แม้ว่า “แร่ซิลิคอน” จะเป็นธาตุที่หาได้ง่ายที่สุดเป็นอันดับสองของโลก คิดเป็น 28% ของเปลือกโลกทั้งหมด แต่จากการรายงานล่าสุดของ The Japan Times เปิดเผยว่า ตอนนี้ธาตุโลหะดังกล่าวอยู่ในช่วงของขาดตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยซิลิคอนถือว่าจำเป็นมาก ๆ ต่อการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นชิปเซ็ต หรือโมดูลต่าง ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันราคาของซิลิคอนพุ่งไปสูงกว่าเดิมถึง 300% เลยทีเดียว

โดยฐานการผลิต ณ มณฑล Yunnan ในจีน ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตซิลิคอนอันดันสองของประเทศ ได้ถูกสั่งให้ยกเลิกการผลิตไปทั้งหมดกว่า 90% ตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงธันวาคมสิ้นปี พร้อมกับประกาศขึ้นราคาทันที จากปกติประมาณ 8,000 – 17,000 หยวน (ราว ๆ 42,000 – 89,000 บาท) เป็น 67,300 หยวนต่อตัน หรือแปลงเป็นเงินไทยแล้วอยู่ที่เกือบ ๆ 353,000 บาท เรียกได้ว่ามากกว่าเดิม 8 เท่าตัวเลยทีเดียว

ภาพแร่ซิลิคอน จาก https://en.wikipedia.org/wiki/User:Enricoros

นอกจากจะส่งผลกระทบถึงวงการไอทีแล้ว อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (Solar Industry) ก็ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ไปเต็ม ๆ ราคาโพลีซิลิคอนเกรดโซลาร์มีราคาสูงขึ้น 13% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่แพงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011

Yang Xiaoting นักวิเคราะห์ในแวดวง ได้ระบุว่า ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของแร่ซิลิคอนน่าจะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย ๆ จนถึงช่วงราว ๆ ครึ่งแรกของปี 2022 ที่จะถึงนี้ หลังจากนั้นหลายฐานการผลิตจะกลับมาผลิตและสกัดแร่นี้เหมือนเดิม ทำให้ราคาอาจจะค่อย ๆ กลับมาลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ทำไมชิปเซ็ตถึงขาดแคลน เกิดจากสาเหตุอะไร กระทบแวดวงไหนบ้าง จะอยู่กับเราไปจนถึงอีกเมื่อไหร่

ที่มา: JapanTimes via  Apple Insider