ในปัจจุบันเหล่าผู้ให้บริการ GrabCar หรืออื่น ๆ ซึ่งใช้รถยนต์ส่วนตัวมาขับรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านการเรียกใช้จากแอป ยังไม่มีกฎหมายรองรับ (ซึ่งก็คือผิดกฎหมายนั่นแหละ) จนกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเหล่าคนขับแท็กซี่จนมีข่าวให้เห็นกัน รวมทั้งผู้ที่ให้บริการก็โดนตำรวจเรียกปรับกันอยู่บ่อย ๆ…แต่อีกไม่นานนี้ การนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้บริการดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายแล้ว หลังจาก ครม. ได้อนุมัติร่างกฎกระทรวงรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จะสามารถให้บริการผ่านแอปได้อย่างถูกกฎหมาย

ก่อนหน้านี้เราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการกระทบกระทั่งของผู้ให้บริการรถโดยสารที่เรียกจากแอปที่ ใช้รถยนต์ส่วนตัวมาขับเอง กับเหล่าคนขับแท็กซี่ที่มักจะเอาเรื่องกฎหมายมาเรียกร้องให้คนขับและผู้โดยสารหยุดใช้บริการดังกล่าว (ซึ่งมันก็จริงของเค้านั่นแหละ)

แต่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ทางกระทรวงคมนาคมได้เผยว่าร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อภาครัฐจะได้เข้ามาควบคุม ตรวจสอบการให้บริการ และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารได้ โดยมีกฎดังนี้

  1. กำหนดให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จะนำมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้างโดยการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยให้จดทะเบียนได้คนละ 1 คัน
  2. กำหนดลักษณะและกำลังในการขับเคลื่อนของรถยนต์รับจ้าง เช่น เป็นรถเก๋งสองตอน รถเก๋งสองตอนแวน รถเก๋งสามตอน เป็นต้น
  3. กำหนดให้ต้องมีและใช้อุปกรณ์สื่อสารตามที่กรมการขนส่งทางบกให้การรับรอง และให้รถยนต์รับจ้างมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก
  4. กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นสำหรับรถยนต์รับจ้าง ดังนี้
    รถยนต์รับจ้างขนาดเล็กและขนาดกลาง คิดค่าบริการตามระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก ไม่เกิน 50 บาท กิโลเมตรต่อไป กิโลเมตรละไม่เกิน 3 บาท รถติดหรือรถไม่เคลื่อนที่ นาทีละไม่เกิน 3 บาท (ไม่เกินอัตราค่าบริการของแท็กซี่ในปัจจุบัน) หากเรียกผ่านศูนย์บริการหรือะบบทางอิเล็กทรอนิกส์ คิดค่าบริการไม่เกิน 50 บาท
    รถยนต์รับจ้างขนาดใหญ่ คิดค่าบริการตามระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก ไม่เกิน 200 บาท กิโลเมตรต่อไป กิโลเมตรละไม่เกิน 50 บาท รถติดหรือรถไม่เคลื่อนที่ นาทีละไม่เกิน 10 บาท หากเรียกผ่านศูนย์บริการหรือระบบทางอิเล็กทรอนิกส์ คิดค่าบริการไม่เกิน 100 บาท (ไม่เกินอัตราค่าบริการของแท็กซี่ VIP ในปัจจุบัน)
  5. กำหนดให้แผ่นป้ายทะเบียนรถของรถยนต์รับจ้าง ให้ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนเดิม โดยให้นายทะเบียนเปลี่ยนประเภทการจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างในใบคู่มือจดทะเบียนรถ
  6. กำหนดให้รถยนต์รับจ้าง ต้องมีการตรวจสภาพตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ต้องรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งภายนอกและภายในตัวรถเป็นอย่างดี รวมทั้งกำหนดให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยและรัดกุม

โดยเมื่อไหร่ที่ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว พวกแอปที่ให้บริการเรียกรถยนต์รับส่งในประเทศไทยอย่าง GrabCar, Bolt, Bonku และอื่น ๆ ก็จะสามารถขับรถส่วนตัวออกมารับงานกันได้แบบสบายใจ ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ กลัวว่าจะโดนล่อซื้อมาจับปรับให้เสียเงินกันอีกต่อไป ซึ่งก็จะได้ประโยชน์กันทั้งฝ่ายคนขับรถทั่วไปที่จะมีรายได้เสริม และฝ่ายลูกค้าที่สามารถเช็คค่าโดยสารได้ แถมยังหมดปัญหาน่าหงุดหงิดอย่างการปฏิเสธผู้โดยสารเวลารีบ ๆ หรือโดนปิดมิเตอร์เรียกราคาเหมาจ่ายไปได้

เรียกผ่านแอป จะไปไหนก็เช็คราคาก่อนได้

แต่หลังจากนี้ก็ไม่รู้ว่ากลุ่มแท็กซี่จะออกมาเรียกร้องอะไรอีกรึเปล่า เพราะเมื่อปี 2562 ก็เคยบุกไปถึงขนส่งฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องหากจะทำให้บริการประเภท GrabCar ถูกกฎหมาย ทั้งการปรับอัตราค่าโดยสาร ทั้งขอให้เยียวยา ฯลฯ…งานนี้ก็ต้องมารอดูท่าทีกันต่อไปครับ

“แท็กซี่” บุกขนส่งฯยื่นข้อเรียกร้องหากให้ “แกร็บ” ถูกกฎหมายและขอขึ้นค่าโดยสารอีกรอบ ท่ามกลางความสงสัยทำไมไม่ขับ Grab

ที่มา : รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล (Facebook)