Vollebak บริษัทผู้ผลิตเครื่องแต่งกายสุดล้ำสัญชาติอังกฤษ เผยต้นแบบ Garbage Watch นาฬิกาดีไซน์เก๋ ที่ผลิตด้วยการผสมผสานขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ดจากคอมพิวเตอร์ ไมโครชิปจากสมาร์ทโฟน สายไฟจากทีวี ฯลฯ เพื่อลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) ล้นโลก และเพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน คาดพร้อมขายจริงปีหน้า

ยุคแห่งเทคโนโลยี

โลกทุกวันนี้เป็นยุคของเทคโนโลยี ในตอนนี้คุณจะพบว่า เพียงแค่กวาดสายตามองไปรอบ ๆ ก็จะเจอกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อยู่รอบตัว เป็นจำนวน 5-10 ชิ้น หรือมากกว่านั้น แน่นอนว่า อุปกรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ได้สร้างความสะดวกสบายให้แก่เรา จนถึงขนาดที่ว่า อุปกรณ์บางชนิดได้กลายมาเป็นปัจจัยที่แทบจะขาดไม่ได้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของใครหลาย ๆ คนไปแล้ว เช่น สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์

ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีความต้องการในตลาดสูง มันจึงถูกผลิตและป้อนเข้าสู่ในตลาดเป็นจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในทางกลับกัน มันส่งผลให้ขยะที่เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า e-waste เหล่านี้เพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย โดยจากการสำรวจพบว่า ในปี 2019 ที่ผ่านมา มีการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์จากน้ำมือของมนุษย์ออกสู่โลกเป็นจำนวนมากถึงกว่า 50 ล้านตัน ทำลายสถิติเดิมที่เคยบันทึกไว้เมื่อปี 2014 ที่ 9.2 ล้านตันยับเยิน

โลหะมีค่ามากมายอยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์

ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ส่วนใหญ่มีจุดจบที่การถูกนำไปฝังกลบอย่างขยะไร้ค่า โดยที่ไม่ได้มีการคัดแยก กำจัดอย่างถูกวิธี หรือนำกลับไปใช้ใหม่ สุดท้ายพวกมันก็เกิดเป็นมลพิษย้อนกลับมาทำร้ายเราและสิ่งแวดล้อม ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วขยะเหล่านี้มีโลหะมีค่ามากมาย เช่น เงิน ทองคำขาว ทองแดง นิกเกิล โคบอลต์ อะลูมิเนียม และสังกะสี นอกจากนี้รายงานยังระบุอีกด้วยว่า ทองคำเป็นจำนวนมากถึง 7% ของโลก ปะปนรวมกันอยู่ในกองขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ จนเหมือนเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะโดยปรกติแล้ว เราจำเป็นต้องขุดเพื่อนำโลหะมีค่าเหล่านี้ขึ้นมาจากพื้นดินเพื่อนำไปขายหรือนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป แต่ในตอนนี้เราดันฝังมันกลับลงไปในดินเสียอย่างนั้น

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าขยะไม่ใช่ขยะ ?

ทาง Vollebak ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว และได้ผุดความคิดขึ้นมาว่า “What if garbage isn’t garbage?” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าขยะไม่ใช่ขยะ” ประกอบกับการทำงานร่วมกันกับ Wallpaper* บริษัทผู้ผลิตนิตยสารด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมจากประเทศอังกฤษ ในโครงการ Re-Made ที่ต้องการจะผลักดันการออกแบบควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้เกิดเป็นนาฬิกา Garbage Watch ที่ผลิตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้ขึ้นมา

Garbage Watch นาฬิกาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์

แม้ว่า ชื่อ Garbage Watch ของมันที่แปลได้ตรงตัวว่า “นาฬิกาขยะ” จะฟังดูไม่โสภาเท่าไหร่ แต่เชื่อว่า ใครก็ตามที่ได้ทราบถึงที่มาที่ไปของมัน ก็คงพอจะหยวน ๆ ทำใจยอมรับชื่อของมันได้บ้าง แถมดีไซน์ของมันเองก็สวยงามและโดดเด่นไม่ซ้ำใคร โดยตัวเรือนของมันมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ในขณะที่หน้าปัดของมันนั้นมีขนาดใหญ่ เพื่อโชว์ให้เห็นถึงชิ้นส่วนภายในที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาด้วยกระบวนการอัปไซเคิล (upcycling) จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้ง เช่น เมนบอร์ดจากคอมพิวเตอร์ และไมโครชิปจากสมาร์ทโฟน โดยนำชิ้นส่วนจากอุปกรณ์ต่าง ๆ มาประกอบขึ้นใหม่เป็นนาฬิกาสุดเท่เรือนนี้ ส่วนสายข้อมือจะทำมาจากสายไฟของทีวี

รีไซเคิล / อัปไซเคิล

ตามคำอ้างของ Vollebak ระบุว่า นาฬิกาขยะเรือนนี้ถูกผลิตขึ้นมาด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งเรือน จากกระบวนการรีไซเคิลผสมผสานกับการอัปไซเคิล ซึ่งหลายคนคงจะคุ้นเคยกับคำว่า “รีไซเคิล” และทราบถึงความหมายของมันกันดีอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่เคยได้ยินคำว่า “อัปไซเคิล” มาก่อน แต่ไหน ๆ ก็มีการพูดถึงมันแล้ว จึงขออธิบายทั้งสองคำนี้ควบคู่กันไปเลย

  • รีไซเคิล (recycling) : การนำวัสดุเหลือใช้มาผ่านกระบวนการแปรสภาพใด ๆ เพื่อให้กลายเป็นวัสดุใหม่ที่นำมาใช้ได้อีกครั้ง เราจะเห็นได้บ่อยที่สุดคือ ขวดน้ำพลาสติกที่จะถูกนำไปสับจนละเอียด และถูกหลอมจนเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อเตรียมที่จะแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไปนั่นเอง
  • อัปไซเคิล (upcycling) : การนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา โดยที่ยังไม่ต้องถึงกับเอาไปรีไซเคิล ซึ่งสายข้อมือของนาฬิกา Garbage Watch เรือนนี้ ที่ทำมาจากสายไฟของทีวีที่ถูกทิ้งเองก็จัดว่าเป็นการอัปไซเคิลเหมือนกันครับ

ราคาและวันวางจำหน่าย

ณ ตอนนี้ Garbage Watch ยังเป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบเท่านั้น ซึ่งทาง Vollebak ได้คาดการณ์ว่า จะสามารถผลิต Garbage Watch ออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2021 ที่จะถึงนี้ ส่วนของราคาและรายละเอียดที่เหลืออื่น ๆ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลแต่อย่างใด เอาเป็นว่า ใครที่สนใจเจ้านาฬิกาสุดเท่ตัวนี้ คงต้องอดใจรอกันไปก่อนจนกว่าจะถึงปีหน้าครับ

อ้างอิง : Vollebak | Wallpaper* | GLOBAL E-WASTE (pdf) | Wikipedia (1, 2)