ช่วงนี้หลายคนน่าจะเห็นการแชร์สินค้าใหม่จาก Xiaomi อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ไม้แคะหูอัจฉริยะ แอร์ โคมไฟ มีด หรือเครื่องดูดสิว โดยสินค้าเหล่านี้มีทั้งจำหน่าย หรือเปิดให้ระดมทุนอยู่ในเว็บไซต์ xiaomiyoupin ทำให้คนส่วนใหญ่ต่างเข้าใจว่าสินค้าเหล่านั้นเป็นของแบรนด์ Xiaomi ผลิตเอง แต่ความจริงแล้วมีทั้งใช่และไม่ใช่ ซึ่งสรุปแล้ว xiaomiyoupin คืออะไร มีความเกี่ยวข้องกับ Xiaomi หรือไม่ บทความนี้มีคำตอบครับ

Play video

Xiaomi จริงๆ แล้วเป็นบริษัททำสินค้าอะไร ?

อธิบายกันแบบย่อๆ คือ บริษัท Xiaomi ก่อตั้งมาตั้งแต่ 3 มีนาคม 2010 โดย Lei Jun อดีตประธานของบริษัท Kingsoft ที่เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ของจีน และเพื่อนๆ ของเขาอีก 7 คน ซึ่งบางคนก็มาจากบริษัทชื่อดังของโลกอย่าง Google และ Microsoft ในช่วงแรกของบริษัท Xiaomi จะทำเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ของมือถือหรือที่เรารู้จักกันในนาม MIUI โดยจะผลิต ROM ตัวนี้เพื่อแฟลชลงในมือถือค่ายต่างๆ (ยังไม่มีมือถือของตัวเอง) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก User ที่ได้ลองใช้แล้วรู้สึกชื่นชอบทั้งความลื่นไหลและหน้าตาอินเตอร์เฟสที่เรียบง่าย

Xiaomi Mi 1 สมาร์ทโฟนตัวแรกของค่ายในปี 2011

ถัดมาในปี 2011 Xiaomi ก็ได้เริ่มผลิตสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง รุ่นแรกที่ผลิตก็มาก็คือเจ้า Mi 1 วางขายราคา 1,999 หยวนหรือประมาณ 9,000 บาท ซึ่งขายเฉพาะบนร้านออนไลน์เท่านั้น และเมื่อเทียบกับ iPhone 4 หรือ Galaxy S2 ในปีเดียวกับที่ราคาแตะหลัก 20,000 บาท แน่นอนว่าทำให้ Mi 1 ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเกินจนเป้า รวมแล้วภายในปี 2012 ทาง Xiaomi ก็สามารถขายมือถือสมาร์ทโฟนทั้งหมดได้มากกว่า 7 ล้านเครื่องเลยทีเดียว

ปัจจุบันปี 2020 Xiaomi ก็ได้ผลิตสมาร์ทโฟนมาแล้วมากกว่า 200 รุ่น และขึ้นเป็น Top 5 แบรนด์มือถือที่กินมาร์เก็ตแชร์สมาร์ทโฟนของตลาดทั้งโลก โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา บริษัท Xiaomi ถือว่าเป็นบริษัทที่เติบโตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วมากๆ จากบริษัทโนเนมที่ขายของเฉพาะในเว็บออนไลน์จนมี Shop สาขาเปิดอยู่ทั่วโลก

Lei Jun ประกาศในวันที่ IPO หุ้นของ Xiaomi ว่าบริษัทจะไม่เอากำไรจากสินค้าเกิน 5%

แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้ Xiaomi เติบโตได้ขนาดนี้ล้วนแล้วมาจากนโยบายของบริษัทที่ต้องการผลิตสินค้าคุณภาพดีในราคาประหยัด คุ้มค่ากับทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไป ซึ่งก็ได้รับการพิสูจน์มาแล้วตลอดหลายปีว่าของเขาดีจริงๆ และเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2018 ภายหลังจากที่ Xiaomi ได้เข้าสู่ตลาดหุ้นได้ออกมาประกาศนโยบายและให้คำมั่นสัญญากับลูกค้าว่า “ธุรกิจด้านฮาร์ดแวร์ของ Xiaomi จะรับอัตรากำไรไม่เกิน 5%” พูดแบบนี้บอกเลยได้ใจกับผู้บริโภคเต็มๆ (แต่ผู้ถือหุ้นจะได้ใจด้วยหรือเปล่าก็อีกเรื่อง)

อ่านกันมาตั้งนาน น่าจะเริ่มสงสัยกันว่าสรุปแล้ว Xiaomi เสี่ยวหมี่คือทำสมาร์ทโฟนนี่นา แล้ว Xiaomi YouPin นี่คืออะไร? เกี่ยวข้องกับ Xiaomi จริงๆหรือเปล่าใช่มั้ยครับ?

แล้วเว็บ Xiaomi YouPin คือ อะไร ?

Xiaomi YouPin หรือ 小米有品 (Xiǎomǐ yǒupǐn) อ่านว่า เสียวหมี่โหยวผิ่น ถ้าแปลตรงๆ ตามตัวอักษรก็คือ เสียวหมี่มีของ ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce สำหรับขายสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับ Xiaomi หรือ Xiaomi Ecological Chain โดยไม่จำเป็นว่า Xiaomi ต้องเป็นผู้ผลิตเองก็ได้ ทีมผู้สร้าง youpin นี้ ได้แยกทีมออกมาจาก Mijia ซึ่งเป็นทีมที่สร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน และสินค้า IoT หลายชิ้นของ Xiaomi ในปัจจุบันนี้

xiaomiyoupin.com เว็บไซต์ E-Commerce ของทาง Xiaomi

การก้าวเข้าสู่ธุรกิจ E-Commerce นี้จะมีโมเดลธุรกิจคล้ายกับ NetEase Yanxuan ของบริษัท NetEase ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาเกมสัญชาติจีน หรือ Jingzao ของ JD.com ที่ได้ทำแพลตฟอร์ม E-Commerce เพื่อขายสินค้าต่างๆ โดยมีจุดขายต่างคือ ในเว็บจะมีการคัดเลือกสินค้าที่นำมาวางขาย ให้มีจำนวนที่จำกัด และคัดเลือกคุณภาพที่ผ่านมาตรฐาน โดยมีการประยุกต์แนวความคิดมาจากโมเดลการผลิตแบบ ODM (Original Design Manufacturer) อีกที กล่าวคือ แทนที่โรงงานจะต้องดีไซน์ ผลิต และแปะป้ายชื่อสินค้าให้แก่ Yanxuan ทางบริษัทยินดีที่จะให้โรงงานนั้นๆ ทำแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาขายในแพลตฟอร์มของตนเองได้เลย เพื่อตัดปัญหาการผลิตสินค้าแบบเดียวกันแล้วต้องแปะโลโก้หลายเจ้าจนผู้บริโภคงง และช่วยสร้างแบรนด์ให้กับโรงงานนั้นๆ ไปเลยด้วย

การแข่งขันระหว่างบริษัท E-Commerce ในจีนนั้นรุนแรงมาก แน่นอนว่าเราไม่มีทางที่สู้กับ JD.com และ  Tmall.com โดยตรงได้  ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเป็นบริษัทที่เน้นสร้างผลิตภัณฑ์มากกว่าบริษัทสร้างแพลตฟอร์มร้านค้า”
– Gao Ziguang, Vice President of Xiaomi ecological chain and General Manager of Xiaomi Youpin

ส่วนโมเดล xiaomiyoupin จะไม่ใช่โมเดลแบบเดียวเจ้าอื่นซะทีเดียว ด้วยความที่ตัวบริษัทเองก็มีสินค้าอยู่ในระดับหนึ่ง และมีการไปลงทุนในบริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ต่างๆ มากกว่า 200 บริษัทในตลอดระยะเวลา 5 ปีหลัง ทำให้ภายในเว็บไซต์ xiaomiyoupin นี้ก็จะมีผลิตภัณฑ์มากมายหลายประเภทตั้งแต่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของกิน ของเล่น และสินค้าแฟชั่น ซึ่งสินค้าทุกชิ้นที่วางจำหน่ายในเว็บไซต์นี้คือต้องผ่านการคัดกรองให้เป็นไปตามแนวทางของ Xiaomi หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งของที่จำหน่ายแพลตฟอร์มนี้จะเป็นของดีที่ผ่านเกณฑ์ของบริษัท Xiaomi นั่นเอง โดยเราสามารถแบ่งกลุ่มสินค้าจากเว็บได้ทั้งหมด 4 รูปแบบคือ

1. สินค้าของ Xiaomi ผลิตเอง

สำหรับอันนี้เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วคือจะแปะแบรนด์ Xiaomi กันอย่างโต้งๆ ชัดเจน เช่น Xiaomi Mi Note 10, Redmi Note 8, Mi Band 4 เป็นต้น

2. Xiaomi Ecosystem | สินค้าที่ Xiaomi ร่วมลงทุนหรือเป็น Sub Brands

สินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าแบรนด์ย่อยของ Xiaomi ซึ่งจะมีทั้งแบรนด์ที่บริษัทเป็นเจ้าของ 100% รวมไปถึงที่ไปร่วมลงทุน มีจำนวนเยอะมากกว่า 89 แบรนด์ โดยแบรนด์ที่หลายคนน่าจะคุ้นหูก็คือ Mijia ซึ่งก่อตั้งโดยเสียวหมี่เอง มีอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์และ IoT ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องฟอกอากาศ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หรือกล้องวงจรปิด และหากรวมกับของแบรนด์อื่นที่ทาง Xiaomi ไปร่วมลงทุนเอาไว้ จะทำให้พอร์ตสินค้าภายใต้แบรนด์ Xiaomi นี้จะมีอยู่อย่างมากมาย โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ทั้งหมดดังนี้

  • สมาร์ทโฟน : 21KE, Black Shark, SUNMI, QIN, and Pocophone
  • Smart Home : Mijia, Yunmai, Viomi, iCHUNMi, Wuro
  • เครื่องใช้ไฟฟ้า : Roborock, MiniJ, SWDK, VH, SmartMi, MiiiW Technology, Aller, TINYMU, XPrint
  • การรักษาความปลอดภัย :  Lumi, Vima, Aqara
  • ผลิตภัณฑ์เสริมความงามดูแลตัวเอง : Doctor-B, Miaomiaoce, Oclean, iHealth, Yueli, HANDX, Leravan, SMATE, in the face, AirPOP, Senthmetic, Yuwell
  • สมาร์ทวอช : Huami, Amazfit, Weloop
  • หลอดไฟอัจฉริยะ : Yeelight, COOWO
  • อุปกรณ์เกี่ยวกับภาพและกล้อง : iMi, XiaoYi, MADV, 70MAI
  • อุปกรณ์เกี่ยวกับเสียงและวิดีโอ : 1More, QCY, XGiMi, Inovel, Appotoronics, WHALEY, HAYLOU
  • ยานพาหนะไฟฟ้า : Ninebot, QiCYCLE, UMA, Yunmake
  • แบตเตอรี่ : Zaofeng, ZMi, Kingmi
  • อุปกรณ์ใช้ในชีวิตประจำวัน : QIMIAN, Fiu, Popuband, Kiss Kiss Fish, HuoHou, Purely, 365WEAR, ZaxArt, One Cloud, Pomelo, Bu-Ye, U-REVO
  • อุปกรณ์กีฬา : QIU (7th), Li-Ning, Showmeplus, FreeTie, Move It, MITOWN, GTS
  • ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก : Qingdao, BEVA, SON OF OAK, Deerting, XiaoYang, Kola Mama, XUNKIDS, Honeywell, 700Kids, Snuggle World, XiaoJi
  • ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน : Sui Sui, Tongshifu, Zen`s Bamboo, Yuansu, XiaoXian, XiaoXian, 8Н (Eight Hours), Fine Mading, Fine Mading, Tonight, 77+, Bedding+, COTTONSMITH, Fucha Qingyun, ZSH, Thinkskey, Wowtation, IdeeBank, Like Some, Nature Household, Monoda, HALOS, Loock, Zelkova, Wiha, 17PIN, Happy Life,
  • อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง : Amazpet
  • อุปกรณ์ปลูกพืช : Huahuacaocao
  • ACCESSORIES : RunMi, BLASOUL, JESIS, Pinlo, Guildford, KACO, KACOGreen, DiiZiGN, SimFun, Shanghai Science and Technology Co, Yueme, Clean-n-Fresh
  • อาหารและเครื่องดื่ม : PINGZE, Shogaya Сonfectionery, Square shop, Zhiwei Xuan, OneWine

* รายชื่อแบรนด์อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

3. สินค้าจากแบรนด์อื่น 3rd Party

อันนี้พูดง่ายๆ เลยก็คือสินค้าที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ Xiaomi เลย เป็นของแบรนด์อื่นมาฝากขาย เช่น เครื่องเล่นเกม Nintendo Switch, หูฟัง Sony, ลำโพง Bose เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ทาง Xiaomi ก็มีการยินยอมให้เอามาขายใน youpin ได้ด้วย

4. สินค้าระดมทุน

กลุ่มสินค้าจากเหล่า Startup ที่มีไอเดียแต่ยังไม่ชัวร์ว่ามีความต้องการแค่ไหน หรือไม่ได้มีเงินทุนจำนวนมาก แทนที่จะต้องผลิตออกมาให้มีความเสี่ยง ก็สามารถมาโยนไอเดียทดลองตลาดก่อนได้ ซึ่งถ้ามีคนสนใจและต้องการจะซื้อสินค้า คนเหล่านี้จะทำการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนโปรเจกต์เหล่านี้ได้ เพื่อเป็นการช่วยระดมทุนให้กับเหล่า Startup ให้สามารถพัฒนาสินค้า และผลิตมาจัดจำหน่ายจริงได้

โดยคนที่สนับสนุนตั้งแต่ช่วงที่สินค้ายังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ก็อาจจะได้สินค้าในราคาพิเศษไป ซึ่งสินค้าระดมทุนนี้ เราได้เห็นนวัตกรรมหลายอย่างเกิดขึ้นมา โดยจะมีทั้ง ไม้แคะหู ที่ดูดสิว แอร์ โคมไฟ มีด ฯลฯ ที่มีฟังก์ชันแตกต่างจากท้องตลาด และสินค้าเหล่านี้ต่างประสบความสำเร็จในการระดมทุนจนมีสินค้ามาจำหน่ายจริงได้

และการที่บน xiaomiyoupin มีสินค้าระดมทุนมาขายได้เรื่อยๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะประเทศจีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ มีเม็ดเงินมหาศาลคอยให้สนับสนุนอยู่ตลอด ยกตัวอย่างเช่น ตู้ปลา AI อัจฉริยะ ที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้สามารถระดมทุนได้ทะลุเกินเป้าไปถึง 2700% เลยทีเดียว

อยากได้ของจาก XIAOMI YOUPIN ต้องทำยังไง

ต้องบอกก่อนว่าเราไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าจาก xiaomiyoupin ได้โดยตรง ตัวเลือกการจัดส่งในหน้าเว็บจะ ไม่มีให้จุดหมายที่เป็นประเทศไทย โดยในเว็บจะเลือกจัดส่งได้เฉพาะภายในประเทศจีนเท่านั้น และนั่นก็เป็นช่องทางที่เหล่าพ่อค้าทั้งไทยและจีนเอาไว้หากำไร นำเอาสินค้าจากบน xiaomiyoupin มาขายตามแพลตฟอร์ม E-Commerce ในประเทศไทยนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศ Xiaomi Mijia Purifier 2S ซึ่งเป็นสินค้าที่ช่วงนี้ประเทศไทยบ้านเราขาดตลาดเหลือเกิน โดยบนเว็บ xiaomiyoupin ขายเพียง 699 หยวน หรือประมาณ 3,150 บาทเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาบ้านเราบน Shopee, Lazada จะกินส่วนต่าง ขายกัน 4,000 – 6,000 บาทเลยทีเดียว

แล้วของที่มีชื่อ Xiaomi นำหน้าใช่ของ Xiaomi ผลิตทุกอันไหม

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นสินค้าหลายตัวที่มีขายใน xiaomiyoupin พอเอาออกมาขายตามเว็บไซต์ข้างนอกมักจะมีคำว่า Xiaomi แปะอยู่ด้านหน้าชื่อแบรนด์ตัวเองด้วยเสมอ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นสินค้าของ Xiaomi เอง เช่น  เครื่องดูดไรฝุ่น Xiaomi Deerma ที่เป็นกระแสอยู่ในบ้านเราหลายเดือนก่อน แต่ความจริงแล้ว Deerma เป็นเพียงสินค้าแบรนด์ 3rd Party ไม่ใช่ของ Xiaomi เลย ซึ่งนั่นหมายความว่า สินค้าหลายตัวที่วางจำหน่ายและแปะโลโก้ Xiaomi อาจจะไม่ใช่ของ Xiaomi แต่อย่างใด แค่ผ่านเกณฑ์ของ Xiaomi แล้วได้ขายใน xiaomiyoupin ก็เท่านั้น

ซึ่งการทำแบบนี้ถือเป็นการหลอกลวงหรือไม่ ส่วนตัวผู้เขียนมองว่ามันแอบเทาๆ ไม่ถึงกับผิดและไม่ถึงกับถูกซะทีเดียว เพราะในทางกลับกัน Xiaomi ก็นิยามของที่ขายใน xiaomiyoupin ทุกชิ้น เป็นส่วนหนึ่งของ Xiaomi Ecological Chain ของตัวเองเช่นกัน

สรุป

xiaomiyoupin เป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce คล้ายกับ Lazada หรือ Shopee บ้านเราที่เป็นเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ทั่วไป แต่สินค้าทุกชิ้นในเว็บ xiaomiyoupin นั้น จะผ่านการสกรีนคุณภาพที่ Xiaomi เป็นคนกำหนดก่อนเสมอ ไม่ใช่จะเป็นใครก็มาวางสินค้าขายได้ ซึ่งก็มีข้อดีอยู่คือจะไม่เกิดการขายสินค้าซ้ำซ้อนกัน และทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าของที่สินค้าไปนั้นเป็นของดีมีคุณภาพ รวมถึงเป็นแหล่งระดมทุนของบรรดาเหล่า Startup ที่ต้องการผลิตสินค้าแกดเจ็ตเจ๋งๆ ดีๆ สักชิ้นด้วย

ส่วน xiaomi ecosystem ก็คือสินค้าของแบรนด์ลูก xiaomi หรือแบรนด์ที่ xiaomi ไปลงทุนเอาไว้ ซึ่งจะต่างจาก xiaomi ecological chain ที่จะนับสินค้าเกือบทั้งหมดใน xiaomiyoupin เลยนั่นเอง

หากใครสงสัยว่าสินค้าที่แปะโลโก้ xiaomi น่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไรนั้น ตรงนี้บอกยาก และคงต้องดูเป็นชิ้นๆไป หรือไปตรวจสอบจากเว็บ xiaomiyoupin โดยตรงก่อน เพราะจำนวนแบรนด์ที่เราลิสต์เอาไว้ข้างต้นก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ สินค้าที่วางจำหน่ายใน youpin ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี อย่าให้การซื้อสินค้าต้องยึดติดกับเพียงแค่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง สิ่งที่จะช่วยป้องกันเราจากการซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ และมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแบรนด์ไหนก็ตาม เราควรต้องตรวจสอบประวัติร้านค้านั้นว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ มีคนรีวิวสินค้าชิ้นนี้หรือยัง และคอมเมนท์เป็นไงบ้าง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการถูกหลอกได้เป็นอย่างดี

หรือบางทีหากเราเจอสินค้านี้ขายตามห้างร้านหรือท้องถนนที่สามารถจับต้องทดลองได้ก่อน แม้จะขายแพงกว่าในเน็ตไม่กี่บาท แต่การจ่ายส่วนต่างนี้เพื่อซื้อความสบายใจก็อาจจะเป็นเรื่องที่น่าทำเช่นกันครับ (เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย)

 

อ้างอิง :

  1. EqualOcean | Xiaomi Youpin, the E-Commerce Platform of Xiaomi Group
  2. Gearbest | What is Xiaomi ecological chain or Xiaomi youpin?
  3. Gizmochina | Xiaomi is 9 Years Old: We Document Its Journey & Major Milestones!
  4. TMEPOST | Interview with GM of Xiaomi Youpin: the Way Xiaomi Does Business of Household Items
  5. Droidsans | หุ้น Xiaomi ไม่บูมอย่างที่คิด หลังเปิดตัวในฮ่องกง มูลค่า IPO ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้กว่า 2%
  6. TheVerge | What is Xiaomi? Here’s the Chinese company that just stole one of Android’s biggest stars
  7. ValueQ | What is Xiaomi Youpin or Ecological Chain System? Brands in the Xiaomi Ecosystem
  8. Xiaomi-mi | MiOT Ecosystem