สถาบันทดสอบมือถือชื่อดัง DXOMARK ได้ทำการทดสอบถ่ายภาพบุคคลโดยกล้องมือถือระดับท็อป ซึ่งผลปรากฎว่าคะแนนความพึงพอใจของผลลัพธ์ภาพถ่ายของบุคคลที่มีผิวสีดำนั้น ต่ำที่สุดในบรรดากลุ่มตัวอย่าง 6 สีผิว โดยทาง DXOMARK ระบุว่าปัญหาที่ว่านี้อาจเกิดจากระบบประมวลผลภาพ AI ที่มีความเอนเอียงไปทางภาพคนที่มีผิวสว่าง หรือผิวสีขาวมากกว่า
การวิจัยในครั้งนี้ทาง DXOMARK ได้ทดสอบถ่ายภาพโหมด Portrait กว่า 405 ฉากที่แตกต่างกันกับผู้ใช้งานมือถือทั่วไปกว่า 83 คน โดยช่างภาพมืออาชีพ 30 คน และผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาพถ่าย 10 คน และได้สอบถามความพึงพอใจของผลลัพธ์ในภาพด้านต่าง ๆ เป็นสเกลคะแนน 0 – 100 คะแนนซึ่งผลคะแนนปรากฏว่า รูปถ่ายของคนผิวดำกลับทำคะแนนความพึงพอใจได้น้อยที่สุด
ผู้ที่เข้าร่วมทดสอบให้เหตุผลว่า รูปที่ถ่ายคนผิวเข้มในโหมด Portrait นั้น เจอปัญหาทั้งในด้านการประมวลผลแสง, ค่า Exposure และการประมวลผลสีสันที่ค่อนข้างทำได้ด้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
สถาบันทดสอบระบุว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดข้อแตกต่างในการทดสอบครั้งนี้ คือความเอนเอียงในการเทรนระบบ AI ที่ใช้ในการประมวลผลภาพ ซึ่งโมเดล AI ในตลาดส่วนใหญ่ ถูกเทรนมาด้วยชุดข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัด ไม่ครอบคลุมความหลากหลายทางด้านสีผิว ทำให้กล้องในสมาร์ทโฟนประมวลผลภาพถ่ายบุคคลที่มีสีผิวเข้มไม่ถูกต้องนัก
DXOMARK ยังได้แนบตัวอย่างผลลัพธ์ในการถ่ายด้วยสถานที่เดียวกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าภาพถ่ายของบุคคลที่มีสีผิวที่สว่างกว่านั้น สามารถโฟกัสไปที่ตัวบุคคล และเปิดรับแสงได้ดีกว่ามาก ๆ แต่ในทางกลับกันฝั่งที่ถ่ายบุคคลผิวดำกลับหลุดโฟกัส และมีความสว่างน้อยกว่ามาก ๆ
นอกจากเรื่องระบบ AI ประมวลผลภาพแล้ว การปรับจูนกล้อง (Camera Calibration) ก็ถือเป็นปัญหาของกล้องมือถือด้วยเช่นกัน เพราะภาพสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้ปรับจูนกล้องนั้น อาจจะถูกจำกัดแค่เพียงพื้นที่ภูมิศาสตร์เดียว ทำให้ตัวอย่างที่ถูกใช้ในการปรับจูนขาดความหลากหลาย ส่งผลให้มือถือต่าง ๆ เรนเดอร์สกินโทนออกมาได้แตกต่างกัน และทำให้บางแบรนด์ถ่ายภาพคนผิวสว่างออกมาดีกว่าคนที่มีสีผิวเข้มนั่นเอง
ท้ายที่สุด DXOMARK ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าแบรนด์มือถือต่าง ๆ ควรเพิ่มความหลากหลายของชุดข้อมูลในการเทรน AI รวมถึงพัฒนาการปรับจูนกล้องใหม่ เพื่อให้มีความเที่ยงตรง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสีผิวไหนก็ตามเพื่อให้ประสบการณ์การถ่ายภาพด้วยมือถือออกมาดูดีกับผู้ใช้งานทุก ๆ คนมากที่สุด
ซึ่งในตอนนี้เองมีเพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่ใส่ใจในเรื่องดังกล่าว เช่น Google Pixel กับระบบ Real Tone ที่ทาง Google ยืนยันว่าได้พัฒนาระบบดังกล่าวร่วมกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางด้านสีผิว เพื่อให้สกินโทนออดมาดูไม่มืด หรือสว่างเกินไป เช่นเดียวกับ TECNO ที่มีระบบลักษณะคล้ายกันอย่าง Universal Tone
- PANTONE ออก SkinTone Validated มาตรฐานบ่งชี้ความแม่นยำการแสดงผล “สีผิวมนุษย์” ของหน้าจอ
- Google เผย…กล้องของ Pixel 6 จะให้สีสันที่แม่นยำ ครอบคลุมกับคนทุกสีผิวบนโลก สร้างโบเก้ได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น
- มือถือซูมไกลมีกี่แบบ ระบบ Optical Zoom และ Digital Zoom คืออะไร แบบไหนดีกว่ากัน?
ที่มา: Android Authority | DXOMARK
Comment