เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2023 ซึ่งยังคงเป็นอีกปีที่นี้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายในแวดวงไอทีและสมาร์ทโฟน คดีการผูกขาดทางการค้าถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้งในหน้าสื่อ บางคดีฟ้องร้องกันเป็นมหากาพย์หลายปี ก่อนได้บทสรุปในปีนี้, การควบรวมกิจการของธุรกิจขนาดยักษ์ที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ บ้างสำเร็จ บ้างล้มเหลว, แต่หากพูดถึงในภาพรวม เทรนด์ที่มาแรงที่สุดคือ AI ที่ก้าวหน้าขึ้นมาจนอยู่ในระดับที่เปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของมนุษย์บางส่วนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

True ควบรวม dtac ขึ้นเบอร์ 1 ตลาดเครือข่ายมือถือในไทย

เดือนตุลาคม 2565 กสทช.ลงมติ ‘รับทราบ’ การควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True และ dtac ด้วยมติ 3 ต่อ 2 เสียง จากนั้น True และ dtac ได้ประกาศควบรวมกิจการเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2566 ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ โดยทั้งสองค่ายต้องแยกการทำตลาดต่อไปอีก 3 ปี พร้อมลดค่าบริการลง 12% ตามข้อกำหนดของ กสทช. – ดีลนี้ส่งผลให้ True และ dtac มีฐานลูกค้ารวมกัน 51.7 ล้านเลขหมาย ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลอดเครือข่ายมือถือ แซงหน้า AIS ที่มีฐานลูกค้า 42.8 ล้านเลขหมาย

ฐานลูกค้าตลาดเครือข่ายมือถือในไทย

  • True และ dtac – 51.7 ล้านเลขหมาย (หลังควบรวม)
  • AIS – 42.8 ล้านเลขหมาย
  • True – 32.6 ล้านเลขหมาย (ก่อนควบรวม)
  • dtac – 19.1 ล้านเลขหมาย (ก่อนควบรวม)

อย่างไรก็ดี เดือนตุลาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องเพิกถอนมติอนุญาตควบรวม True และ dtac ไว้พิจารณาวินิจฉัย จากที่มูลนิธิยื่นฟ้องตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ศาลปกครองชั้นต้น จึงรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาตามคำสั่งศาลปกครอง โดยจะเตรียมพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ซึ่งยังคงต้องติดตามดูบทสรุปกันต่อไป

AIS ควบรวม 3BB ขึ้นเบอร์ 1 ตลาดเน็ตบ้านในไทย

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2566 กสทช.อนุญาตให้ AIS ควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์กับ 3BB ด้วยมติ 4 ต่อ 1 เสียง พร้อมข้อกำหนดให้แยกการทำตลาดต่อไปอีก 3 ปี เช่นเดียวกับการควบรวมระหว่าง True และ dtac และ AIS Fibre ได้ประกาศรีแบรนด์เป็น ‘AIS 3BB Fibre 3’ ภายในเดือนเดียวกัน – ดีลนี้ส่งผลให้ AIS และ 3BB มีฐานลูกค้ารวมกัน 4.69 ล้านราย ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดเน็ตบ้าน แซงหน้า True ที่มีฐานลูกค้า 3.8 ล้านราย

ฐานลูกค้าตลาดเน็ตบ้านในไทย

  • AIS และ 3BB – 4.96 ล้านราย (หลังควบรวม)
  • True – 3.8 ล้านราย
  • AIS – 2.38 ล้านราย (ก่อนควบรวม)
  • 3BB – 2.31 ล้านราย (ก่อนควบรวม)
  • NT – 1.8 ล้านราย

Microsoft ปิดดีล Activision Blizzard ขึ้นเบอร์ 3 บริษัทเกมของโลก

มหากาพย์ดีลยักษ์ใหญ่ระหว่าง Microsoft และ Activision Blizzard ได้รับอนุมัติให้ควบรวมอย่างเป็นทางการแล้ว หลังหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งทางการค้าขันของสหราชอาณาจักรที่เป็นอุปสรรคด่านสุดท้ายเปิดไฟเขียวให้ Microsoft เมื่อเดือนตุลาคม ทำให้ Microsoft ขยับขึ้นเป็นบริษัทเกมยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลก ถัดจาก Tencent และ Sony ทันที พร้อมด้วยเป็นเจ้าของแฟรนไชส์เกมดังหลายเกมมาอยู่ในมือ อาทิ

  • Overwatch
  • Diablo
  • Call of Duty
  • Warcraft
  • Candy Crush
  • StarCraft

ดีลนี้ถือเป็นดีลระดับสะเทือนวงการ ด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 68,700 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าดีลที่ Microsoft เคยยื่นซื้อ LinkedIn ด้วยมูลค่า 26,000 ล้านเหรียญในปี 2016 เกินสองเท่า

Adobe ล้มดีล Figma หลังถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย

เมื่อมีผู้สมหวัง… ย่อมต้องมีผู้ผิดหวัง… Adobe ตัดสินใจถอนดีลเข้าซื้อ Figma มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการตกลงและเห็นพ้องต้องกันของทั้งสองฝ่าย

Adobe ให้เหตุว่า ‘ไม่มีความชัดเจนในการได้รับอนุมัติให้เข้าซื้อกิจการจากหน่วยงานกำกับดูแล’ สาเหตุเป็นเพราะหน่วยงานกำกับดูแลจากสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ต่างแสดงท่าทีไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยกับดีลนี้ เนื่องจากเป็นกังวลเรื่องการผูกขาดตลาด โดยมองว่าหาก Adobe ควบรวม Figma สำเร็จ จะไม่เกิดการแข่งขัน และนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ ทาง Adobe จึงตัดสินใจไม่เดินหน้าต่อ แต่จะมองหาแนวทางใหม่ในการร่วมมือทางธุรกิจกับ Figma แทน

ผลลัพธ์ที่ตามมาอีกประการคือ Adobe ต้องจ่ายเงินให้ Figma เป็นจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นค่าชดเชยกรณีเข้าซื้อกิจการไม่สำเร็จ

iPhone 15 บอกลาพอร์ต Lightning เริ่มต้นยุค USB-C เต็มระบบ

ปีนี้ Apple เปิดตัว iPhone 15 Pro พร้อมชิป A17 Pro ใหม่ และอัปเกรดวัสดุเฟรมเครื่องเป็นไทเทเนียม ส่งผลให้ iPhone 15 Pro เป็นมือถือในรุ่นโปร ของ Apple ที่เบาที่สุดที่เคยมีมา โดยมีน้ำหนักอยู่ที่ 187 กรัม ในรุ่น iPhone 15 Pro และ 221 กรัม ในรุ่น iPhone 15 Pro Max ส่วน iPhone 15 รุ่นมาตรฐาน ได้อัปเกรดหน้าจอเป็น Dynamic Island

แต่เหนือสิ่งอื่นใด iPhone 15 ได้เปลี่ยนมาใช้พอร์ต USB-C ตามสากลโลกเป็นครั้งแรก ถือเป็นการละทิ้งพอร์ต Lightning ที่ใช้งานมา 11 ปี และเข้าสู่ยุคใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ iPhone 15 สามารถใช้งานสายชาร์จกับอุปกรณ์เสริมได้หลากหลายขึ้นกว่าเดิม

ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังส่งผลให้อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ในเครือของ Apple หลายชิ้นที่ยังเป็นพอร์ต Lightning อยู่ ต้องออกสินค้ารุ่นใหม่ที่เปลี่ยนมาใช้ USB-C ตามไปด้วย เช่น AirPods และ Apple Pencil

โดนกดดันมานาน Apple ประกาศยอมรับ RCS แล้ว เริ่มใช้จริงปีหน้า

Google พยายามผลักดันให้โปรโตคอล RCS กลายเป็นมาตรฐานกลางในการรับส่งข้อความแทน SMS ของเดิมที่ล้าสมัยมาหลายปี แต่อุปสรรคสำคัญคือ Apple ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดมือถือ ยืนยันจะใช้ iMessage ของตนเป็นหลัก ทำให้การส่งข้อความข้ามค่ายระหว่าง Android และ iOS จะถูกจำกัดไว้ที่โปรโตคอล SMS ตามเดิม แม้ Google จะพยายามชักชวน Apple ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ออกแคมเปญในเซเชียลมีเดีย เขียนบล็อกโพสต์นำเสนอถึงข้อดี หรือทำโฆษณาล้อเลียน แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจ Apple ได้

แต่แล้วในเดือนพฤศจิกายน Apple ได้ประกาศเตรียมรองรับ RCS ใน iMessage ภายในปีหน้า กลายเป็นเรื่องที่สร้างความเซอร์ไพรส์ในวงกว้าง เนื่องจากไม่มีสัญญาญาณใด ๆ ที่บ่งบอกว่า Apple จะยอมรับ RCS มาก่อน และในทางตรงกันข้าม Apple นั้นแสดงท่าทีต่อต้าน RCS มาตลอดด้วยซ้ำไป (เพราะไม่อยากเสียส่วนแบ่งฐานลูกค้าในตลาดแอปแช็ตโดยไม่จำเป็น)

จึงเป็นอันว่า ในปีหน้า Android และ iOS จะสามารถรับส่งข้อความผ่าน RCS ได้ ซึ่งจะมีข้อดีที่เหนือกว่า SMS หลายประการ ทั้งในแง่ความปลอดภัย และฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น การรองรับแช็ตกลุ่ม สติกเกอร์ อีโมจิ เป็นต้น ที่สำคัญคือ ไม่ต้องเสียค่าบริการ SMS เพราะเป็นการรับส่งข้อความผ่านอินเทอร์เน็ต

Twitter รีแบรนด์ใหม่ ไม่มีแล้วนกฟ้า เปลี่ยนเป็น X ทั้งชื่อและโลโก้

หลังจาก Elon Musk เข้าซื้อกิจการ Twitter เมื่อปีที่แล้ว ปีนี้เจ้าตัวได้ตัดสินใจรีแบรนด์ Twiiter ใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อแพลตฟอร์มเป็น X และแทนที่โลโก้ Larry the Bird หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘นกฟ้า’ อันเป็นภาพจำของ Twitter มานาน ด้วยตัวอักษร X เช่นกัน นอกจากนี้ ฟังก์ชัน ‘ทวีต’ และ ‘รีทวีต’ เองก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘โพสต์’ และ ‘รีโพสต์’

สำหรับโลโก้ ‘𝕏’ ของใหม่ มีที่มาจากอักษรยูนิโค้ด U+1D54F หรือในชื่อเต็มคือ Mathematical Double-Struck Capital X โดยโลโก้เวอร์ชันแรกที่เป็นเวอร์ชันชั่วคราว ถูกออกแบบโดย Sawyer Merritt

Google การันตีอัปเดตซอฟต์แวร์ Pixel 8 รวม 7 ปี นานสุดที่เคยมีมา

Samsung เป็นผู้นำเทรนด์ขยายกรอบเวลาอัปเดตซอฟต์แวร์มายังมือถือ Android โดยประกาศการันตีอัปเดตระบบปฏิบัติการ 3 รุ่น และแพตช์ความปลอดภัย 4 ปีครั้งแรกในปี 2021 ย้อนหลังถึง Galaxy S10 ที่มีอายุ 2 ขวบ ณ ตอนนั้น ก่อนที่จะมาประกาศขยายเพิ่มอีกรอบเป็น 4 รุ่น และ 5 ปี ในปี 2022

แนวทางของ Samsung ได้สร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวกครั้งใหญ่ในตลาด Android ให้ผู้ผลิตมือถือค่ายอื่นต้องเริ่มปรับตัวขยายการอัปเดตซอฟต์แวร์ตาม จากที่ก่อนหน้านี้ปัญหาเรื่องการลอยแพเป็นหนึ่งในจุดอ่อนใหญ่ของ Android ก็ทยอยดีขึ้นเป็นลำดับ

และในปีนี้ Google ก็เกทับ Samsung เพื่อไม่ให้น้อยหน้าในฐานนะผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Android โดยการประกาศการันตีอัปเดตซอฟต์แวร์ให้ Pixel 8 เป็นเวลา 7 ปี ครอบคลุมทั้งในส่วนของระบบปฏิบัติการ แพตช์ความปลอดภัย และ Feature Drop ซึ่งกรอบเวลา 8 ปีนี้ นับได้ว่านานที่สุดเหนือ Android แบรนด์ใด ๆ (หากไม่นับ Fairphone ที่ไม่ใช่แบรนด์กระแสหลัก) และไม่เว้นแม้แต่ iOS ของ Apple ที่อัปเดตให้ประมาณ 5 ถึง 6 ปี ขึ้นอยู่กับรุ่น

สิ่งที่น่าติดตามต่อไปคือ การขยับตัวของ Google ครั้งนี้ จะสร้างอิมแพกต์ได้เหมือนกับที่ Samsung เคยทำไว้ได้อีกครั้งหรือไม่

Qualcom เปิดตัว Snapdragon X Elite สถาปัตยกรรม ARM เร็ว แรง ขีดสุด

ก่อนงาน Snapdragon Summit 2023 จะเริ่ม ความสนใจจากทั่วสารทิศต่างมุ่งเป้าไปที่ Snapdragon 8 Gen 3 ชิปเรือธงตัวใหม่ฝั่งมือถือ แต่แล้ว Snapdragon X Elite ชิปสถาปัตยกรรม ARM ฝั่งพีซี ที่ Qualcomm นำมาเปิดตัวในงานเดียวกัน ดันกลายเป็นดาวเด่นแบบเหนืออความคาดหมายด้วนสมรรถนะที่ทรงพลังสุดขีด จนสร้างเสียงฮือฮาเกรียวกราวไปทั้งงาน

Snapdragon X Elite เป็นชิปที่สานต่อจาก Snapdragon 8cx แต่ Qualcomm ได้ทำการรีแบรนด์ เปลี่ยนชื่อซีรีส์นี้ใหม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มาถึง

หมัดเด็ดของ Snapdragon X Elite อยู่ตรงซีพียู Oryon ที่พัฒนาโดยอดีตทีม NUVIA ที่ Qualcomm เข้าซื้อกิจการไปเมื่อปี 2021 โดยสามารถทำคะแนนเบนช์มาร์ก single-core เอาชนะชิป M2 Max ของ Apple ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงได้ ส่วนในแง่ของการกินไฟก็เหนือกว่า i9-13980HX ของ Intel ที่เป็นชิปสถาปัตยกรรม x86

Qualcomm ยังประกาศอีกว่า จะนำซีพียู Oryon ไปใช้งานกับชิป Snapdragon 8 Gen 4 ในปีถัดไป เรียกได้ว่าเป็นการสปอยล์กันข้ามปี

ชิปกลุ่มมือถือ ทำคะแนน AnTuTu ทะลุ 2 ล้านคะแนนเป็นครั้งแรก

Snapdragon 8 Gen 3 กลายเป็นชิปมือถือรุ่นแรกที่ทำคะแนน AnTuTu ได้เกิน 2 ล้านคะแนน หากอ้างอิงจากผลคะแนนที่ Qualcomm รันด้วยเครื่องทดสอบ คะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบ 3 รอบ จะอยู่ที่ 2.13 ล้านคะแนน

คล้อยหลังตามมาไม่นาน Dimensity 9300 จาก MediaTek ก็กลายเป็นชิปมือถืออีกหนึ่งรุ่นที่มีคะแนน AnTuTu ทะลุ 2 ล้านคะแนน ซึ่งคะแนนเฉลี่ยทำได้ใกล้เคียงกับ Snapdragon 8 Gen 3 ของ Qualcomm

แต่อันที่จริงแล้ว เรื่องความแรงอาจไม่ใช่สาระสำคัญที่สุดในปีนี้ เพราะสิ่งที่กำลังเป็นเทรนด์จริง ๆ คือ AI และทั้ง Qualcomm กับ MediaTek ต่างเน้นไปที่การปรับปรุง NPU และ APU ของตนเป็นหลัก ซึ่งเป็นส่วนที่รับผิดชอบด้านการประมวลผล AI โดยเฉพาะให้สอดรับกับเทรนด์ โดย Snapdragon 8 Gen 3 มี NPU ที่ทรงพลังขึ้น 2 เท่า ส่วน Dimensity มี APU ที่ทำงานเร็วกว่าเดิม 8 เท่า รองรับพารามิเตอร์ขนาดใหญ่สูงสุด 10,000 ล้านพารามิเตอร์ และ 33,000 ล้านพารามิเตอร์ ตามลำดับ

โลกงง… ชาวเน็ตอึ้ง… HUAWEI ผลิต Kirin 9000s ได้อย่างไร ทั้งที่โดนแบน

HUAWEI วางขาย Mate 60 Pro ในจีนครั้งแรกตอนเดือนสิงหาคม ซึ่งได้รับกระแสตอบรับถล่มทลาย มีภาพผู้คนออกมาต่อคิวรอซื้อ Mate 60 Pro ตามห้างร้านปรากฏตามหน้าสื่อโซเชียลมีเดีย และสินค้าก็ขาดตลาดในเวลาเพียงไม่นาน ทั้งที่ HUAWEI ไม่ได้มีการจัดงานเปิดตัวใด ๆ ทั้งสิ้น จนถูกสื่อยกย้องว่า Mate 60 Pro เป็นหัวหอกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจตลาดมือถือในจีน หลังจากเข้าสู่ช่วงซบเซามานานเพราะประสบภาวะเงินเฟ้อ

เรื่องที่ Mate 60 Pro ขายดี เป็นเพียงหนึ่งในแง่มุมหนึ่งของเรื่องราว แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคงเป็นประเด็นที่ว่า HUAWEI มีท่าทีปิดบังข้อมูลในส่วนของชิป โดยไม่มีการเอ่ยถึงในหน้าผลิตภัณฑ์บนหน้าเว็บไซต์ เป็นเรื่องที่ผิดวิสัยอย่างเด่นชัด

เมื่อ Bloomberg ได้นำโทรศัพท์ไปงัดแงะตรวจสอบแล้ว พบว่า Mate 60 Pro ขับเคลื่อนด้วย Kirin 9000s ขนาด 7 นาโนเมตร และมีคุณสมบัติในการรองรับ 5G ซึ่งปัญหาคือ HUAWEI ไม่น่าจะเข้าถึงชิปขั้นสูงแบบนี้ได้ เพราะถูกสหรัฐฯ แบนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตส่วนเซมิคอนดักเตอร์อยู่ การสั่งซื้อจากบริษัทสัญชาติอื่นที่เป็นพันธมิตรกับสหรํฐฯ ก็ถูกสั่งห้าม และลำพังเทคโนโลยีจากจีนเอง ก็เป็นที่เข้าใจว่ายังตามหลังชาติตะวันตกอยู่อีกหลายปี จึงไม่น่าจะผลิตเองได้เช่นกัน

ไม่ใช่แค่ทางการที่สงสัยว่า HUAWEI ผลิตชิป Kirin 9000s ได้อย่างไร มีการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่ หรือใช้วิธีเล่นแร่แปรธาตุแบบไหน ฝั่งสื่อจีนเอง ก็สงสัยในประเด็นนี้ และทางนักข่าวได้พยายามยิงคำถามถึง HUAWEI ระหว่างงานประชุมประจำปี แต่พนักงานระดับสูงของ HUAWEI ต่างพร้อมใจกันบ่ายเบี่ยง ไม่ตอบคำถามตรง ๆ

Xu Zhijun รองประธานกรรมการ HUAWEI บอกกับสื่อจีนว่า ‘เราจะสามารถผลิตมือถือ 5G ได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขา (กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ) ให้อนุมัติเรา’ กล่าวคือ HUAWEI ยืนกรานปฏิเสธเรื่อง 5G และ Meng Wanzhou ซีเอฟโอของ HUAWEI ก็สนับสนุนความคิดเห็นของ Xu Zhijun โดยบอกว่า ‘มือถือ 5G เครื่องล่าสุดของ HUAWEI คือ Mate 40 Pro’

ปริศนา Kirin 9000s ยังไม่ทันคลี่คลาย HUAWEI ดันเปิดตัว Qingyun L540 พร้อม Kirin 9006C ตามออกมาตอนเดือนธันวาคม และรอบนี้ขยับจากชิป 7 นาโนเมตร ขึ้นมาเป็นชิป 5 นาเมตร ทำให้ชาวโลกงงเป็นไก่ตาแตก

Qingyun L540 ถูกจับมาชำแหละอีกครั้ง คราวนี้พบว่า Kirin 9006C ถูกผลิตด้ยเครื่อง DUV ที่ถึงแม้จะล้าสมัยกว่าเครื่อง EUV แต่ HUAWEI ยังสามารถเข้าถึงเครื่องจักรชนิดนี้ได้อยู่โดยไม่ขัดต่อมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ – ในทางเทคนิคแล้ว เครื่อง DUV สามารถผลิตชิป 5 นาโนเมตรได้จริง แต่อัตราการผลิตสำเร็จนั้นต่ำมาก ๆ จนไม่น่าจะคุ้มทุน หรืออาจเข้าทำนองที่ว่า ‘เสียเงินไม่ว่า… เสียหน้าไม่ได้…’

Xiaomi เปิดตัว HyperOS พร้อมปลดระวาง MIUI ที่ใช้งานมา 13 ปี

ในงาน Leap Beyond the Moment ช่วงปลายเดือนตุลาคม Xiaomi ประกาศเปิดตัว HyperOS ระบบปฏิบัติการใหม่ที่จะมาแทน MIUI ที่ใช้งานมา 13 ปี พร้อมเปิดตัวอุปกรณ์กลุ่มแรกที่รันด้วย HyperOS ในงานเดียวกัน คือ Xiaomi 14 series, Xiaomi Watch S3 และ Xiaomi TV S Pro MiniLED

HyperOS เป็นระบบปฏิบัติการที่ Xiaomi ซุ่มพัฒนามากว่า 6 ปีแล้ว จุดประสงค์คือ ต้องการรวมระบบนิเวศน์ในเครือให้เป็นหนึ่งเดียว รองรับทำงานร่วมกันแบบไร้รอยต่อ เพราะ Xiaomi ทำอุปกรณ์ IoT ออกมาขายหลายอย่างนอกเหนือจากมือถือและแท็บเล็ต ในขณะที่ Xiaomi มองว่า Android ไม่สามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีพอ

แกนหลักของ HyperOS ยังมีพื้นฐานจาก Android อยู่ แต่ในส่วนของ Kernel ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ โดยผสานระหว่าง Linux และ Xiaomi Vela ที่ Xiaomi พัฒนาขึ้นเอง ทำให้ HyperOS รองรับ SKU ได้หลานพันรายการ สามารถนำไปปรับใช้งานกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น โดย Xiaomi ชูจุดเด่นของระบบปฏิบัติการนี้ว่า กินทรัพยากรน้อย เร็ว ฉลาด ยืดหยุ่น และประหยัดแบตกว่า Android

สำหรับมือถือ Xiaomi รุ่นเก่า ๆ ที่ยังอยู่ในระยะซัพพอร์ตซอฟต์แวร์ ก็จะได้รับการอัปเกรดจาก MIUI เป็น HyperOS เช่นกัน รวมถึงมือถือ POCO บางรุ่น

Google แพ้คดี Epic Games กรณีผูกขาดแอปสโตร์

คณะลูกขุนของรัฐบาลกลางในแคลิฟอร์เนีย มีมติตัดสินแล้วว่า Google มีความผิดฐานผูกขาดแอปสโตร์จริง ตามที่ Epic Games ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2020 ประเด็นนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยในวงกว้าง เพราะ Apple ที่โดน Epic Games ฟ้องในข้อกล่าวหาเดียวกัน ตอนปีเดียวกัน ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด

ต่อมาหนึ่งในคณะลูกขุนได้ออกมาเปิดเผยว่า ข้อความในแอป Google Chats ที่พนักงาน Google ใช้สื่อสารภายในองค์กรบางส่วนถูกลบทิ้งไป ทำให้ผู้พิพากษามองว่า Google จงใจทำลายหลักฐาน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Google แพ้คดี แม้ Google จะพยายามแก้ต่างว่า ฟีเจอร์ลบข้อความอัตโนมัติเป็นฟีเจอร์ที่ถูกกำหนดเป็นค่าเริ่มต้นของ Google Chats ตั้งแต่แรก

และอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ Google ยอมรับว่ามีการจ่ายเงินให้กับนักพัฒนาและพาร์ตเนอร์ เพื่อทำให้แอปของตนมีความ ‘โดดเด่น’ บนอุปกรณ์ เช่น การวางแอป Google ไว้หน้าแรกสุดของหน้าโฮม หรือการตั้งค่าให้แอป Google เป็นแอปที่ถูกเรียกใช้งานเป็นค่าเริ่มต้น

Epic Games ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหายเป็นตัวเงิน หากแต่เรียกร้อง ‘อิสระภาพ’ ในการใช้งานระบบชำระเงินภายนอกที่ไม่ต้องขึ้นตรงกับ Google เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชัน 30% ซึ่งเป็นจำนวนที่ Epic Game มองว่าแพงเกินไป โดยมีการประเมินว่าบริษัทจะมีรายรับเพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านดอลลาร์ หรือมากกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ฝ่าย Google ออกปากว่าจะไม่ยอมแพ้ในคดีนี้ และจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตามกระบวนการกฎหมายต่อไป และกว่าคดีจะสิ้นสุด คงใช้เวลาอีกหลายปี

Google ยอมจ่าย 700 ล้านดอลลาร์ จบคดีผูกขาดแอปสโตร์กับ 36 รัฐ

นอกเหนือจาก Epic Games แล้ว Google ยังโดนฟ้องคดีผูกขาดอีกคดีโดยกลุ่มอัยการจาก 36 รัฐ และวอชิงตัน ดี.ซี. ตอนปี 2021 ล่าสุด Google ยอมความ และทำข้อตกลงร่วมกับอัยการสูงสุดโดยการเปลี่ยนแปลงแนวทางบางส่วนของ Google Play เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาดทางการค้า และ Google ยอมจ่ายเงิน 700 ดอลลาร์เพื่อจบคดี แบ่งเป็น

  • 630 ล้านดอลลาร์ – เข้ากองทุนระงับคดี โดยกองทุนฯ จะนำเงินไปมอบให้กับผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าหรือบริการในแอป (in-app purchase) ผ่าน Google Play หลังหักภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ต่อไป
  • 70 ล้านดอลลาร์ – เข้ากองทุนของรัฐ แต่ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด

ChatGPT แช็ตบอต AI สะเทือนโลก

แช็ตบอตที่สามารถโต้ตอบได้แบบมนุษย์จาก OpenAI อย่าง ChatGPT กลายเป็นแอปที่มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานเร็วที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 100 ล้านคน ภายใน 2 เดือน หากนับที่จำนวนผู้ใช้งานเท่ากัน TikTok และ Instagram ต้องใช้เวลาถึง 9 เดือน และ 2 ปีครึ่ง ตามลำดับ นอกจากนี้ ChatGPT ยังเป็นบทความบน Wikipedia ที่มีคนอ่านมากที่สุดในปี 2023 หากนับเฉพาะบทความภาษาอังกฤษ

อาจกล่าวได้ว่า ChatGPT เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับ AI ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว และต่อมายังปีนี้ โดยมักถูกพูดถึงในเชิงที่ว่า ‘เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานแบบเดิม ๆ’ ซึ่ง Microsoft ที่เป็นผู้ร่วมลงทุนใน OpenAI ได้มีการต่อยอดความสำเร็จโดยนำ ChatGPT เข้าไปผสานเป็นส่วนหนึ่งของบริการของตน เช่น Bing Chat และ Microsoft 365 Copilot และ 6 องค์กรระดับแถวหน้าของไทยได้เข้าร่วมโครงการนำร่อง ทดสอบใช้งานในปีนี้ไปแล้วเช่นกัน

Google ส่ง Gemini พร้อมผสานลง Bard และ Pixel ท้าชน ChatGPT

Sundar Pichai เปิดเผยในงาน Google I/O ช่วงเดือนพฤษภาคมว่า Google เริ่มพัฒนาโมเดล AI ตัวใหม่แล้ว ใช้ชื่อว่า Gemini ก่อนจะประกาศเปิดตัว Gemini 1.0 เวอร์ชันแรกอย่างเต็มรูปแบบในอีก 7 เดือนถัดมา โดยแบ่งออกเป็นโมเดล 3 ขนาด ได้แก่

  • Gemini Nano — โมเดลขนาดเล็ก
  • Gemini Pro — โมเดลขนาดกลาง
  • Gemini Ultra — โมเดลขนาดใหญ่

Google เล่าว่า Gemini เป็นโมเดลปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกออกแบบมาให้เป็น multimodal ตั้งแต่กำเนิด มันมีความสามารถในการสรุปและทำความเข้าใจจากอินพุตทุกประเภทได้ในเวลาเดียวกันอย่างราบรื่น ทั้งข้อความ โค้ด เสียง รูปภาพ วิดีโอ และอื่น ๆ ส่งผลให้ Gemini เก่งเป็นพิเศษในแง่การตอบคำถาม การอธิบาย และการใช้เหตุผลในหัวข้อที่มีความซับซ้อน

ในบล็อกโพสต์ของ Google ยังได้โชว์ขิงว่า Gemini 1.0 สามารถเอาชนะ ChatGPT-4 ได้เกือบทุกชุดการทดสอบด้วย

Pixel 8 Pro เป็นมือถือรุ่นแรกที่ได้รับการอัปเดตให้ผสานร่างกับ Gemini Nano ซึ่งเป็นโมเดลขนาดเล็กที่ถูกปรับให้เหมาะสมต่อทรัพยากรและพลังการประมวลผลที่มีจำกัดของอุปกรณ์พกพา ส่วน Bard ได้รวมร่างกับ Gemini Pro ที่เป็นโมเดลขนาดกลาง และแปลงร่างเป็น Bard Advanced ในขณะที่ Gemini Ultra ที่ใหญ่ที่สุด เก่งที่สุด รองรับงานที่มีความซับซ้อนที่สุด ยังอยู่ในขั้นตอนเปิดให้ทดลองใช้งานแบบจำกัด โดยเตรียมจะเปิดให้นักพัฒนาและลูกค้าองค์กรใช้งานในต้นปีหน้า