ผู้ผลิตและจำหน่ายโดรนส์เบอร์ 1 ของโลกจากจีนอย่าง DJI ออกมายอมรับว่า บริษัทฯอาจะต้องเสียรายได้ไปสูงถึง 1,000 ล้านหยวน หรือราวๆ 4,700 ล้านบาทด้วยสาเหตุมาจากการทุจริตภายในของพนักงานหลายรายด้วยกัน สร้างความตกใจไม่น้อยให้กับโลกเทคโนโลยี ล่าสุดทางบริษัทฯ ได้ประกาศสอบสวนกรณีนี้เป็นการด่วน พร้อมมีการไล่พนักงานหลายรายออกหลังพบว่าเกี่ยวพันกับปัญหาทุจริตครั้งใหญ่นี้

ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในเคสอื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีนเลยก็ว่าได้ หากนับตั้งแต่จีนเริ่มสร้างชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่ในการเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกทางด้านเทคโนโลยีมาในช่วงราวๆ 20  ปีให้หลัง โดยเบื้องต้นมีรายงานว่าพนักงานกว่า 40 รายตกเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีทุจริตนี้และต้องถูกสอบสวนอย่างเข้มงวดต่อไป หลังจากถูกพบว่ามีการปลอมแปลงราคาต้นทุนของชิ้นส่วนที่จัดซื้อมาให้มีราคาสูงกว่าปกติ โดยที่ส่วนต่างดังกล่าวนั้นถูกยักยอกเข้ากระเป๋าพนักงาน สร้างความเสียหายรวมคิดเป็นเงินไทยราวๆ 4,700 ล้านบาทเลยทีเดียว

DJI ขอประณามการทุจริตโกงกินทุกรูปแบบอย่างจริงจังและเราได้ทำการจัดตั้งทีมงานระดับสูงเพื่อสอบสวนและกำหนดมาตรการต่อต้านการทุจริต
– DJI

นับตั้งแต่การเข้ามาของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ภาคธุรกิจสัญชาติจีนทั้งเล็กใหญ่ทั้งหลายถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในการควบคุม และต่อต้านการทุจริตมิเช่นนั้นจะต้องเจอผลลัพธ์อันไม่อาจคาดคิด (เป็นคำขู่อันแน่วแน่จากรัฐบาลจีนที่ก็ไม่แน่ชัดว่าคืออะไร 🙁 ) หากไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลจีน สำหรับ DJI นั้นถือเป็นอีกหนึ่งบริษัท High-Profile ยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี (Tech Giants) ของโลก มีพนักงานกว่า 14,000 คนและถือส่วนแบ่งยอดขายของกลุ่มผลิตภัณฑ์โดรนส์อยู่ราวๆ 3 ใน 4 เลยทีเดียวโดยปัจจุบันมี Mavic 2 นำทัพสำหรับตลาดผู้บริโภค และยังรวมไปถึงตลาดอุตสาหกรรมสื่อที่มีการนำโดรนส์ไปใช้กันอย่างแพร่หลายอีกด้วย

เราจะพยายามอย่างเข้มงวดเพื่อที่จะควบคุมการทำงานภายในให้โปร่งใสมากขึ้น รวมถึงการสร้างช่องทางสำหรับพนักงานผู้สุจริตให้สามารถรายงานปัญหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดและกระทำทุจริตต่อบริษัทฯได้โดยที่การรายงานจะเป็นความลับและไม่ต้องเปิดเผยตัวตน สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เราจะดำเนินการสอบสวนทั้งภายในและตามกฏหมายอย่างเต็มรูปแบบ…
– ส่วนหนึ่งของคำแถลงอย่างเป็นทางการของ DJI ประเทศจีน

 

ที่มา: Engadget | Bloomberg