ถึงแม้ว่าในหลายปีให้หลังมานี้จะไม่ได้เป็นที่นิยมในประเทศไทยอีกต่อไป แต่ WhatsApp กลับยังคงเติบโตได้สำหรับจำนวนของผู้ใช้งานทั่วโลกได้อย่างแข็งแกร่งชนิด App เบอร์หนึ่งบ้านเราอย่าง LINE ยังยากจะเข้าใกล้ได้ ล่าสุดประกาศจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกที่เกินกว่า 2 พันล้านบัญชีไปแล้วเรียบร้อย ด้านทีมบริหารเผยความท้าทายของทศวรรษใหม่คือ Data Privacy ที่ต้องปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานในขณะที่รัฐ ฯ จ้องบังคับให้ต้องตรวจสอบได้ตลอดเวลา
WhatsApp สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้งานได้สูงถึง 500 ล้านบัญชีภายในเวลาแค่ 2 ปีนับตั้งแต่สิ้นปี 2017 ที่พวกเขาเคยประกาศตัวเลขบัญชีผู้ใช้งานเอาไว้ที่ 1,500 ล้านบัญชี ปัจจุบันทะลุ 2,000 ล้านบัญชีไปแล้ว ซึ่งหากเทียบกันกับ Messaging App เจ้าตลาดประเทศไทยอย่าง LINE นั้นมีจำนวนบัญชีผู้ใช้งานทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ราว 220 ล้านบัญชีเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วแพลตฟอร์มนี้เป็นที่นิยมสูง เพียงแค่ในไม่กี่ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย อินโดนีเซีย ในขณะที่ WhatsApp นั้นมีผู้ใช้งานจำนวนมากอยู่ในทั่วทุกมุมโลกไม่ว่าจะเป็นทวีปอเมริกาเหนือทั้งทวีป หลายประเทศในยุโรป หรือ อินเดีย เป็นต้น
นับว่า Facebook Inc. ของ Mark Zuckerberg นั้นอ่านเกมส์การแข่งขันของธุรกิจ Chat App ได้อย่างเฉียบขาดหลังประกาศบิ๊กดีล เข้าซื้อกิจการ WhatsApp ด้วยมูลค่าลงทุนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์สำหรับ Facebook เองนับจนถึงทุกวันนี้ ด้วยมูลค่าการเข้าซื้อกว่า 19,000 ล้านเหรียญ หรือกว่า 6 แสนล้านบาทในปี 2014 ซึ่งถูกนักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า เป็นการซื้อกิจการที่แพงเกินไปมากเพราะ WhatsApp ขณะนั้นมีขนาดใหญ่จนใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว กับผู้ใช้ราว 700 ล้านบัญชี แถมในบางประเทศเช่นไทยนั้น เริ่มทยอยเลิกฮิตกันไปแล้ว ใครจะไปเชื่อว่า 5 ปีผ่านไป WhatsApp จะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีกร่วม 300% ขนาดนี้
Chat App บนความท้าทายของทศวรรษใหม่ กับ Data Privacy ต้องปลอดภัยกว่าที่เคย แต่เปิดเผยได้หากรัฐ ฯ ขอมา 😯
หากย้อนไปในช่วงปี 2016 นั้น WhatsApp เป็นแพลตฟอร์ม Messaging App เจ้าแรก ๆ ที่นำเสนอเทคโนโลยีที่เรียกว่า “End-to-end- Encryption” ซึ่งเป็นฟีเจอร์การเข้ารหัสที่ยกระดับการรักษาความปลอดภัยให้กับการรับ-ส่งข้อความที่เป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น คือไม่สามารถมีตัวกลางใด ๆ จะเปิดอ่านและเข้าใจข้อความที่ส่งกันได้แม้แต่ผู้ให้บริการอย่าง WhatsApp เองก็ตาม (ภายหลัง LINE และ Chat App อื่น ๆ จึงได้ทยอยเปิดตัวฟีเจอร์ Encryption นี้ขึ้นบ้างเช่นกัน) สิ่งนี้อยู่ภายใต้หลักการ Secured-by-default ซึ่งภายหลังกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอย่าง General Data Protection Regulations (GDPR) ของยุโรป หรือแม้แต่ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ของไทยก็มีการส่งเสริมเอาไว้ด้วย
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจสำหรับบรรดา Messaging App ทั้งหมดไม่ใช่แค่ WhatsApp หรือ LINE นั้นคือ บรรดากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั่วโลกนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่ใช้บังคับกับพวกเขา แต่รัฐบาลชาติต่าง ๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร หรือแม้แต่ประเทศไทยของพวกเรานั้น กำลังทยอยออกกฎหมายด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ออกมาเป็นข้อยกเว้นในด้านความปลอดภัยของระบบ Encryption ต่าง ๆ ต้องถูกถอดรหัสเพื่อเปิดเผยให้แก่รัฐได้หากมีกรณีที่จำเป็น งานนี้เท่ากับว่า WhatsApp หรือ LINE นั้นต้องสร้างแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยที่สุดเพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้รัฐมองเห็นได้หากถูกร้องขอ
เราจะไม่ยอมประนีประนอมหากเป็นเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งาน WhatsApp ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาให้เกิดรูปแบบการจัดการที่เหมาะสม สำหรับการใช้งานที่ผิดจุดประสงค์รวมถึงปัญหาในด้านต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ ฯ นานาชาติ แต่ความปลอดภัยจะต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ใช้งานเสมอ… – ทีมบริหารของ WhatsApp
อ้างอิง: CNN Business | The Wall Street Journal (Subscription) | Statista
ต้องยอมรับเลยว่าปลอดภัย (เกือบ 100%) จริงๆ
ใช้เบอร์โทรยืนยัน จะใช้งานใน pc ต้องสแกน qr code
ด้วยมือถือ ไม่ต้องมาจำเมล, พาสเวิร์ดให้วุ่นวาย
ว่าแต่.. มะไร Dark Mode จะมา รอนานแล้ว 🥱🥱
จริงครับ อันที่จริงคือระบบดีงามสุด แต่บ้านเราคงไม่กลับมา Hit กันอีกแล้ว T-T