หลังจากมีกระแสและกระบวนการตรวจสอบบรรดา Tech Giants ของโลกต่อความสุ่มเสี่ยงที่จะอยู่ในสถานะ “ผูกขาดทางการค้า” มาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ล่าสุดพนักงานสอบสวนของสภา Congress สหรัฐ ฯ ได้เริ่มกระบวนการตรวจสอบอย่างเป็นทางการขึ้นแล้ว หลังจากมีการทำคำสั่งขอเรียกดูพยานหลักฐานจากยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันนำร่องโดย Amazon | Apple | Facebook | Google ที่ถูกเรียกให้นำส่งและชี้แจงเอกสารชนิดละเอียดยิบเลยทีเดียว
เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ ฯ กรรมาธิการด้านความยุติธรรมแห่งสภาผู้แทนราษฎร (House Judiciary Committee) ได้ทำหนังสือทางการส่งไปยังบริษัทเทค ฯ ทั้ง 4 ชื่อก่อนข้างต้น เพื่อให้นำส่งเอกสารพร้อมชี้แจงอย่างละเอียดถึงการดำเนินธุรกิจ และความเป็นไปได้ต่อการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งเน้นในส่วนของความพยายามกีดกันคู่แข่งทางการค้าในการดำเนินธุรกิจทั้งหลายนั่นเอง
สหรัฐ ฯ เอาจริง ! เรียกดูรายละเอียดประวัติพร้อมแผนธุรกิจ เช็คทุกกระเบียดนิ้ว
งานนี้บอกเลยว่าสภา Congress ของสหรัฐ ฯ นั้น เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก โดยมติดังกล่าวนั้นเป็นการขอดูเอกสารชนิด “ขอดูทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ” กันเลยก็ว่าได้ เช่นกรณีของ Amazon ที่ขอดูรวมไปถึงการเข้าซื้อกิจการ Supermarket ชื่อดังของสหรัฐ ฯ อย่าง Whole Foods Market ส่วนในรายของ Google นั้นจะหนักกว่าเขาเพื่อนหน่อยตรงที่มีกิจการที่ Google เข้าไปลงทุนหลากหลายอุตสาหกรรมเต็มไปหมด ทำให้ต้องแจงเป็นพิเศษ ชนิดที่การให้บริการระบบนำเสนอและวิเคราะห์โฆษณาออนไลน์อย่าง Google Advertising | Analytics นั้นต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดว่าทำงานร่วมกับ Google Search อย่างไรบ้างโดยเฉพาะส่วนของ Ranking (การจัดลำดับผลการค้นหา)
มันชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามีกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่เพียงหยิบมือเดียวที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอันมหาศาลของกิจการค้า – ขาย หรือช่องทางติดต่อสื่อสารบนโลก Online เรียกได้ว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะท่องโลก Online โดยไม่ใช้บริการใดบริการหนึ่งของพวกเขา เฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 บริการเหล่านี้นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญ ดังนั้นการเรียกเอกสารอย่างรายละเอียดเพื่อตรวจสอบนั้น มีความจำเป็นเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถี่ถ้วนว่าพวกเขาอยู่กับอำนาจต่อรองของตลาดที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน ใช้ประโยชน์อำนาจพวกนี้อย่างไร และอาจส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจและประชาธิปไตยของเรา – Jerry Nadler | ตัวแทนจากพรรค Democrat ในฐานะสมาชิกกรรมาธิการ House Judiciary Committee
อย่างไรก็ตาม Request ที่จัดทำขึ้นโดยสภาสหรัฐ ฯ ฉบับนี้เป็นเพียงหนังสือขอความร่วมมือเป็นการเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่คำสั่งศาลที่มีอำนาจบังคับตามกฎหมายสหรัฐ ฯ เสียทีเดียว แต่การให้ความร่วมมือหรือไม่ของบริษัทเหล่านี้ ก็อาจส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการสืบสวนต่อไปในอนาคต เพราะคณะกรรมาธิการนี้จะมีอำนาจเต็มในการออกคำสั่งทางกฎหมายเพื่อบังคับให้มีการชี้แจงรายละเอียดต่อไปหากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเพียงพอ
Tech Giants ต่างพากันกุมขมับ คาดเต็มไปด้วยข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงหนักมาก
ในเบื้องต้นทั้ง 4 บริษัทเทค ฯ ยักษ์ใหญ่ต่างพากันเก็บตัวเงียบ ยังไม่มีคำแถลงหรือประกาศใด ๆ ออกมาเป็นทางการมากนักจะมีเพียงฝั่ง Google ที่ส่งตัวแทนออกให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสั้น ๆ ถึงกรณีนี้ว่า “Google นั้นเป็นองค์กรที่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายนิติบัญญัติมาโดยตลอด และจะเป็นเช่นนั้นต่อไป” ซึ่งไม่ได้ตอบอะไรมากนักว่าจะให้ความร่วมมือหรือไม่ และมีความเห็นอย่างไร เพราะการขอเอกสารละเอียดเช่นนี้ย่อมรวมไปถึงกลยุทธ์และแผนธุรกิจจำนวนมากที่โดยปกติแล้วเป็นความลับภายในขององค์กร
ในรายของ Google มีการเผยว่า Request นี้ขอให้ Google เปิดเผยด้วยว่ามีวิธีการจัดการกับคู่แข่งอย่างไรบนแพลตฟอร์มอย่าง Search หรือแม้แต่ Play Store (เช่น ถ้าเราเสิร์จหาข้อมูลสมาร์ทโฟนระบบ iOS ของ Apple หรือเสิร์จหาแอปพลิเคชั่น Firefox Browser บน Play Store ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคู่แข่งของ Google โดยตรง) นอกจากนั้นทางคณะกรรมาธิการยังเรียกขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบการเข้ารหัสรูปแบบใหม่บน Browser ชื่อดังอย่าง Chrome ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ว่า หากผู้ใช้งานเลือกที่จะปิดกั้นไม่ให้มีการ Track พฤติกรรมบนเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้วนั้น แพลตฟอร์มอย่าง Android หรือ Chrome จะยังมีการเก็บข้อมูลไปเองใด ๆ อย่างไรหรือไม่
ส่วน Facebook กับ Amazon นั้นหลัก ๆ จะถูกเรียกขอดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ third-party data หรือการส่งออกและนำเข้าข้อมูลภายนอกกับแพลตฟอร์มของพวกเขา ว่ามีการทำงานอย่างไรที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อพฤติกรรมกีดกันทางการค้าต่อคู่แข่งในตลาดเสรีหรือไม่ เช่น Facebook ที่เรามักรู้กันดีว่ามีแอปพลิเคชั่นจำนวนมากที่สามารถเชื่อมต่อกับ Facebook ได้เพื่อแชร์ข้อมูลกันไป – มาระหว่างแพลตฟอร์ม
สำหรับ Apple มีรายงานถึงการขอดูวิธีการจัดลำดับผลการค้นหาบนแพลตฟอร์ม App Store เช่นเดียวกันกับกรณีของ Google แต่ที่มากกว่านั้นคือวิธีการคำนวณส่วนแบ่งราคา และค่าบริการสำหรับแอปพลิเคชั่นทั้งหลายที่ต้องจ่ายให้กับ Apple ซึ่งรวมไปถึงการคำนวณเทียบกับราคาของแอปพลิเคชั่นลักษณะเดียวกันที่เป็นของ Apple เองด้วยเพราะพฤติกรรมทำนองนี้ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถของคู่แข่งในตลาดนั่นเอง
วุ่นวายกันอีกยาว แต่งานนี้เป็นกรณีศึกษา ส่งผลดีต่อผู้บริโภคทั่วโลกแน่นอน
ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการ House Judiciary Committee นั้นได้มีกำหนดการนัดฟังคำให้การในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคเอาไว้ ณ วันที่ 12 กันยายนซึ่งจะนับเป็นกระบวนการพิจารณาประเด็นสาธารณะเรื่องการกีดกันทางการค้าครั้งที่ 3 แล้ว อย่างไรก็ดีกำหนดนัดครั้งนี้ถูกเลื่อนออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนดโดยเปลี่ยนเป็นการออกหนังสือขอให้บริษัทเหล่านี้ยื่นเอกสารชี้แจงอย่างละเอียดก่อนแทน ทั้งนี้คาดว่าสภาสหรัฐ ฯ ต้องการเข้าถึงข้อมูลโดยละเอียดเสียก่อนจะพิจารณากันต่อไปเพราะเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูงมากและทั้งโลกน่าจะจับตามองอยู่ เรียกว่าเป็น “กรณีศึกษาแรกของโลกเลยก็ว่าได้”
สำหรับกรณี “การผูกขาดทางการค้า” นั้น ในปัจจุบันล้วนแต่พบเห็นได้ทั่วไปเลย โดยเฉพาะประเทศที่เติบโตมาบนพื้นฐานการแข่งขันของตลาดที่เป็นเสรีและไร้ขอบเขตในการควบคุมประเภทของกิจการ ซึ่งปัญหานี้เริ่มก่อตัวอย่างแข็งแกร่งมากในปัจจุบันก็เพราะกลุ่มก้อนของธุรกิจและนายทุนเบอร์ใหญ่ ๆ ทั่วโลกนั้นได้สั่งสมประเภทของกิจการและเงินลงทุนกันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งในความเห็นของรัฐบาลสหรัฐ ฯ และยุโรปนั้น ปัญหาจะเริ่มรุนแรงขึ้นไปอีกหากกลุ่มก้อนธุรกิจที่ว่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของโลกออนไลน์ในยุค 5G นั่นเอง
ความพยายามตรวจสอบและเข้าควบคุมเช่นนี้ ย่อมเป็นผลดีต่อผู้บริโภคเพราะหากกลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่งแข็งแกร่งจนควบคุมไม่ได้นั้น การแข่งขันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้แถมผู้บริโภคจะตกเป็นเหยื่อที่หลีกเลี่ยงอะไรไม่ได้เลยในที่สุดนั่นเอง เพื่อน ๆ ลองนึกภาพดูว่าถ้าหากไม่มีการควบคุมใด ๆ บริษัทอย่าง Google หรือ Facebook อาจกลายเป็นบริษัทที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน
ถ้าพวกเขาเป็นทั้ง บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ – เบราเซอร์และเสิร์จเอ็นจิ้น – สังคมออนไลน์ – แพลตฟอร์มโฆษณา – ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและให้บริการเครือข่ายมือถือ – ผู้ผลิตรถยนต์ – บริการส่งอาหารและสินค้าออนไลน์ – สถาบันทางการเงิน – ช่องโทรทัศน์ หรือ บริการสตรีมมิ่ง เป็นต้น
อ้างอิง: CNN Tech | The Guardian | The Wall Street Journal (Subscription)
แล้วจะทำไง บังคับให้เขาเลิกพัฒนาหรอ
ท่าจะคุมยากนะ 🙂 🙂