หลังจากที่พวกเราต้องอยู่กับสถานการณ์ Covid-19 ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ หรือช่วงหลังนั้นย่ำแย่จนยังไม่เห็นทางสว่าง สถานการณ์เช่นนี้เวลาปีกว่าได้บีบบังคับให้ผู้บริโภคต้องหาช่องทางเอาตัวรอดในฐานะผู้ซื้อ ซึ่งล่าสุดมีรายงานที่น่าสนใจเป็นอย่างมากว่า ผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดพากันปรับตัวเข้าสู่แพลตฟอร์ม E-commerce ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุที่คโดยค่าเฉลี่ยแล้วเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงกว่ามาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการนั้นอาจได้ประโยชน์หากสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ได้
สถานการณ์ Covid-19 ที่ยังมองไม่เห็นตอนจบ บีบบังคับให้ผู้บริโภคทั่วอาเซียนปรับตัวเข้าหาการบริโภคผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ในขณะที่สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นตอนไหน แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดีเอาเสียเลยต่อผู้คนทั้งโลก แต่ดูเหมือนจะมีวงการหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์เช่นนี้ไปเต็ม ๆ นั่นคือบรรดาแพลตฟอร์ม ธุรกิจและบริการบนโลกออนไลน์ทั้งหลายที่มีอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เหตุก็เพราะที่ผู้คนออกไปไหนไม่ได้ ยิ่งออกยิ่งอันตรายต้องช่วยกันอยู่บ้านหยุดเชื้อแบบนี้นี่แหละ และหนึ่งในธุรกิจดิจิทัลที่ได้รับอานิสงฆ์จากผู้บริโภคทั่วไปสูงที่สุดก็คือบรรดา E-commerce แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การบริโภคในชีวิตประจำวันที่ออกไปไหนไม่ได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เสื้อผ้าหน้าผม ซื้อของเข้าบ้าน ยันเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์อิเล็คทรอกนิกส์ชิ้นใหม่เลยล่ะ
จากรายงานของ Bain & Co บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของโลกร่วมกับ Facebook ทำการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของชาวอาเซียนกว่า 8,600 คนใน 6 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปนส์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์และประเทศไทยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาซึ่งสถานการณ์ Covid-19 เข้าสู่จุดวิกฤติกันอย่างทั่วถึง พบว่าผู้บริโภคกว่า 47% ลดการใช้จ่ายแบบ Offline ลงไปมากเพราะความไม่สะดวกและปลอดภัยจากการออกนอกบ้าน ในขณะที่ราว ๆ 30% นั้นให้ข้อมูลว่าพวกเขามีการซื้อขายแบบ Online เพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาเดียวกัน
ผลวิจัยชี้ 84% เริ่มใช้งาน Apps ใหม่ ๆ เป็นครั้งแรก ส่วนผู้ใหญ่ – สูงอายุปรับตัวได้ไวซื้อของออนไลน์กันเองเป็นแล้วแถมติดใจ
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือผู้บริโภคชาวอาเซียน 42% ยอมรับว่าพวกเขาเริ่มเคยชินกับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแบบออนไลน์แล้วหลังค้นพบว่ามันสะดวกสบายมาก ๆ ซึ่ง 84% จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดยังยอมรับอีกว่าพวกเขาพิจารณาที่อาจจะใช้วิธีการซื้อสินค้าออนไลน์ต่อไปแม้มาตรการ Lockdown หรือสถานการณ์โควิดจะจบลงแล้วก็ตามเพราะด้วยรูปแบบการบริโภคสินค้าจากที่บ้าน หรือ “At-home Consumption” นั้นอาจช่วยให้พวกเขาสะดวกสบายไม่ต้องออกไปข้างนอกบ่อย ๆ
สำหรับเทรนด์ในแง่การเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น รายงานฉบับนี้พบความน่าสนใจเป็นพิเศษว่าผู้บริโภคอายุช่วง 45 – 54 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงพิเศษแต่ไม่เคยได้ให้ความสำคัญกับการซื้อขายบนโลกดิจิทัลมากนัก ปัจจุบัน 78% ของคนกลุ่มนี้เริ่มเปิดใจลอง Apps และบริการออนไลน์เป็นครั้งแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นกลุ่มกำลังซื้อสูงสุด ๆ อย่างวัยใกล้เกษียณ 55+ นั้นได้เผยด้วยว่าพวกเขาพิจารณาที่จะซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้นไปอีกเช่นกัน แม้ว่า Covid-19 จะจบลงแล้วก็ตามหลังจากติดใจความสะดวกสบายซึ่งอาจเป็นสิ่งที่วัยของพวกเขาค้นหานั่นเอง
วิกฤติคือโอกาสมีอยู่จริง ! สำหรับผู้ประกอบการหลายกลุ่มหากปรับตัวสู่โลกออนไลน์อย่างเหมาะสม
จากการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการซื้อขายบนโลกออนไลน์ของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนของเรา ชี้ให้เห็นถึงโอกาสใหม่ในวิกฤติโรคระบาดที่ผู้ประกอบการหน้าเก่า – หน้าใหม่อาจพอจะมีช่องทางให้อยู่รอดได้ หรืออาจถึงขั้นพาให้ธุรกิจน้อยใหญ่เติบโตสวนกระแสในช่วงเวลาแบบนี้ได้เลย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจใด ๆ ก็ได้ที่ปรับตัวมาค้าขายออนไลน์จะอยู่รอดเสมอไป ขึ้นอยู่กับจังหวะและความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจด้วย ที่สำคัญทั้งบริษัทผู้จัดทำแบบสำรวจ และพวกเราเองก็ขอยืนยันแบบเดียวกับคนทั้งโลกว่าสถานการณ์โรคระบาดนั้นเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากกว่าดีอย่างแน่นอน
อันที่จริงแล้วมีการสำรวจความคิดเห็นจากฝั่งผู้ประกอบการชาวอาเซียนในกลุ่ม 6 ชาติเดียวกัน โดยเจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง Lazada เป็นผู้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นด้าน Digital Commerce ซึ่งมีข้อสรุปที่น่าสนใจมากว่า ผู้ประกอบการกว่า 52% บนแพลตฟอร์มของพวกเขามียอดขายออนไลน์ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญตลอดครึ่งแรกของปี 2021 ในขณะที่ราว 70% เชื่อว่าพวกเขาสามารถมีผลประกอบที่ดีขึ้นไปอีกในไตรมาสหน้านี้ได้ในระดับ 10 – 30% เลยทีเดียว โดยกลุ่มธุรกิจที่โดดเด่นบนโลกออนไลน์ได้แก่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป อิเล็คทรอนิกส์ และสินค้าแฟชั่น
ผู้บริโภคชาวอาเซียนเปิดรับสินค้า แบรนด์ และบริการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ จุดเด่น สิทธิประโยชน์ และความน่าเชื่อถือโดยไม่สนใจว่าต้องเป็นแบรนด์ดั้งเดิมแต่อย่างใด สิ่งสำคัญที่สุดคือกลยุทธ์ด้านคุณค่าในราคาที่จ่าย
อีกประเด็นสำคัญของเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าและบริการใหม่ ๆ บนโลกออนไลน์ของผู้บริโภคชาวอาเซียน ที่ชาวเน็ตประเทศไทยก็น่าจะเป็นเหมือนกัน คือ “ผู้บริโภคบนโลกออนไลน์กำลังมองหาคุณค่าที่สูงที่สุดในราคาที่จ่าย โดยไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่ถูกที่สุดเสมอไป แต่หมายความว่าต่อให้มันเป็นสินค้าที่มีราคาสูง หากนำเสนอความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์และมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคได้ พวกเขาก็พร้อมจ่าย” นั่นเอง
เจ้าของแพลตฟอร์มล้วนเป็นรายใหญ่และต่างชาติ ยังคงเป็นข้อสังเกตที่ภาครัฐและเอกชนในภูมิภาคอาเซียนต้องร่วมกันผลักดัน
ถึงแม้ว่าจากผลการศึกษาชุดนี้จะแสดงให้เห็นโอกาสไม่มากก็น้อยสำหรับบรรดาผู้ประกอบรายเล็ก – ใหญ่ที่กำลังเร่งปรับตัวเข้าสู่วิธีการใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเพื่อให้อยู่รอดหรือเพื่อให้ธุรกิจยังสามารถเติบโตไปได้อีกซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดีนั้น ก็มีข้อสังเกตเล็ก ๆ ในภาพรวมที่ทั้งภาครัฐและนโยบายของภูมิภาคอาเซียนของเราอาจจะต้องระวังให้ดีนั่นคือ การเป็นเจ้าของเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม หรือนวัตกรรมการบริโภคออนไลน์ ที่เป็นของภูมิภาคเรา ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัดมาก ๆ โดยที่ยังพอเห็นบ้าง จะมาจากตลาดฝั่งอินโดนีเซียที่ตลาดใหญ่พอจะสร้างระบบนิเวศน์ของตัวเองขึ้นมาได้
หากดูความนิยมในประเทศไทยเราเป็นตัวอย่าง ถือเป็นกรณีศึกษาที่ค่อนข้างชัดเจนในตัวเลยว่าบริการออนไลน์เพื่อการบริโภคที่มีลักษณะแบบ Content-based (แพลตฟอร์มสนับสนุนการซื้อ – ขายโดยใช้เนื้อหานำ) อย่างเช่น Facebook – Instagram – Line เจ้าของเทคโนโลยีก็จะมาจากชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก หรือไม่ก็ญี่ปุ่น (เกาหลี) ในกรณีของ Line เป็นต้น ส่วนบริการออนไลน์เพื่อการบริโภคประเภท Market-based (แพลตฟอร์มที่ใช้ตลาดเป็นตัวนำ) อย่างเช่น E-commerce ชื่อดังต่าง ๆ ไม่ว่าจะ Shopee – Lazada นั้นก็มีเจ้าของที่แท้จริงมาจากชาติมหาอำนาจอย่างนักลงทุนชาวจีนเป็นหลักเช่นกัน
ถึงแม้ว่าชาวเน็ตอาเซียนทั้งผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากศักยภาพของแพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยให้ปรับตัวได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และผู้ประกอบการเองก็โยกย้าย ปรับวิธีการ หาช่องทางได้ง่ายเพื่อการอยู่รอดของธุรกิจได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มจากนอกกลุ่มอาเซียนนั้นอาจนับเป็นโจทย์สำคัญสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องเข้ามาจัดการ หากต้องอาศัยแพลตฟอร์มและวิธีการแบบนี้ต่อไปในระยะยาวอาจจะมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพได้ และยังไม่นับรวมปัญหาในระยะสั้น (ปัจจุบัน) ที่ภาครัฐเองก็เริ่มจะมีปัญหาจากการที่แพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ เข้ามากวาดรายได้ไปอย่างมหาศาลแต่กลับไม่สามารถจัดเก็บภาษีเข้าประเทศได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเสียเท่าไหร่อีกด้วย
อ้างอิง: Bain & Company | Lazada Insider
Comment