กรณีคลื่น 850 MHz ของ dtac ที่ติดปัญหาคาราคาซังจากการหมดสัมปทาน แต่คลื่นยังไม่มีเจ้าของใหม่ ดีแทคจึงขอคุ้มครองเพื่อใช้งานคลื่นต่อไปก่อนโดยไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง และศาลก็ตีกลับมาให้กสทช.ตัดสินก่อนอีกรอบ และตอนนี้ใกล้น่าจะได้ข้อสรุปแล้วครับ หลังจากมีการประชุมของ กสทช. เมื่อเช้านี้ มีการลงมติไม่คุ้มครองหรือเยียวยาตามเดิม โยนกลับไปให้ศาลตัดสินอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไรกับกรณีนี้

เมื่อเช้านี้มีการประชุม กสทช. โดยหนึ่งในวาระการประชุมคือการลงมติว่าจะมีการเยียวยาผู้ใช้บริการที่ยังใช้คลื่น 850 ของ dtac หรือไม่ โดยมีการตรวจสอบแล้วพบว่ายังมีผู้ใช้อยู่ราวๆ 94,625 เลขหมาย โดยระบุว่ากลุ่มผู้ใช้งานนั้นถือว่ามีจำนวนไม่มากนัก หากเทียบกับผลกระทบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีซิมดับ การปิดคลื่นความถี่ หรือการบังคับให้มีการลงทะเบียนซิม ซึ่งตัวเลขที่ทาง dtac อ้างว่ามีผู้ใช้งานอยู่ในกลุ่มคลื่นโรมมิ่งเป็นล้านรายนั้นไม่น่าจะนำมาใช้กับกรณีนี้ได้ (อ่านเพิ่มเติม ลูกค้าดีแทคคนไหนได้รับผลกระทบบ้าง)

ซึ่งหลังจากชี้แจงรายละเอียดแล้ว ก็มีการลงมติในที่ประชุม โดยผลออกมาเป็น 4 : 2 ถือว่ากรณีของ dtac นั้นไม่เข้าข่ายการขอเยียวยา และจะมีคำสั่งจาก กสทช. ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรอีกทีหนึ่ง เพื่อนำไปยื่นให้ศาลปกครอง จากกรณีที่ทาง dtac ได้ไปยื่นฟ้องร้องให้มีการไต่สวนในเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี หากทางศาลปกครองมีแนวทางเดียวกับ กสทช. คือไม่เยียวยาให้กับ dtac จะกระทบกับคลื่น 850 MHz ของ dtac ที่ให้บริการ 2G/3G ในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล รวมถึงที่ใส่อุปกรณ์ในงาน Enterprise เป็นหลัก ผู้ใช้ทั่วไปในเมืองไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก คาดว่าศาลจะมีผลการตัดสินให้ได้ทราบกันในอีกไม่กี่วันนี้ ส่วนคลื่น 1800 MHz ที่ประมูลได้มานั้นจะมีการอนุโลมเยียวยาให้ 30 วัน

เหตุการณ์ในครั้งนี้ค่อนข้างคล้ายกับตอนที่ AIS เคยได้รับการคุ้มครองแบบเดียวกันในปี 2016 ซึ่งตอนนั้นทางกสทช.ก็มีมติไม่เยียวยาให้กับทางเอไอเอส เมื่อตอนที่เอไอเอสพลาดไม่ได้คลื่น 900MHz ในตอนแรกที่ JAS กดราคาแจกไป ซึ่ง ณ ตอนนั้นทางเอไอเอสก็ต้องไปร้องต่อศาลปกครองกลางให้ช่วยคุ้มครองและยืดระยะเวลาต่อไปอีกเช่นกัน