ธนาคารกสิกรไทยวันนี้ถูกยกให้เป็นเบอร์ 1 ในเรื่องดิจิทัลแบงกิ้ง ด้วยตัวเลขผู้ใช้งานที่สูงที่สุด ซึ่งหลายๆคนที่ได้อ่านอยู่นี้ก็น่าจะได้ใช้กันอยู่ เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสเข้าไปรับฟังทิศทางและวิสัยทัศน์ของทางธนาคาร และมีข้อมูลที่น่าสนใจหลายๆอย่างที่อยากจะเอามาเล่าต่อให้ฟัง และเป็นข้อมูลที่คนทำธุรกิจอยู่ ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ได้ใช้กสิกรไทย น่ารู้และเอาไปปรับใช้กับธุรกิจตัวเองให้ไม่ตกเทรนด์ครับ

ข้อมูลสถิติน่าสนใจเกี่ยวกับ K PLUS

  • ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีลูกค้าอยู่ราว 13-14 ล้านราย
  • มีผู้ใช้งาน K PLUS ราว 6.5 ล้านราย เป็น Active User ถึง 80%
  • นั่นหมายถึงครึ่งหนึ่งของลูกค้ากสิกรไทยกำลังทำธุรกรรมช่องทางดิจิทัลแล้ว และกำลังเติบโตขึ้นอีก
  • ลูกค้า K PLUS ผูกบัญชีกับพร้อมเพย์ราว 3 ล้านราย
  • โดยคิดเป็นการทำธุรกรรมผ่านช่องทาง K PLUS สูงถึง 65%
  • เมื่อคิดเป็นมูลค่า ช่องทาง Digital Banking มีปริมาณสูงถึง 61% จากมูลค่าทั้งหมด
  • คิดเฉพาะ K PLUS มีมูลค่ารวม 44% จากมูลค่าทั้งหมด
  • K PLUS มีปริมาณธรุกรรมเฉลี่ย 230 ล้านรายการต่อเดือน หรือราวคนละ 4 รายการต่อเดือน
  • K PLUS กำลังจะมีอายุครบ 5 ปี
  • ภายในสิ้นปีคาดว่าจะมีผู้ใช้มากกว่า 8 ล้านราย
  • อัตราส่วนของผู้ใช้ระหว่าง Android : iOS อยู่ที่ 60:40
  • ในช่วงแรก iOS มีจำนวนเยอะกว่า แต่ท้ายที่สุด Android สามารถแซงขึ้นมาได้
คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน KBTG

คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน KBTG ผู้ที่มาให้ข้อมูลกับพวกเรานะครับ

ผลสำรวจของนีลเส็นประเทศไทยเมื่อปลายปี 2559 ที่สำรวจแอปโมบายแบงกิ้งยอดนิยมในประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย มีผู้ใช้มากที่สุด ร้อยละ 22 รองลงมาคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ร้อยละ 11, ธนาคารกรุงเทพ ร้อยละ 9 ตามมาด้วยธนาคารกรุงไทย (8%) ทหารไทย (4%) ออมสิน (3%) และกรุงศรีอยุธยา (3%)

mobile banking marketshare

ข้อมูล ณ สิ้นปี 2559

5 อันดับ ฟีเจอร์ที่ถูกใช้งานมากที่สุดในแอป K Plus

  1. เช็คยอดเงินในบัญชี
  2. โอนเงิน
  3. เติมเงิน
  4. จ่ายบิล
  5. จัดการบัตรเครดิต

ก็น่าจะพอเห็นภาพรวมของทาง K PLUS กันไปแล้วว่า ตอนนี้ตัวแอปเป็นผู้นำในเรื่องนี้ขนาดไหน และสิ่งที่ทางธนาคารกำลังจะไปต่อน่าจะส่งผลไม่ใช่น้อยต่อตลาดโดยรวมแน่นอน ซึ่งจะขอสรุปสิ่งที่น่าสนใจมาให้ตามนี้นะครับ

พร้อมเพย์ เพิ่มความสามารถและปลอดภัยมากขึ้น

เมื่อวันที่ 15 กย ที่ผ่านมา พร้อมเพย์ได้เปิดการเชื่อมต่อกับ e-wallet เช่น mPay, truemoney, หรือ K+ Wallet ให้เราสามารถโอนเงินเข้าออกได้โดยไม่เสียค่าบริการ แบบเดียวกับพร้อมเพย์แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เราผูกพร้อมเพย์ได้กับบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น การเพิ่ม e-wallet เข้ามานี้จะช่วยเพิ่มความสบายใจให้กับผู้ใช้ได้อีกขั้น เพราะข้อมูลทั้งเลขบัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์หลาย ๆ ครั้งเราก็ไม่อยากเปิดเผย โดยเฉพาะเลขบัตรประชาชน ที่เป็นเลขพึงสงวน ไม่ควรให้ใครเสียด้วยซ้ำ (แนะนำใช้รับเงินจากหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรใหญ่ที่น่าเชื่อถือเท่านั้นนะครับ) แต่เลขของ e-wallet จะเป็นเลขที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ยากต่อการถูกปลอมแปลงโดยคนร้ายมากขึ้น

มาตรฐานเลขไอดี e-wallet จะมี 15 หลัก แต่ตัวพร้อมเพย์ (ITMX) จะสนใจแค่ 3 หลักแรกว่าเป็นของผู้ให้บริการ e-wallet รายใด ตัวเลขที่เหลืออีก 12 หลักผู้ให้บริการสามารถตั้งได้เอง เข้ารหัสเอาไว้ได้ตามต้องการเลย อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการเจ้าอื่นอาจจะยังใช้เบอร์โทรศัพท์แทนเลข e-Wallet ไอดีอยู่ จึงยังอาจจะใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ได้ไม่เต็มที่นัก จะมีเพียง K+Wallet ที่สร้างไอดีเป็น e-Wallet แยกออกมานะครับ

ฟังก์ชั่นของ promptpay ที่กำลังจะมาเพิ่มเติม

  • โอนเงิน (15 ก.ย.) : โอนเข้าได้ทั้ง เบอร์โทร, บัตรประชาชน รวมถึง e-wallet
  • จ่ายบิล (18 พ.ย.) : ปกติการจ่ายบิลจะต้องมีการเชื่อมต่อโดยตรงกับผู้รับการจ่าย มีภาระการต่อท่อเซอร์วิสไปมา แต่ต่อไปจะสามารถจ่ายผ่านตัวกลางพร้อมเพย์ได้ ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมต้องรอติดตามต่อไปครับ
  • คำร้องขอให้ชำระเงิน (18 พ.ย.) : ส่งคำร้องขอไปยังผู้ใช้ให้จ่ายเงินให้เรา แต่ผู้จ่ายยังต้องเป็นคนกดอนุมัตินะ

ชี้คนลงทะเบียนพร้อมเพย์ ปลอดภัยกว่าคนที่ไม่ได้ลง

เราอาจจะเคยได้ยินคนที่ไม่ยอมลงทะเบียนพร้อมเพย์ให้เหตุผลว่ากลัวเรื่องความปลอดภัย ข้อมูลเราอาจจะโดนแฮกไปได้ หรืออะไรต่าง ๆ นานา แต่ทางคุณสมคิด ได้แนะนำว่าการลงทะเบียนพร้อมเพย์จะทำให้ข้อมูลของเราปลอดภัยกว่าเสียอีก สาเหตุเพราะการที่เราทิ้งว่างเบอร์หรือบัตรประชาชนของเราเอาไว้นั้น อาจะทำให้คนมาสวมรอยได้ง่ายขึ้น การลงทะเบียนเอาไว้ก็เพื่อปกป้องสิทธิ์ของคุณเอง ไม่ให้คนอื่นแอบอ้างได้

เตรียมรับการจ่ายเงินด้วย คิวอาร์

ถ้าใครได้ติดตามเรื่องคิวอาร์มาตรฐานซึ่งผมก็พยายามเอามาเสนอให้ได้อ่านกันเรื่อย ๆ ก็น่าจะพอรับรู้ได้ว่ามันเตรียมจะมาแน่ ๆ โดยหลังจากเข้าเดือนตุลาคมที่ทางแบงก์ชาติเปิดให้ใช้งานคิวอาร์มาตรฐานได้อย่างเต็มที่ก็น่าจะมีโปรโมชั่นดึงดูดทั้งผู้ใช้ และผู้ให้บริการกันสนุกกว่านี้แน่นอน โดยจะไม่ได้มีเพียงแค่ร้านอาหาร ร้านกาแฟสวย ๆ ที่จะรับได้ แต่ว่าจะล้วงลงไปลึกถึงระดับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถเมล์ แม่ค้ารถเข็น หรือคนขายพวงมาลัยกันเลยทีเดียว

อ่านต่อเรื่องคิวอาร์มาตรฐาน (Standardized QR Code) กันต่อได้

official standardized qr code cover

แนะเปิดรับพร้อมเพย์ จ่ายเงินด้วยคิวอาร์ และโมบายเพย์เมนต์

ตัวเลขผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้งทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในปี 2559 มีการเติบโตขึ้นถึง 50% และน่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากในปี 2560 นี้ เหตุผลหลักที่ทำให้ประชาชนคนทั่วไปใช้งานกันอย่างแพร่หลายก็คงไม่พ้นเรื่องความสะดวกสบาย ซึ่งการเข้ามาของทั้งพร้อมเพย์และคิวอาร์มาตรฐานนี้ก็จะยิ่งทำให้หลายๆเรื่องสะดวกเข้าไปอีก ในอนาคตอันใกล้ไม่แน่ว่าเราจะได้เห็นคนเลือกซื้อของจากร้านที่รับ QR Payment เพราะไม่อยากวุ่นวายพกเหรียญพกเงินสด ก็เป็นได้

เริ่มก่อน เข้าใจก่อน มีโอกาสก่อนคนอื่นนะ

 

พร้อมเพย์เติบโตแค่ไหนแล้ว (ข้อมูล ธ.ค. 59 – ส.ค. 60)

mobile banking ที่คนใช้เยอะที่สุด

K PLUS SHOP แอปเพื่อร้านค้า แจ้งเตือนทันทีเมื่อมีเงินเข้า รับชำระเงินจาก Alipay และ WePay ได้

ตรงนี้ก็ขอช่วยขายของให้กับทาง KBank เค้าซะหน่อยละกัน โดยทาง KBank ได้มีทำ K PLUS SHOP แอปพลิเคชั่นสำหรับผู้ประกอบการขึ้นมา เป็นแอปแรกในไทยที่รับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดมาตรฐาน (Thai National QR Standard) แถมรับการชำระเงินจากนักท่องเที่ยวจีนที่ใช้ Alipay – WeChat Pay ได้ด้วย

K Plus Shop soft launch

K PLUS SHOP เปิดให้บริการในบางพื้นที่ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

เริ่มเปิดทดสอบตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันยังไม่เปิดให้ลงทะเบียนใช้งานสำหรับบุคคลทั่วไป จะมีเพียงร้านค้าในบางพื้นที่ที่เปิดให้ทดสอบก่อนเท่านั้น (สยามสแควร์ จตุจักร และแพลทินัมประตูน้ำ) รอการอนุมัติของแบงก์ชาติซึ่งคาดว่าน่าจะเรียบร้อยในเดือนตุลาคมนี้

 

K Plus Shop ทำอะไรได้บ้าง?

  • บัญชีเข้าใช้งานได้หลายคน (เจ้าของ – ลูกจ้าง)
  • ดูสถิติการจ่ายเงินของลูกค้า
  • ระบบแจ้งเตือนว่าลูกค้าจ่ายเงินเข้ามาแล้ว (ยิงจากระบบของธนาคาร ปลอดภัยและเร็วกว่า SMS)
  • ระบบตรวจสอบว่าเป็นการจ่ายเงินของลูกค้าคนใด (ไม่ต้องโอนติดเศษสตางค์อีกต่อไป)
  • ระบบเก็บสถิติยอดขายเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือนได้
  • ระบบรับพรีออเดอร์สินค้า จะเปิดให้ใช้งานในเฟสต่อไป
  • ระบบเก็บแต้มของสมาชิก จะเปิดใช้งานในเฟสต่อไป

เรียกได้ว่าครบหมดทุกอย่างที่ร้านค้าปลีกทั่วไปอยากจะได้มาช่วยบริการจัดการเลยก็ว่าได้ และพิเศษกว่าเดิม ถ้าเกิดว่าลูกค้าเราใช้ K Plus จะมีฟีเจอร์เพิ่มเข้ามาอีก เช่น

  • โอนผิด กดคืนเงินให้ลูกค้าได้เลย
  • เห็นภาพหน้า(ร้าน)เราก่อนจ่ายเงิน สะดวกในการยืนยันตัวตน
  • ในอนาคตลูกค้า K PLUS ไม่ต้องแสกนคิวอาร์ก็จ่ายได้เลย ด้วย  Nearby Payment ซึ่งใช้เทคโนโลยี  Bluetooth, Ultra Sonic, GPS เป็นต้น
K Plus Shop ฟีเจอร์ที่กำลังจะมา

จ่ายเงินสะดวกขึ้น เลือกร้านให้อัตโนมัติ / ตรวจสอบก่อนจ่ายได้ง่ายกว่า

ซึ่งฟีเจอร์เหล่านี้เกิดได้เพราะทางกสิกรไทยได้ทำ API พิเศษเพื่อติดต่อกันระหว่างสองแอปนี้เอาไว้ ซึ่งในอนาคตทางกสิกรไทยบอกว่ายินดีจะเปิดให้ธนาคารเจ้าอื่น รวมถึงสตาร์ตอัพเข้ามาร่วมใช้งานได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันก็มี AIS mPay ที่ติดต่อนำไปใช้แล้วเรียบร้อย ก็หวังว่าธนาคารอื่นๆจะมาขอใช้งานร่วมกัน จะได้ไม่เกิดความหลากหลายในการพัฒนานะครับ

อยากใช้ K PLUS SHOP ต้องทำอย่างไร?

อย่างที่บอกข้างต้นคือ ตอนนี้ทางกสิกรไทยยังไม่เปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนสม้ครใช้งาน K PLUS SHOP ได้เองโดยตรง เพราะต้องควบคุมร้านค้าที่ใช้งานอยู่ในพื้นที่บริเวณที่กำหนดภายใต้การทดสอบ Regulatory Sandbox เท่านั้น ต้องรอให้หลุดจาก Sandbox ของทางธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน ซึ่งคาดว่าจะพร้อมใช้เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ เมื่อไหร่ที่พร้อม ทางกสิกรไทยแจ้งว่าจะมีปุ่มให้กดสมัครได้จากแอป K PLUS ทันที และเมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยก็สามารถไปดาวน์โหลดแอปและใช้งานได้เลย ปัจจุบันแอป K PLUS SHOP ก็มีให้โหลดแล้วนะทั้ง Android และ iOS เลย

K PLUS SHOP

นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจอีก ทั้ง K PLUS LIFESTYLE และ Machine Commerce โดยตัว LIFESTYLE จะเปิดให้มีฟีดข้อมูลของร้านค้าสินค้าและบริการในแพลตฟอร์มของกสิกรไทย และ Machine Commerce จะใช้ Machine Learning ช่วยจับคู่เอานำเสนอสินค้าและบริการตามความสนใจของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม และยังมี Machine Lending สำหรับปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลให้ลูกค้า K PLUS ได้รวดเร็วขึ้น โดยใช้ฐานข้อมูลที่ธนาคารมีอยู่แล้วมาประเมินความเสี่ยงและปล่อยกู้ได้รวดเร็วจากที่ต้องรอหลายสัปดาห์ เหลือเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่จะได้เห็นกันอีกไม่นานแน่นอน ไว้ยังไงเดี๋ยวจะมาอัพเดทให้ฟังกันต่อไปนะครับ

K PLUS LIFESTYLE คัดสรรดีลดีๆ น่าสนใจมาแสดงให้เราเลือกซื้อกันง่ายขึ้น

เปิดข้อมูลมาขนาดนี้แล้ว ใครที่ทำธุรกิจ เปิดร้านอยู่ คิดเห็นยังไงกันบ้าง จะเปิดรับการจ่ายเงินด้วย QR Code กันมั้ย? และมีใครที่ยังไม่สมัครพร้อมเพย์บ้าง? มาแชร์ความเห็นกันได้นะครับ 🙂

 

 

ข้อมูลอ้างอิงในการเขียนบทความนี้

  1. สนทนา Future Technology Trend  กับคุณสมคิด, รองประธาน KBTG, 21 ก.ย. 60
  2. กสิกรไทย เปิดมิติใหม่รับ-จ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ดบนมือถือ, 21 ส.ค. 60
  3. การเปิดให้บริการเชื่อมโยง e-wallet กับระบบพร้อมเพย์, 15 ก.ย. 60