนำเสนอ FinTech ผ่านการระดมทุนเพื่อเสนอนวัตกรรมการให้บริการไปยังบรรดาผู้ประกอบการรายย่อยของจีน แต่ก็โดนหน่วยงานด้านการเงินระงับเอาไว้แบบไม่มีกำหนดอยู่ในขณะนี้ เพราะมองว่าการที่ Alibaba Group ของ Jack Ma นั้นมีอำนาจเหนือในหลายอุตสาหกรรมมากเกินไปอยู่แล้ว และยิ่งเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการนวัตกรรมทางการเงินอีก อาจะทำให้ Tech Giants อย่าง Alibaba มีอำนาจมากล้นเกินไปจนรัฐบาลก็ไม่อาจเอาอยู่ในที่สุดหากปล่อยให้เกิดได้โดยง่ายแบบไร้การควบคุมใด ๆ นั่นเอง

งานนี้ถือเป็นกรณีศึกษาแรกเลยทีเดียว สำหรับประเด็นปัญหาเรื่อง “การผูกขาดทางการค้า” หรือ “Antitrust” ในประเทศจีน หลังจากที่ฝั่งชาติตะวันตกนั้นมีความกังวลเรื่องนี้และพยายามเข้าแทรกแซงจัดการกันมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นเทรนด์เดียวกันที่รัฐบาลทั่วโลกต่างก็เริ่มมองเห็นกันแล้วว่า Technology ในโลกยุคปัจจุบันนั้น มีพลานุภาพในการขับเคลื่อนโลกไปในทิศทางที่รวดเร็วแต่น่ากังวลใจได้มากน้อยแค่ไหน หากปล่อยให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคนั้นดำเนินการได้โดยอิสระจนเกินไป

 

อ้างอิง: Financial Times | Tech Crunch | Bloomberg