เรียกได้ว่าฉาวอยู่เรื่อย ๆ สำหรับ Facebook กับปัญหาเรื่องสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ล่าสุดโดนโทษปรับเป็นเงิน 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 70 ล้านบาท ข้อหาไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติใหม่ว่าด้วยเรื่องการควบคุมเน็ตเวิร์คของเยอรมัน ที่ถูกตราเป็นกฎหมายเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้เจ้าของบริการ Social Media ทั้งหลาย ต้องทำรายงานเกี่ยวกับปริมาณเนื้อหาที่ผิดกฎหมายทุก ๆ 6 เดือนซึ่งล่าสุดพบว่าในรายงานของ Facebook นั้นมีจำนวนไม่ตรงกับความเป็นจริง

เยอรมันลั่น Facebook บิดเบือนรายงาน สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่เป็นจริง

กฎหมายใหม่ที่มีชื่อว่า The Network Enforcement Act ของเยอรมันนั้น ถูกบังคับใช้ขึ้นเมื่อปี 2018 โดยมีเนื้อหาหลักในการควบคุมบรรดาสื่อประเภทโซเชียลมีเดียว่า ต้องมีการรายงานเนื้อหาที่มีลักษณะสื่อถึงความรุนแรง หรือ การละเมิดกฎหมาย โดยบังคับให้ต้องรายงานกับทางรัฐบาลทุก ๆ 6 เดือน นอกจากนั้นยังกำหนดด้วยว่าหากเกิดกรณีของเนื้อหาประเภทข่าวปลอมหรือถ้อยคำเกลียดชัง (Fake News or Hate Speech) ทางแพลตฟอร์มต้องจัดการกับเนื้อหาลักษณะดังกล่าวภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมีการรายงาน ไม่อย่างนั้นอาจต้องพบกับค่าปรับร่วม 2,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

สำนักงานยุติธรรมกลางของเยอรมัน (German Federal Office of Justice) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่ารายงานฉบับล่าสุดของ Facebook นั้นไม่โปร่งใส และสั่งปรับเป็นเงิน 2.3 ล้านเหรียญ หรือราว 70 ล้านบาทด้วยกัน

รายงานฉบับนี้แสดงจำนวนการร้องเรียนเนื้อหาที่ผิดกฎหมายแค่ส่วนเดียวจากความเป็นจริงเท่านั้น ปัญหาแบบนี้สร้างภาพลักษณ์ต่อสาธารณะที่บิดเบือนเกี่ยวกับจำนวนและวิธีการจัดการกับเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดกฎหมายทั้งหลาย – คำแถลงจากตัวแทนของรัฐบาลเยอรมัน

Facebook อ้างกฎหมายใหม่ไม่ชัดเจน แต่ก็ทำตามแล้ว…

ตามรายงานครึ่งปี 2018 ที่ทาง Facebook โดนโทษ นั้นเผยว่ามีการยื่นร้องเรียนเนื้อหาออนไลน์ที่ผิดกฏหมายอยู่ที่ 1,704 รายการ หากเทียบกับ YouTube ที่ส่งรายงานให้กับเยอรถึง 144,836 รายการ ซึ่งดูเหมือนว่ารายงานของ Facebook นั้นดูน้อยจนผิดปกติไปมาก อย่างไรก็ตาม ทาง Facebook ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ออกมาว่า พวกเขามั่นใจว่าได้ทำรายงานถูกต้องตามกฎหมายใหม่ฉบับนี้แล้ว

เราเห็นด้วยกับเสียงวิจารณ์จำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เต็มไปด้วยข้อกำหนดที่ไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เราจะศึกษาคำสั่งโทษปรับพร้อมรายละเอียดตามกฎหมายฉบับนี้ต่อไปและขอสงวนสิทธิ์ดำเนินการอุทธรณ์ – แถลงการณ์จาก Facebook

เยอรมันนับเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญและมีมาตรการค่อนข้างเด็ดขาดต่อเนื้อหาที่มีลักษณะสร้างความเกลียดชังเป็นอย่างมากหากเทียบกับชาติอื่น ๆ ทั่วโลก การแสดงออกถึงถ้อยคำเกลียดชัง การแสดงสัญลักษณ์บางประเภท (เช่นเครื่องหมายสวัสติกะ) หรือแม้แต่การแสดงออกถึงการสนับสนุนทฤษฎี Holocaust Denial (ทฤษฎีปฏิเสธการเกิดขึ้นของยุทธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและมีโทษจำคุกได้ทั้งสิ้น จึงทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมเยอรมันจึงเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อเนื้อหาบนโลกออนไลน์นั่นเอง

 

ที่มา: CNN Business