ยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่องสำหรับ “แท็กซี่” และ “แกร็บ” ที่ฝ่ายนึงภาพลักษณ์การบริการไม่ดี แต่ถูกกฎหมาย และอีกฝ่ายยังไม่มีกฎหมายรองรับแต่ภาพรวมบริการดีกว่า คาราคาซังและเห็นการประท้วงอยู่เรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดนี้แท็กซี่ได้บุกไปกรมขนส่งฯเพื่อขอขึ้นราคาหากดันให้แกร็บถูกกฎหมาย แต่อาจต้องมีสะอึกเล็กน้อยเมื่อมีคนทวงถามว่าทำไมไม่ไปสมัครแกร๊บและอยู่ร่วมกันไปเลย หรือเป็นเพราะแท็กซี่กลุ่มนี้ติดประวัติเสียจนถูกแบนออกจากระบบไปแล้ว

จากที่กลุ่มแท็กซี่บุกไปขนส่งเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมานี้ มีความต่างจากการประท้วงครั้งก่อนๆ ที่ต้องการให้ดำเนินการเอาผิดกับแกร๊บ แต่ต้องการมารับรู้ว่าข้อกฎหมายอาจจะเกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลใหม่นี้ จะส่งผลต่อกลุ่มสหกรณ์แท๊กซี่หรือไม่และจะมีทิศทางไปในด้านใด เพราะปัจจุบันมีรถแท็กซี่กว่า 8 หมื่นคันในระบบ การผลักดันนโยบายให้แกร็บถูกกฎหมายอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบการอาชีพอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดีทางรองอธิบดีกรมขนส่งทางบกก็ได้ชี้แจงว่า “ยังไม่มีการร่างกฎหมายรับรองแกร๊บให้ถูกต้องในตอนนี้ มีเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนเท่านั้น”

4 ข้อเรียกร้องจากกลุ่มแท็กซี่ หากจะให้แกร็บถูกกฎหมาย

  1. หากดำเนินการเรื่องนี้แล้วมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ จะต้องเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม คือถ้าให้แกร็บถูกต้องตามกฎหมาย แล้วมีผลต่อคนขับแท็กซี่ เช่น ไม่มีผู้โดยสาร เงินที่ได้ไม่พอใช้ รัฐบาลหรือขนส่งจะต้องช่วยเหลือ เยียวยาตรงจุดนี้ด้วย
  2. ต้องปราบปรามรถผิดกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ ทำโทษรถที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะแกร็บหรือแท็กซี่ ที่ไม่มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง จะต้องมีบทลงโทษตามที่ได้มีการกำหนดขึ้น (ในที่นี้น่าจะหมายถึงการเอารถป้ายดำที่ไม่ได้จำทะเบียนรับจ้างมาให้บริการ ทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่า ทั้งค่าประกัน ภาษีต่างๆ รวมถึงไม่ต้องไปรายงานที่ขนส่งฯเหมือนแท็กซี่ทั่วไป จะเรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมก็ว่าได้)
  3. ให้ทบทวนนโยบายโครงการแท็กซี่โอเค เนื่องจากไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ได้ประกาศไว้ จากที่ได้มีโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์รถแท็กซี่ธรรมดาให้มีผู้โดยสารใช้บริการ กลุ่มแท็กซี่หลายรายได้เข้าเข้าร่วมโครงการนี้แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือไม่มีผู้โดยสารใช้บริการเหมือนเดิมแต่ได้มีการลงทุนติดอุปกรณ์ต่างๆตามที่กำหนดเอาไว้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
  4. ต้องปรับอัตราค่าโดยสารให้เป็นธรรม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง กรมขนส่งทางบกจะต้องพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารให้กับแท็กซี่ เพราะปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นมากมาย ทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

หลายคนตั้งคำถามทำไมคนขับแท็กซี่กลุ่มนี้ถึงไม่เข้าร่วมแกร็บ

ใครที่ได้ขึ้นแท็กซี่เป็นประจำหรือเคยเรียกใช้บริการ Grab อยู่เรื่อยๆ น่าจะพอทราบกันดีว่าก็มีคนขับแท็กซี่จำนวนมากที่มีความสุขดีและอยู่ร่วมกับ Grab ได้อย่างไม่มีปัญหา เมื่อข่าวนี้ออกมาก็ทำให้หลายคนที่ทราบข่าวก็เกิดข้อสงสัยว่าทำไมแท็กซี่ที่มาโวยวายเรียกร้องนี้ถึงไม่ยอมเข้าร่วมขับกับแกร๊บไปให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย ซึ่งในเพจของทาง Amarin ต้นทางที่แชร์ข่าวนี้มา มีผู้มาให้ข้อมูลเรื่องนี้ให้ผ่านทางคอมเม้นต์ ระบุว่าเขาทำงานอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ตรวจสอบประวัติอาชญากร ซึ่งคนที่จะสมัคร Grab ต้องไปขอเอกสารรับรองกับหน่วยงานเขาก่อนเสมอ ถ้าใครมีคดีติดตัว Grab น่าจะไม่รับเลย พร้อมสรุปว่ากลุ่มคนที่ไม่ยินดีกับแกร็บ ที่จะให้แกร็บถูกกฎหมายอาจเป็นเพราะสมัครแกร็บไม่ผ่าน ด้วยเหตุผลมีคดีติดตัว และมีความเสี่ยงต่อผู้โดยสาร ดูกร่างและน่ากลัวตามที่เห็นในการประท้วงนี้ ส่วนกลุ่มคนที่ไม่อยากทำเอกสารให้วุ่นวาย ก็แนะนำว่ามาทำให้เสร็จได้ใช้เวลาเพียงแค่ 15 นาทีก็เรียบร้อย มีค่าธรรมเนียม 100 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ดีในเวลาถัดมาคอมเม้นต์ดังกล่าวก็ถูกลบทิ้งออกไป ซึ่งก็ไม่มีทางพ้นเหล่านักแคปที่เก็บข้อมูลนี้ไว้แล้ว พร้อมทั้งตรวจสอบเบื้องต้นแล้วว่าผู้คอมเม้นต์นี้น่าจะทำงานที่สนง.ตำรวจจริง แต่ก็ไม่ใช่เป็นแถลงการอย่างเป็นทางการ อาจจะเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้นก็เป็นได้ 

ทั้งหมดนี้ก็ต้องมารอดูกันว่า เหตุการณ์นี้จะเป็นการประท้วงครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ปัญหานี้ยุติและลงเอยอย่างไร แกร็บจะถูกทำให้ถูกกฎหมายได้ตามนโยบายที่ถูกหาเสียง โดยที่ทางแท็กซี่ก็ได้รับคำตอบจากปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างน่าพอใจและเป็นธรรมหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วนโยบายการทำให้แกร๊บถูกกฎหมายจะเป็นเรื่องที่ถูกลืมไป ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป

 

ที่มา : amarin, twitter