จากที่กฎหมายภาษี e-Service ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่ช่วงเดือน กันยายน ปี 64 ที่ผ่านมา ล่าสุดทางด้านกรมสรรพากรได้ออกมาเผยรายได้จากภาษีส่วนนี้ตลอด 5 เดือนแรกซึ่งทำรายได้เข้าประเทศกว่า 3,000 ล้านบาทไปแล้วเรียบร้อย โดยมีบรรดา Tech Giants หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาตินับร้อยรายจดทะเบียนชำระภาษีในส่วนนี้แล้วเรียบร้อย ส่งผลให้รายได้ตลอดปีจะสูงทะลุเป้าเดิมที่ 5,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน
สรรพากรมั่นใจรายได้จาก e-Service มีทะลุเป้าเดิมที่ 5,000 ล้าน คาดการณ์ใหม่ปีนี้อาจถึง 10,000 ล้านบาท ! หลัง Tech Giants กว่า 127 รายลงทะเบียนเข้าระบบเรียบร้อย
เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมาทางด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกมาเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า นับตั้งแต่ทางสรรพากรมีการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่จากกฎหมาย e-Service ที่บังคับให้บรรดา Tech Giants ต้องจดทะเบียนเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นรายได้ให้กับประเทศตั้งแต่เดือนภาษีกันยายน 64 – เดือนภาษีมกราคม 65 จัดเก็บสะสมครบ 5 เดือนแรก มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติจดทะเบียนรวมทั้งสิ้นไปแล้ว 127 ราย คิดเป็นรายได้เข้าประเทศ 3,120.03 ล้านบาท จากมูลค่าเม็ดเงินค่าบริการบนแพลตฟอร์มทั้งสิ้น 44,569.83 ล้านบาท โดยสามารถแบ่งสัดส่วนรายได้ตามประเภทของแพลตฟอร์มได้ดังนี้
- แพลตฟอร์ม/บริการโฆษณาออนไลน์ (เช่น Facebook – Google – TikTok) จัดเก็บภาษีได้ 1,960.96 ล้านบาท
- แพลตฟอร์ม/บริการขายสินค้าออนไลน์ (เช่น Shopee – Lazada) จัดเก็บภาษีได้ 838.83 ล้านบาท
- แพลตฟอร์ม/บริการสตรีมมิ่ง (เช่น Netflix – Spotify – Disney+ Hotstar) จัดเก็บภาษีได้ 281.69 ล้านบาท
- แพลตฟอร์ม/บริการตัวกลาง (เช่น App Store – Play Store – Steam – Epic Games) จัดเก็บภาษีได้ 25.76 ล้านบาท
- แพลตฟอร์ม/บริการจองที่พัก ตั๋วเดินทาง (เช่น Agoda – Traveloka – Trivago) จัดเก็บภาษีได้ 12.79 ล้านบาท
จากรายได้เพียง 5 เดือนแรกที่ทะลุ 3 พันล้านไปแล้วนั้น ส่งผลให้รายได้ตลอดปีแรกนี้น่าจะสูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 5 พันล้านอย่างแน่นอนแล้ว ทำให้ทางสรรพากรได้มีการคาดการณ์ใหม่เอาไว้เป็นที่เรียบร้อยโดยคาดว่าปีนี้จะสามารถทำรายได้เข้ารัฐได้สูงถึง 8,000 – 10,000 ล้านบาทหรือสูงกว่าคาดการณ์เดิมเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว
e-Service ช่วยดึงรายได้กลับเข้าประเทศ พร้อมช่วยลดช่องว่างทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในประเทศ แต่ประเด็นค่าบริการชาวเน็ตยังต้องจับตา
ทางด้านสรรพากรเผยว่า หลังจากที่หลายปีที่ผ่านมาเหล่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติสร้างรายได้กันอย่างเป็นกอบเป็นกำแต่กลับไปไม่ค่อยถูกแบ่งไปเป็นรายได้รัฐได้มากนักเพราะบริษัทเหล่านี้มักอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เช่น ส่งค่าบริการจากผู้ใช้งานชาวไทยไปเป็นรายได้ที่ประเทศอื่น การบังคับใช้กฎหมาย VAT หรือ e-Service นี้นอกจากจะทำให้เรามีรายได้กลับเข้ารัฐได้บ้างแล้ว จะยังช่วยให้บรรดาผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีภายในประเทศสามารถมีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้นจากความเป็นธรรมด้านโครงสร้างภาษีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การผลักภาระทางด้านภาษีมาให้ผู้บริโภคในรูปแบบค่าบริการที่แพงขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาประมาณครึ่งปีที่ผ่านเราก็เริ่มเห็นอาการอยู่กลาย ๆ เหมือนกันว่า มีผู้ให้บริการหลายรายไม่ว่าจะเป็น ผู้ให้บริการตัวกลางซื้อขายเกมส์ ผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง หรือผู้ให้บริการโฆษณามีความพยายามจะปรับขึ้นค่าบริการกันอยู่ และพวกเราในฐานะผู้บริโภคยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปเพราะอาจได้รับผลกระทบโดยตรงนั่นเอง
ที่มา: BusinessToday | Thairath
ห้าพันล้าน ช่างมักน้อยซะจริง ๆ
วัตถุประสงค์ของภาษีอันนี้คือหักจากกำไรที่บริษัทได้แต่กลายเป็นทางบริษัทมาเพิ่มราคาจากลูกค้า กลายเป็นบริษัทไม่ได้เสียค่าอะไร ลูกค้าจ่ายให้
เหมือนภาษีน้ำหวานที่มีน้ำตาล โค๊กกระป๋องเล็ก 10 บาท พอมีการเก็บภาษีน้ำหวานที่มีน้ำตาลเกินกำหนดราคาก็เพิ่มคนกินเป็นคนจ่าย แต่ที่ตลกคือผมผู้ที่กินโค๊กสูตรไม่มีน้ำตาล ราคาก็เพิ่มเป็น 11 บาทตามโค๊กปกติ wtf.
มันก็ไม่แปลกนะครับ คือผู้ค้า อยากได้กำไรเท่าเดิม ถ้าไม่ไปลดต้นทุนก็ต้องเพิ่มราคาขาย ต้นทุนมันเพิ่มตลอด เพิ่มราคาขายสบายสุด
เก็บภาษีได้ แล้วภาษีไปไหนนะ ทำไมประเทศยังด้อยพัฒนา ไอ้นั่นพัง ไอ้นู่นพัง ระบบอะไรต่างๆ ยังล้าสมัยอยู่