มาเก็บตกลงข่าวย้อนหลังถึงงาน TechJam 2019 by KBTG กันสักนิด ด้วยความที่ตัวงานมีความน่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ที่ชื่นชอบและอยู่ในสายงานด้านไอที ทั้ง Code, Design, Data เพราะทาง KBTG ได้เปิดเวทีนี้ขึ้นมาให้เหล่าจอมยุทธ์มีพื้นที่แสดงความสามารถและประมือกับยอดฝีมือคนอื่นได้ ซึ่งหาดูได้ยากมากในประเทศที่เต็มไปด้วยเวทีประกวดร้องเพลง

Code – Design – Data ความสามารถที่เป็นดาวเด่นของอนาคต

บุคลากรในสามสายนี้ปัจจุบันเรียกว่าเป็นที่ต้องการมากทั้งในตลาดแรงงานไทย และโลกเลยก็ว่าได้ เราได้เห็นคนไทยที่มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งมีโอกาสเข้าไปทำงานกับบริษัทใหญ่ทั้งระดับประเทศและระดับโลก เงินเดือน 6 หลักแบบไม่ยาก ยิ่งในอนาคตอันใกล้ AI – Robot กำลังจะปฎิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้ง หลายอาชีพจะตกงาน แต่คนสามสายนี้บอกเลยว่าจะยังยืนหนึ่งเป็นที่ต้องการแบบที่ไม่มีทางพอง่ายๆ โดยสกิลของแต่ละสายเปรียบเทียบแล้วก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน แต่ก็ต้องทำงานร่วมกันแบบลึกซึ้ง เหมือนอาชีพในเกม RPG ที่ในทีมต้องมีทั้ง นักรบ นักเวทย์ นักบวช อะไรแบบนั้นเลย

#ทีมCode รู้จักกันดีในนาม Programmer – Developer ผู้เขียนโค้ดมาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เหล่าแอปที่ใช้กันอยู่ก็เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่ถูกแก้ด้วยการเขียนโค้ดนะ เช่น Spotify ก็ทำให้การฟังเพลงได้ง่ายขึ้น อยากฟังเพลงอะไรก็ได้ฟัง, Google ทำให้การหาข้อมูล-ความรู้เป็นไปได้ง่ายขึ้น ทำได้ทุกที่ทุเวลา, LINE เปลี่ยนการเชื่อมต่อสื่อสาร ให้คนพูดคุยกันง่ายขึ้น, และอื่นๆ อีกมากมาย

#ทีมDesign เหล่าผู้แก้ไขปัญหาผ่านการออกแบบ โดยคนที่ออกแบบทำกราฟฟิกได้ กับทำเป็นนี่คือคนละเรื่อง เพราะศาสตร์นี้ถ้าอยู่ในระดับสูง สามารถชี้นำความคิดของผู้ใช้ได้แบบไม่ยาก รวมถึงทำให้แอปธรรมดา ๆ กลายเป็นแอปที่ปังได้เลยก็ว่าได้ สังเกตจากแอปยอดนิยมทั้งหลาย ยังไงดีไซน์ต้องดีไว้ก่อน หน้าตาไม่ผ่าน ใช้งานยาก ยังไงก็พังก่อนจะปังแน่นอน

#ทีมData เป็นเรื่องที่อาจจะใหม่สำหรับหลายคน แต่ในตลาดแรงงานเป็นอะไรที่ขาดแคลนและต้องการอย่างสูง เพราะคนพวกนี้จะเป็นคนที่แปลงข้อมูลมหาศาลที่บริษัทแต่ละแห่งมีในระบบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมที่ลูกค้าเคยทำ ประวัติพื้นเพผู้ใช้ ฐานข้อมูลสินค้า กลายเป็นทองได้ เพราะโลกในเวลาอันใกล้ ข้อมูลเป็นสิ่งที่มีค่ามาก แต่ก็เทียบได้แร่ต่าง ๆ หากอยู่ในพื้นดินไม่ถูกนำมาเจียรก็จะไม่มีค่าอะไร แต่หากได้ Data Scientist มาขุดและแปลงค่าแล้ว มูลค่าจะมีอยู่มากมายมหาศาล สามารถรู้ข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรม แปรผลข้อมูลให้เป็นข้อได้เปรียบคู่แข่ง และสร้างผลกำไรให้มากขึ้นได้อย่างมีนัยยะได้นั่นเอง

TechJam 2019 คืองานอะไร?

TechJam เป็นงานแข่งขันแสดงความสามารถด้านเทคโนโลยี จัดขึ้นโดย KBTG หรือ KASIKORN Business- Technology Group บริษัทลูกในเครือของธนาคารกสิกรไทย เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เข้าร่วมแข่งขันแสดงความสามารถ ซึ่งเรียกได้เป็นเวทีการประชันความสามารถนอกเหนือจากสายบันเทิงที่โดดเด่นที่สุดอีกเวทีนึงของประเทศเลยก็ว่าได้ โดยงาน TechJam 2019 by KBTG นี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว และยังคงจุดประสงค์เดิม ที่ต้องการจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจสามารถเข้าร่วม เรียนรู้ และฝึกฝน ผ่านเวทีแข่งขัน เพื่อพัฒนาตัวเอง และช่วยผลักดัน Community ให้เติบโตมากขึ้น

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นงานแข่งขันด้านเทคโนโลยี รวมหัวกะทิสายไอทีแบบนี้ในประเทศ

การแข่งขันจะมีให้เลือกเข้าร่วมทั้งหมด 3 ด้าน คือ Deep Code, Deep Design, และ Deep Data โดยผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกเข้าร่วมได้เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น และจะแบ่งออกเป็น 2 รอบด้วยกัน รอบแรกจะเป็น First Round ที่คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันผ่านออนไลน์ และสำหรับผู้ที่ผ่านเข้ารอบก็จะได้เข้าร่วมแข่งขันในรอบ Final Round ที่สำนักงาน KBTG ณ เมืองทองธานี ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นเวลา 2 วันด้วยกัน

ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันในงาน TechJam เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีแรกมีผู้สมัครประมาณ 800 คน, ปีที่ 2 ประมาณ 1,200 คน และในปีนี้มีมากถึง 1,750 คน โดยแบ่งออกเป็น Deep Code 800 คน, Deep Data 650 คน และ Deep Design 300 คน

​รายละเอียดการแข่งขันของแต่ละสาย

Deep Code

โจทย์จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ โจทย์ปัญหาเชิงอัลกอริทึม เพื่อวัดความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาเชิงคำนวณ (Problem Analysis) ออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหา (Algorithm Design) และสามารถลงมือเขียนโค้ดเพื่อแก้ไขปัญหาได้จริง (Programming) และโจทย์ปัญหาให้เขียน Web Service Application ตาม Requirement ที่กำหนดให้ โดยจะจำลองสภาพแวดล้อมการทำงานเสมือนจริง เพื่อวัดความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น ทักษะการเขียนโค้ดที่มีคุณภาพ รองรับการแก้ไขในอนาคตได้ง่าย เป็นต้น

ซึ่งโจทย์ทั้งสองนี้ใช้หลักเกณฑ์ในการวัดเหมือนกัน คือ ดูความถูกต้องและประสิทธิภาพของโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่ผู้เข้าแข่งขันเขียนขึ้น

Deep Design

วัดความสามารถจากการค้นหา Insight ผ่านการสัมภาษณ์ Users 4 คน เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้งาน Platform ที่เราจะทำการพัฒนา (Persona) กลุ่ม Gen Z ที่ทางทีมงานเตรียมให้ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบ Platform ทุกทีมจะมีเวลาเตรียมตัวสำหรับ Pitching 1 คืน โดยจะจับฉลากว่าทีมไหนจะได้ Pitching ลำดับที่เท่าไรในวันรุ่งขึ้น

เกณฑ์การตัดสิน คือ การนำเสนอผลงาน (Pitching) ในเวลา 5 นาที และตอบคำถามจากกรรมการอีก ประมาณ 5 นาที ซึ่งช่วงนี้เรียกได้ว่าเป็นโบนัสให้ผู้เข้าแข่งขันอธิบายและนำเสนอผลงานไอเดียเพิ่มเติมได้ แบ่งสัดส่วนการให้คะแนนเป็นตามนี้

  1. การเข้าใจผู้ใช้งาน (Users)และนำเสนอเพื่อหา Insight ได้อย่างชัดเจน (30%)
  2. การตีความประเด็นปัญหาหรือ Reframe (10%)
  3. มีการนำเสนอ Solution ที่แตกต่างและมีความเชื่อมโยงกับ Insight ที่กล่าวถึงในข้อที่ 1 (30%)
  4. การนำเสนอที่ผ่านกระบวนการคิดแบบรอบด้านทั้งประสบการณ์ผู้ใช้งาน,Business, เวลาที่เหมาะสมในการปล่อย Product และช่วยให้สถาบันการเงินได้ประโยชน์ (20%)
  5. นำเสนอด้วยความมั่นใจ ตรงประเด็นและรักษาเวลาตามที่กำหนด (10%)

ทั้งนี้ เกณฑ์การให้คะแนนจะวัดจากการทำความเข้าใจผู้ใช้งาน นำเสนอประเด็นที่คนทั่วไปไม่รู้มาก่อน การตีประเด็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกับ Insight และ สื่อสารเข้าใจ กระชับ ตรงประเด็น

Deep Data

วัดความสามารถจาก 2 ส่วนหลัก ๆ คือ Technical Skills ความช่างสังเกต โดยเพียงแค่ดูวิธีการแจกแจงของข้อมูล เพราะข้อมูลที่ให้จะไม่ได้บอกความหมายใด ๆ แก่ผู้เข้าแข่งขัน และ Business Skill หรือการนำข้อมูลไปใช้จริงในเชิงธุรกิจ ทั้งนี้มีเกณฑ์การตัดสินคือ ให้สร้างโมเดลจากข้อมูลที่ให้ไป

โดยวัดที่ความสามารถในการทำนายความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ พร้อมด้วย presentation skills ที่จะเปิดให้เป็นแบบ free style ซึ่งจะมีเวลาให้ทีมละ 5 นาที และตอบคำถาม 3 นาที

บทสรุปของการแข่งขัน ทีมและผู้ชนะ TechJam 2019

ในวันที่ 2 ของ Final Round (วันที่ 1 ธันวาคม 2562) จะเป็นวันที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องส่งผลงานและนำเสนอผลงานให้กับกรรมการ โดยผลการตัดสินก็จะประกาศในวันนี้เลยทันทีทั้ง 3 ด้าน โดยมีรางวัลให้ทั้งหมด 3 อันดับด้วยกัน

  • อันดับ 3 จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร
  • อันดับ 2 จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร
  • อันดับ 1 นอกจากจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร และได้ไปสัมผัสประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ​ ณ Silicon Valley ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังจากการตรากตรำทำโจทย์และปล่อยของกันตลอดระยะเวลา 2 วัน ก็ได้ผู้ชนะของงาน TechJam 2019 มาทั้ง 3 ด้านโดยมีรายชื่อทีมและผู้ชนะดังนี้

  • ผู้ชนะเลิศ Deep Code ได้แก่ทีม FM and Pol ของนายพล สุรกิจโกศล และนายเอกลักษณ์ ลีละศรชัย (คนที่ 5 และ 6 จากซ้าย)
  • ผู้ชนะเลิศ Deep Data  ได้แก่ทีม Alannkuma ของนายวัชรินทร์ เหลืองวัฒนากิจ และนางเอมฤดี จงทวีสถาพร (คนที่ 5 และ 4 จากขวา)
  • ผู้ชนะเลิศ Deep Design ได้แก่ทีม GTBK ของนายธนนท์ วงษ์ประยูร และนายตฤณ นิลกรณ์  (คนที่ 3 จากขวา)

ที่มาที่ไปว่าทำไมแต่ละทีมถึงได้รางวัล และต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง เราจะพาทุกคนไปพูดคุยกับทีมผู้ชนะ พร้อมกับกรรมการในแต่ละสายถึงจุดเด่นของพวกเขากัน

ทำความรู้จักแต่ละทีมผู้ชนะ

Deep Code | FM and Pol

พล และ เอกลักษณ์ เพิ่งจบการศึกษากันมาหมาดๆ โดยปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Software Engineer ด้วยกันทั้งคู่ มีความชอบในการแก้โจทย์อัลกอริทึมกันมาเป็นพื้นฐาน ก่อนหน้านี้ก็สนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้อยู่ แต่หาพื้นที่สำหรับคนที่มีความสามารถด้านนี้มาปล่อยของได้ยากมาก หรือถ้าจะมีในไทยส่วนมากจะเป็นกิจกรรม Hackathon (จัดทีมมาร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เสร็จภายในอีเว้นท์) เมื่อเห็นทาง KBTG จัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นมาก็ไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมด้วยเลย มีทั้งโจทย์ Algorithm – Web Service ให้ แถมมีเรื่องของ Requirement ที่มีการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแบบชีวิตจริงอีกต่างหาก เรียกว่าการเข้าร่วม TechJam 2019 นี้เป็นเหมือนกันวัดผลระดับความสามารถของตัวเองได้เป็นอย่างดีเลย

ซึ่งจากคำบอกเล่าของกรรมการ ที่บอกว่าปีนี้การแข่งขันจะเน้นเรื่องอัลกอริทึมและโครงสร้างข้อมูลเป็นหลัก ใครที่สามารถเขียนโค้ดที่ดี แก้ไขง่าย มี Testing ที่ดี รวมไปถึงสามารถทำงานในสถานการณ์จริง เวลาอยู่ในโลกของ Software Developer ปีนี้ก็เลยคิดโจทย์เพิ่มเติมขึ้นมา โดยทีมที่ชนะก็เป็นทีมเดียวที่ทำคะแนนได้สูงทั้ง 3 เรื่อง ทำให้เค้าได้ที่ 1 นั่นเอง

Deep Data | Alannkuma

วัชรินทร์ และ เอมฤดี ทั้งคู่ต่างทำงานอยู่ในสายงานด้านข้อมูล และได้เข้าร่วมงานมาตั้งแต่ปีแรก และมาเป็นปีที่สามแล้ว ที่เข้าร่วมมาโดยตลอดก็เพราะได้เห็นความสนุก ได้เจอโจทย์แปลกใหม่ ได้กระตุ้นตัวเองให้พัฒนาเพื่อที่จะมาเข้าแข่งขัน และได้เห็นข้อมูลอีกด้านจากอุตสาหกรรมอื่น เพราะปกติไม่ได้ทำงานสายธนาคาร ซึ่งงาน TechJam ได้นำเอาข้อมูลตัวอย่างของผู้ใช้บัตรเครดิตมาให้แก้กัน การเจอโจทย์ใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ๆ ก็เป็นการเปิดมุมมองความคิดให้กว้างขึ้น และได้ Insight ใหม่ๆ เพื่อนำปรับปรุงดัดแปลง เพื่อนำไปใช้พัฒนาธุรกิจได้เป็นอย่างดีเลย

การแข่งขันของสายนี้ผู้ชนะอันดับ 1 และ 2 จะมีความสามารถที่ค่อนข้างห่างจากทีมอื่นมาก ทำให้ตัวกรรมการเองต้องไปดูที่ตัว Presentation และ Insight ของแต่ละทีมว่าสามารถนำเอาไปใช้พัฒนาธุรกิจได้จริงแค่ไหน ซึ่งทั้งสองทีมความสามารถแทบจะไม่ได้ต่างกันเลย จนเรียกได้ว่าเป็นผู้ชนะทั้งคู่ก็ว่าได้ แต่สุดท้ายแล้วกฎก็คือกฎ หลังจากลงคะแนนแล้วเฉือนกันแค่นิดเดียว ยังไงก็ต้องเลือกเพียงหนึ่งทีมเป็นผู้ชนะ

Deep Design | GTBK

ธนนท์ และ ตฤณ สอง Designer ที่เจอกันในคอร์สเรียนโปรแกรม Sketch ต่างเพิ่งเข้าร่วมงาน TechJam 2019 เป็นปีแรก ซึ่งก็ประทับใจกับแนวทางการแข่งขันที่กำหนดโจทย์และสถานการณ์มาได้เหมือนชีวิตจริง ให้ได้สัมภาษณ์กับกลุ่มคนจริงๆ เพื่อหา Insight และทำโจทย์ที่เกี่ยวกับการโน้มน้าวให้คนมารีวิวกันให้มากขึ้น ซึ่งทีม GTBK ก็ได้ออกแบบสร้างระบบ Incentive ให้คนลงรูปและรีวิวด้วยรูปแบบ Emoji Review เพื่อสร้างความสนุกในการรีวิวให้มากขึ้น หรือจะแชร์ความรู้สึกตัวเองแบบเดียวกับ Story อัดคลิปสั้นๆ 5 วิ ซึ่งใครที่ช่วยรีวิวสินค้าก็จะมีของรางวัลรวมถึงแคชแบคให้เป็นการตอบแทน

เหตุที่ทางกรรมการชื่นชอบทีม GTBK และเลือกให้เป็นอันดับหนึ่งก็ด้วยไอเดียการสร้างเป็น Platform และผูกฟีเจอร์เข้ากับ K+ Market ได้อย่างลงตัว มีการแก้ Pain Point ของผู้ใช้ได้จริง โดยมีการอ้างอิงจาก Insight ที่ได้รวบรวมมา ซึ่งไอเดียที่นำเสนอนี้สามารถนำเอาไปต่อยอดและสามารถใช้งานได้จริงในอนาคตอีกด้วย

เจอกันใหม่ในงานปีหน้า

ผู้เขียนก็ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะทุก ๆ ท่านด้วย โดยเฉพาะอันดับที่ 1 ที่จะได้ไปสัมผัสและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ Silicon Valley ซึ่งบอกเลยว่างานนี้ถือว่าเป็นเพียงไม่กี่งานที่มอบรางวัลสุดแสนจะพิเศษให้กับผู้ที่ชนะการแข่งขันแบบนี้ ถ้าใครสนใจที่จะมาเจอเพื่อนร่วมวงการ ลองฝีมือแข่งขันว่าตัวเองอยู่ในระดับไหน ก็เตรียมตัวกันเอาไว้สำหรับปีหน้าได้เลย

นอกเหนือไปจากความประทับใจในฝีมือเหล่าผู้ร่วมงานแล้ว สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีมากๆ กับงานนี้ นั้นก็คือมุมมองของ KBTG ที่มีต่อ Community ในประเทศไทย จัดการแข่งขันขึ้นมาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายด้านธุรกิจเป็นหลักแต่อย่างไร แค่ต้องการเข้ามาร่วมผลักดันและสนับสนุนผู้คนไม่ว่าจะเป็นด้าน Code, Design หรือ Data ให้เติบโตมากขึ้น สร้างคนใหม่ ๆ ที่สนใจด้านนี้ อยากให้เค้าเห็นว่ามีงานแบบนี้ เค้าแข่งกันแบบนี้หรอ เพื่อสร้าง Awareness ให้กับผู้คนเหล่านั้นและ Community ด้วย ซึ่งโจทย์ที่เข้มข้นและท้าทายของการแข่งขัน TechJam by KBTG นี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ของการแข่งขันด้านไอที เพื่อเฟ้นหา “ตัวจริง” ที่เป็นสุดยอดฝีมือด้านเทคโนโลยีและการออกแบบที่จะมีส่วนร่วมสร้างอนาคตขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลต่อไปได้เป็นอย่างดีเลย