นอกจากระบบล่มเก่งแล้ว ช่วงนี้ดูท่าอาจจะจ่ายค่าปรับเก่งอีกด้วยสำหรับ Facebook หลังจากล่าสุดแพ้อุทธรณ์คำร้อง สำหรับคดีในศาลชั้นต้นของมลรัฐอิลลินอยซ์ ในข้อหากระทำการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในข้อมูลชีวภาพประเภท Face Recognition โดยถูกสั่งให้กลับไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันต่อในศาล คาดอาจสูญเงินไปกับค่าปรับส่วนนี้อีกร่วม ๆ แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ย้อนไปช่วงปี 2015 ที่ Facebook ตกเป็นจำเลยในชั้นศาลข้อหาละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ภายใต้กฎหมายความเป็นส่วนตัวในข้อมูลชีวภาพ (Biometric Information Privacy Act) ของมลรัฐอิลลินอยซ์ที่กำหนดให้ธุรกิจใด ๆ ที่ประสงค์เข้าถึง จัดเก็บ หรือใช้ประโยชน์ในข้อมูลส่วนบุคคลประเภทชีวภาพ (biometrics) ซึ่งรวมไปถึงการสแกนใบหน้า จะต้องจัดทำนโยบายและชี้แจงวิธีการสู่สาธารณะก่อนที่จะกระทำการใด ๆ

แน่นอนว่าฟังก์ชั่นสุดล้ำอย่าง Tag Suggestions ของ Facebook ที่ใช้ระบบจดจำใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์แนะนำให้เกิดการแท็กเพื่อนบน Facebook ของเราโดยอัตโนมัติเวลาที่เราโพสต์รูปภาพนั้น ไม่รอดตกเป็นเป้าของกฎหมายนี้ โดย Facebook ถูกกล่าวหาว่า ไม่มีการชี้แจงนโยบาย เงื่อนไข หรือขอความยินยอมใด ๆ ที่ชัดเจนจากผู้ใช้งานเลยตั้งแต่เปิดใช้ฟังก์ชั่นนี้มา

ทำให้ถูกตัวแทนของรัฐฟ้องร้องในศาลชั้นต้นตั้งแต่ปี 2015 พร้อมกับถูกศาลตัดสินเบื้องต้นให้มีมูลความผิดพร้อมยกคดีเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action (มีผู้เสียหายหลายราย) ทั้งนี้ Facebook ได้ให้การปฏิเสธพร้อมทั้งยื่นอุทธรณ์ต่อมาในประเด็นว่า “โจทก์ยังไม่มีความเสียหายที่พิสูจน์ได้จริงเป็นรูปธรรม และการยกระดับคดีเป็นแบบ Class Action นั้นไม่ชอบธรรมด้วยอำนาจของศาล”

ศาลบอก Facial Recognition ของ Facebook อาจล่วงล้ำสิทธิชัดเจน ไล่กลับไปพิสูจน์กันต่อในศาลชั้นต้น

ล่าสุดทางศาลอุทธรณ์นั้นไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ มีคำตัดสินโดยลูกขุนเป็นเอกฉันท์ (3 – 0) ให้ Facebook ต้องถูกดำเนินคดีต่อไปในศาลชั้นต้นพร้อมยืนยันการยกระดับคดีความให้เป็นแบบ Class Action ต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้อำนาจการต่อรองของฝั่งผู้บริโภค (โจทก์) แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าการแยกคดีเป็นการส่วนตัว โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวของรัฐอิลลินอยซ์นั้น กำหนดโทษเอาไว้สำหรับความเสียหายต่อบุคคลตั้งแต่ 1,000 – 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อราย ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อคนนับล้านอาจส่งผลให้ท้ายที่สุด Facebook ต้องควักเงินจ่ายค่าเสียหายอีกหลายพันล้านดอลลาร์หรือร่วม ๆ แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ศาลได้ข้อสรุปแล้วว่าการพัฒนาและนำมาใช้ซึ่งวิธีการของระบบ Facial Recognition โดยไม่ได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง (ตามข้อกล่าวหา ซึ่งยังต้องพิสูจน์ต่อไป) ย่อมอาจเป็นการล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคลอย่างชัดเจนและความเสียหายนั้น มีส่วนได้เสียที่เป็นรูปธรรม – ถ้อยคำส่วนหนึ่งจากคำตัดสินศาล ต่อข้ออุทธรณ์ของ Facebook Inc.

หลังจากนี้คดียังไม่สิ้นสุดเพราะเป็นการอุทธรณ์ในประเด็นข้อสงสัยต่อคำฟ้องและอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้น โดยตามที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้นั้น Facebook และบรรดาโจทก์ร่วมซึ่งจะประกอบไปด้วยองค์กรรัฐและกลุ่มตัวแทนผู้เสียหาย จะต้องกลับไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันต่อในศาลชั้นต้นนั่นเอง

ในเบื้องต้นนั้น Facebook ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจเอาไว้พร้อมประกาศจุดยืนปฏิเสธ ขอพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่าคำตัดสินในประเด็นนี้ของศาลอุทธรณ์นั้นผิดพลาด และนอกจากนั้นแล้วทาง Facebook ก็ได้มีการเปิดเผยถึงเงื่อนไขและข้อกำหนดในการใช้บริการดังกล่าวเอาไว้เสมอ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเปิด – ปิดฟังก์ชั่น Tag Suggestions ได้ตลอดเวลา แถมประกาศชัด หากการตัดสินไม่เป็นที่น่าพอใจพร้อมนำคดีนี้ยื่นศาลสูงต่อไปอีกด้วย งานนี้ติดตามกันยาว ๆ ว่าผลสุดท้ายจะจบลงแบบไหน…

 

อ้างอิง: Reuters | The Verge | US Courts