มีร้านค้าบนแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์บางส่วนได้นำระบบการให้คะแนนและการรีวิวสินค้ามาใช้งานในทางที่ผิด โดยการใช้ยูสเซอร์ปลอม หน้าม้า ไปจนถึง AI มาใช้สร้างรีวิวปลอมขึ้นมาในลักษณะ “ปั่นคะแนน” “รีวิวอวยเกินจริง” หรือแม้แต่ “รีวิวอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าเลย” ก็มี เพราะเกิดจากการรีวิวมั่ว ๆ โดยที่ไม่ได้ใช้งานจริง แล้วเราจะมีวิธีการสังเกตร้านค้าที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้ได้อย่างไรเพื่อไม่ให้หลงกลและตกเป็นเหยื่อ สามารถติดตามได้ในบทความนี้เลย

รีวิวปลอมระบาดแอปช็อปปิ้งออนไลน์

เดิมทีระบบการให้คะแนนร้านค้าและการรีวิวสินค้าบนแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ มีไว้สำหรับแบ่งปันประสบการณ์การใช้งานสินค้านั้น ๆ ระหว่างผู้ใช้ด้วยกันเอง และเป็นสิ่งที่จะมาช่วยพิจารณาประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้ใช้ รวมไปถึงยังสามารถช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่ร้านค้าได้อีกด้วย (หากสินค้าและบริการมีคุณภาพจริง) แต่ในเมื่อปัจจุบันนี้มีการนำระบบรีวิวไปใช้ในทางที่ผิด เราจึงควรทำการตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่า รีวิวนั้น ๆ เป็น “รีวิวจริง” จาก “ผู้ใช้งานจริง” หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือหลงเชื่อไป แต่พอได้รับสินค้ามาแล้วกลับไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ ซึ่งทางทีมงานเองก็เจอมากับตัว ดังที่เห็นในวิดีโอด้านล่างนี้

Play video

 

วิธีสังเกตรีวิวปลอม

มีการใช้คำซ้ำเยอะผิดปรกติ

สิ่งที่สังเกตได้เป็นลำดับแรก ๆ ของรีวิวปลอมเหล่านี้คือ มีการใช้คำซ้ำเยอะผิดปรกติ โดยคำซ้ำที่ว่านี้หมายถึง การเอ่ยถึงชื่อรุ่นหรือชื่อแบรนด์ ไปจนถึงการกล่าวอ้างสรรพคุณและสเปคของตัวสินค้าซ้ำ ๆ อย่างผิดสังเกต ตรงส่วนนี้คาดว่า เกี่ยวเนื่องกับ SEO (search engine optimization) อธิบายง่าย ๆ คือ เวลาเราค้นหาอะไรบางอย่างผ่านระบบการค้นหา ไม่ว่าจะเป็น Google หรือการค้นหาภายในเว็บหรือแอป ด้วย “คีย์เวิร์ด” ที่ตรงกับรีวิวปลอมพวกนี้ มันก็จะแสดงผลการค้นหาขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ ซึ่งการกระทำลักษณะนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินค้าของร้านนั้น ๆ จาก search engine อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความน่าซื้อให้แก่สินค้า (แบบปลอม ๆ) อีกด้วย


เหมือนภาษาหุ่นยนต์ที่พิมพ์ตามสคริปต์

นอกจากนี้ จากการสำรวจเพิ่มเติมล่าสุดพบว่า รีวิวปลอมพวกนี้มีการพัฒนารูปแบบการเขียนให้แนบเนียนมากยิ่งขึ้น ไม่ดูเป็นภาษาประหลาด ๆ แบบที่แล้วมา และมีการเปลี่ยนแนวทางการเขียนจากการอวยด้านสเปคและคุณสมบัติของตัวสินค้าซ้ำ ๆ ไปเป็นการอวยร้านค้าแทน เช่น กล่าวชมว่า แพ็กสินค้าดี บริการหลังการขายดี หรือส่งสินค้าไวมาก ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ร้านตัวเองโดยที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

เนื้อหาหรือรูปภาพที่รีวิวไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวสินค้าเลย

ส่วนนี้คาดว่า เกิดจากการที่ผู้รับจ้างรีวิวได้รับเงินค่าจ้างโดยคิดเป็น “จำนวนครั้งที่รีวิว” จึงเขียนรีวิวส่งเดชไปอย่างนั้นก็เป็นได้ หนักที่สุดถึงขั้นที่ว่า มีการใช้ภาพที่ไม่ใช่ตัวสินค้าที่เป็นรุ่นหรือแบรนด์ที่ตรงกันมาใช้ในการรีวิวก็มี


เป็นภาพเครื่องล้างจานเหมือนกัน แต่ภาพที่เอามารีวิวคนละยี่ห้อเลย

เขียนรีวิวพัดลมไอเย็น แต่ภาพที่แปะมากลับเป็นเครื่องซีลสุญญากาศ

ภาษาที่ใช้ดูประหลาด

หากอ่านดูแล้วรู้สึกขัด ๆ ภาษาดูไม่เป็นธรรมชาติเหมือนอย่างที่คนไทยปรกติพิมพ์คุยกันทั่วไปแล้วล่ะก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าคือ รีวิวปลอม เพราะอาจเป็นรีวิวที่เกิดจากโปรแกรมหรือ AI ไม่ได้มาจากคนจริง ๆ

สินค้าดูไม่มีคุณภาพ แต่ได้คะแนนรีวิวสูงเกินจริง

เราควรตรวจสอบให้แน่ชัดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าจากประเทศจีนที่เป็นแบรนด์โนเนมราคาถูก แต่กลับบรรยายสรรพคุณซะอลังการ แถมยังได้คะแนนรีวิวสูงอีกด้วย ซึ่งการ “อวยเกินจริง” นี้ ต้องพิจารณาแยกกันดี ๆ ระหว่าง “เป็นผู้ใช้งานจริงที่อวยเกินจริง” หรือ “เป็นรีวิวปลอมที่อวยเกินจริง” แม้ทั้งสองเคสนี้จะต่างกัน แต่ก็ต้องอ่าน คิด วิเคราะห์ และแยกแยะกับทั้งสองกรณีอยู่ดีครับ ไม่ใช่ว่า อ่านปุ๊บแล้วเชื่อเลย ในกรณีนี้อาจจะยากสักหน่อย เนื่องจากสินค้าราคาถูกที่คุณภาพดีมันก็มีอยู่จริงเช่นกัน


อย่าปักใจเชื่อเพียงแค่จากคะแนนรีวิว

มีเทคนิคเล็กน้อยเกี่ยวกับกรณีนี้ คือ ให้ดูและอ่าน “รีวิวคะแนนต่ำ” ประกอบ แล้วลองชั่งน้ำหนักระหว่าง “คำติ” และ “และคำชม” ดูว่าสมเหตุสมผลหรือมีอะไรขัดแย้งกันหรือไม่

ใช้รูปรีวิวซ้ำกับของคนอื่น

การใช้รูปรีวิวซ้ำ ๆ กันกับผู้ใช้รายอื่นมาแปะลงในรีวิวเป็นอีกจุดหนึ่งที่ง่ายต่อการสังเกต และโดยมากแล้วในเคสแบบนี้จะมีพฤติกรรมเขียนคำซ้ำ หรือใช้ภาษาแปลก ๆ ร่วมด้วย


นอกจากรูปภาพจะซ้ำกันแล้ว หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า จำนวนไลค์เองก็เท่ากันด้วย (กดให้กันเอง) และรูปแบบการพิมพ์อวยจะซ้ำ ๆ กัน

ต่อเนื่องจากด้านบน คนเดียวกันรีวิวสินค้าแทบทั้งร้าน แถมภาพที่ใช้ก็มีลักษณะคล้ายแคปมาจากคลิป ไม่ได้ถ่ายมาด้วยตัวเอง

เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดแต่ในประเทศไทยเท่านั้นนะครับ แม้แต่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ระดับโลกอย่างเช่น Amazon และ AliExpress เอง ก็ประสบปัญหานีัเหมือนกัน และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถหาทางจัดการกับรีวิวปลอมพวกนี้ได้ (ลบไปเดี๋ยวก็โผล่มาอีก) เราจึงต้องใช้ “เซนส์” หรือวิจารณญาณพิจารณาเอาเองตามที่ได้แนะนำไปด้านบน แต่ที่ได้แนะนำไปก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ มันไม่ได้มีกฎเกณฑ์หรือวิธีการสังเกตที่ตายตัวเสียทีเดียว อย่างไรแล้ว ถ้าเจอรีวิวปลอมพวกนี้ก็อย่าลืมกดรีพอร์ตไปยังระบบกันล่ะ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้คนอื่น ๆ ด้วย