ก่อนหน้านี้ Google และ Uber นั้นเคยมีคดีความเกี่ยวกับการขโมยเทคโนโลยนีและทรัพยากรมนุษย์กันในโปรเจคยานยนต์ไร้คนขับของทั้งบริษัทก่อนจะตกลงกันได้ในช่วงปี 2018 โดย Uber นั้นยอมยกหุ้นบางส่วนให้ Google เป็นการตอบแทนไป แต่ล่าสุดปรากฎว่าเรื่องจะยังไม่จบหลังจากอดีตวิศวกรระดับบริหารของ Uber (ซึ่งย้ายมาจาก Google อีกที) ถูก Google เรียกเงินค่าเสียหายเป็นเงินสูงถึงเกือบ 6 พันล้านบาท และ Uber ก็เตรียมตัดหางปล่อยวัด

ย้อนรอยไปดูต้นเหตุ วิศวกร Google ย้ายค่ายและ Know-how ทั้งหมด ไปสู่ Uber

ในช่วงปี 2016 นั้น ทั้ง Google และ Uber ต่างเริ่มโปรเจคของงานวิจัยและพัฒนาที่คล้ายกันอย่างมากนั่นคือ โปรเจคยานยนต์ไร้คนขับโดยทาง Google เรียกแผนกนี้ว่าโปรเจค Waymo และ Uber เรียกสิ่งเดียวกันนี้ว่า Advanced Technologies Group และคดีความนี้ ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากอดีตรองประธานฝ่ายวิศวกรรมของ Uber ในขณะนั้น ชื่อว่านาย Anthony Levandowski ซึ่งย้ายมาจากงานด้านวิศวกรรมกับ Google โดยตรง และในปี 2016 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการย้ายงานของเขานั้น ทาง Uber ได้ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการส่วนตัวของเขาที่ชื่อว่า Otto ซึ่งแน่นอนว่าเป็นบริษัท Start-up วิจัยเรื่องเทคโนโลยี Self-driving นั่นแหละ 😆

โดยนาย Levandowski ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ในช่วงเวลาที่ Uber เข้าซื้อกิจการของเขานั้น เกิดขึ้นหลังจากที่เขาย้ายเข้ามารับตำแหน่งรองประธานด้านวิศวกรรมกับบริษัท ฯ แล้ว โดยก่อนเข้าซื้อ Uber ได้ว่าจ้าง Consulting Firm รายหนึ่งเพื่อให้สำรวจรูปแบบและภูมิหลังของธุรกิจ Otto และผู้บริหาร (แน่นอนเลยว่านาย Lewandowski คือหนึ่งในนั้น) ซึ่งเขาได้ให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ปัญหาก็คือมันรวมถึงการ Access เข้าตรวจสอบบัญชี Email และ Personal Computers ของเขาด้วย ซึ่งทำให้พบกับ Files งานจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำงานช่วงที่ยังอยู่กับ Google รวมไปถึงความพยายามของ Otto ที่จะว่าจ้างพนักงานของ Google มาเป็นของบริษัท ฯ อีกด้วย

หลังจากนั้นนาย Levandowski ได้พยายามเข้าพูดคุยและแจ้งเตือนโดยตรงไปยัง Travis Kalanick – CEO ของ Uber หลายต่อหลายครั้งว่า หาก Uber ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการบริษัท Otto ของเขาจริง ๆ อาจเป็นการไม่เหมาะสมและสุ่มเสี่ยงต่อการถูก Google ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้แต่ Kalanick ไม่ได้ใส่ใจมากนักแถมตอบอีกด้วยว่า “Uber รับประทานคำสั่งศาลเป็นอาหารเช้าอยู่แล้ว… “ หมายความว่า Uber นั้นชินมาก ๆ หากจะเจอฟ้องจากอะไรแบบนี้ โดยในส่วนหนึ่งของสัญญาการเข้าซื้อกิจการ Otto นั้น Uber ได้กำหนดไว้ด้วยว่าพนักงานของ Otto ทุกคนจะได้รับการคุ้มครองการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ หากเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทซึ่งรวมถึงคุ้มครองตัวนาย Levandowski ด้วย โดยสัญญาดังกล่าวระบุเอาไว้ว่า Uber จะเข้ารับผิดแทนและรับผิดชอบค่าเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดจากนายจ้างเก่า ในกรณีนี้รวมถึงการถูกฟ้องโดย Google นั่นเอง

แรก ๆ Uber ก็ทำตามสัญญาทุกประการ จนกระทั่งนาย Levandowski ถูกฟ้องครั้งล่าสุดอีกร่วม 6 พันล้าน !

ซึ่งภายในปีเดียวกันนั้นก็ได้เรื่องเลย Google ยื่นฟ้อง Uber ในฐานะเจ้าของ Otto และฟ้องนาย Levandowski เป็นการส่วนตัวในฐานะอดีตพนักงานที่ไปละเมิดสิทธิ์ในการนำความลับทางการค้าออกไปสู่คู่แข่ง ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 -4 ปีที่ผ่านมา Uber นั้นก็ได้ทำตามสัญญาทุกประการเข้าเป็นคู่กรณีในคดีความส่วนตัวของนาย Levandowski แทนรวมถึงดูแลค่าใช้จ่ายทุกกระบวนการ แม้ว่าสุดท้ายการทำงานจะไม่ลงรอยกันจน Levandowski นั้นถูกไล่ออกไปตั้งนานแล้วก็ตาม จนกระทั่งช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา นาย Levandowski ดันได้รับจดหมายแจ้งจากทาง Uber ว่าทางบริษัท ฯ จะยื่นถอนตัวออกจากกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่เป็นการส่วนตัวต่อเขา รวมถึงจะไม่รับรู้ค่าใช้จ่ายในความเสียหายล่าสุด ที่ Google เรียกร้องกว่า 179 ล้านเหรียญ หรือร่วม ๆ 6 พันล้านบาทอีกต่อไป

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ในคำให้การต่อศาลล้มละลายมลรัฐแคลิฟอร์เนียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นาย Levandowski เผยเองว่า Uber อ้างสิทธิในการถอนตัวออกจากความคุ้มครองค่าสินไหมทดแทน ด้วยข้อสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะไปแล้ว เพราะเหตุที่เขาไม่เคยเปิดเผยข้อมูลของเขาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถูกฟ้องครั้งล่าสุด นั่นก็คือการทำงานเป็นส่วนหนึ่งกับ Start-up อีกราย 😯  ที่ชื่อว่า Tyto ซึ่งวิจัยเทคโนโลยีการจับการเคลื่อนไหวด้วยแสง (Lidar Technology) ซึ่งเขาถูก Google ฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมเพราะเทคโนโลยีนี้เป็นลักษณะเดียวกันกับงานที่เขาทำให้กับ Google ในช่วงเวลาที่ยังรับค่าจ้างเป็นพนักงานกับ Google อยู่นั่นเอง

อย่างไรก็ตามทางนาย Levandowski ได้ยกข้อต่อสู้ขึ้นว่า Uber ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของบริษัท Tyto อย่างแน่นอนและมีหลักฐานการแสดงเอกสารทั้งหมดโดยเขาเองอย่างชัดเจน ตั้งแต่วันที่ Uber ว่าจ้างบริษัท Consulting Firm ให้ทำการตรวจสอบดีลซื้อขายกิจการ Otto ของเขา และ Uber ก็ไม่ได้มีการตั้งข้อสังเกตุแต่อย่างใด แถมยังเต็มใจทำตามข้อสัญญายกความผิดในคดีและค่าใช้จ่ายไปดูแลอยู่ตั้งหลายปี จนน่าสงสัยว่าอาจเป็นเพราะเม็ดเงินครั้งล่าสุดนั้นใหญ่มากและเขาเองก็ไม่ได้ทำงานกับ Uber โดยตรงแล้วทางบริษัท ฯ จึงต้องการปัดภาระออกไปก็เท่านั้น

งานนี้ถึงแม้ทางนาย Levandowski เองก็ดูจะแสบไม่น้อยจากวีรกรรมที่ทำไว้แต่ละอย่างในฐานะพนักงานเก่าของ Google ที่ตั้งบริษัท Start-up ขึ้นมาถึง 2 รายที่วิจัยเรื่องที่เหมือน ๆ กับที่ Google ทำ แถมยังย้ายค่ายไปอยู่กับคู่แข่งทางเทคโนโลยีอย่าง Uber แต่สิ่งที่เขายกขึ้นอ้างกับศาลล้มละลายก็มีมูลอยู่ไม่น้อยหาก Uber รับรู้เรื่องราวทั้งหมดจริง ๆ ทั้งนี้ นาย Levandowski มีทรัพย์สินที่รับรู้ทั้งหมดราว 1.6 พันล้านบาท ในขณะที่มีภาระหนี้สินเพียงแค่ 2 รายการนั่นคือ ค่าดำเนินการทางกฏหมายราว 100 ล้านบาท และค่าชดใช้ความเสียหายแก่ Google ราว 6 พันล้านบาท ที่หากเขาไม่ได้ต้องชดใช้แล้วล่ะก็ จะไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลายอย่างแน่นอน

เกร็ดความรู้เรื่อง ข้อกำหนดคุ้มครองค่าสินไหมทดแทน (Indemnification Clause) ของ Tech Giants

ข้อสัญญาที่เป็นปัญหาดราม่าล้มละลาย 6 พันล้านสุดลุ้นของนาย Levandowski นี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการในภาษาอังกฤษว่า “Indemnification Clause” หรือ “Indemnity Clause” ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เปรียบเสมือนสวัสดิการพิเศษให้กับพนักงาน ในการคุ้มครองการถูกเรียกให้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าเป็นพนักงานกับนายจ้างรายใหม่ ในกรณีนี้คือ Uber ซึ่งมีลักษณะคล้าย ๆ การมอบสวัสดิการประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุอยู่กลาย ๆ เพียงแต่ว่ามาในรูปแบบของการ ประกันค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดจากการถูกเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือก็คือค่าเสียหายจากการย้ายค่ายจาก Google สู่อ้อมอก Uber ตามข่าว

บรรดา Tech Giants โดยเฉพาะฝั่งสัญชาติอเมริกันที่เกิดการย้ายงานกันบ่อย ๆ และ Know-how ของผู้เชี่ยวชาญสายเทค ฯ นั้นก็มักจะย้ายตามตัวบุคคลไปด้วย ย่อมเป็นที่คาดเดาได้ง่ายมาก ๆ ว่าพนักงานย้ายค่ายมักจะถูกบริษัทเก่าฟ้องร้องกันเป็นว่าเล่น เพราะเก่งเสียจนนอกจากย้ายไปแบบบริษัทเก่าอาจเดินต่อได้อย่างยากลำบากแล้ว ก็ดันเอาไอเดียจากที่เดิมไปสร้างความสำเร็จให้กับที่ใหม่ที่เป็นคู่แข่งเสียนี่ บริษัทสายเทค ฯ จึงมักจะเพิ่มข้อกำหนดในสัญญาจ้างงานแบบนี้เข้าไปด้วยเพื่อนับเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการให้กับพนักงานระดับหัวกะทิของพวกเขาได้ทำงานกันอย่างสบายใจไม่ต้องกลัวนายจ้างเก่าจะไล่ฟ้องนั่นเอง

 

ที่มา: Ars Technica