หลังจากที่มีข่าวสายชาร์จปลอมดูดเงินระบาดไปทั่วโซเชียลมิเดีย ตอนนี้คดีพลิกแล้วค่ะ เพราะทางธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาชี้แจงเองเลยว่า สายชาร์จปลอมไม่ได้ดูดเงินผู้เสียหาย แต่ว่าเกิดจากมิจฉาชีพหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม แล้วภายในแอปมีมัลแวร์แอบแฝง จากนั้นจะควบคุมมือถือของผู้เสียหายเพื่อทำการขโมยข้อมูล และโอนเงินออกไปนั่นเอง

เราจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ข่าวได้โพสต์แจ้งเตือนให้ทุกคนระวังมิจฉาชีพรูปแบบใหม่ มีใจความว่า สายชาร์จปลอม ใช้แล้วดูดเงินผู้ใช้งาน กันเต็มไปหมดต้องบอกว่าถ้าใครเชื่อให้ทำความเข้าใจกันใหม่นะ เพราะความจริงแล้วสายชาร์จไม่ใช่ต้นตอของเรื่องนี้

สายชาร์จไม่ได้ดูดเงิน !

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาชี้แจงกรณีผู้เสียหายร้องเรียน จากเหตุการใช้งานสายชาร์จปลอมแล้วถูกดูดข้อมูลและโอนเงินออกจากบัญชี แต่ความจริง ” เกิดจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ทำให้มิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้า และควบคุมเครื่องโทรศัพท์เพื่อสวมรอยทำธุรกรรมแทนจากระยะไกล เพื่อโอนเงินออกจากบัญชี โดยอาจเลือกทำธุรกรรมในช่วงเวลาที่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้งานโทรศัพท์ ”

ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า มีมิจฉาชีพมากมายที่พยายามออกมุขใหม่มาเพื่อหาทางสูบเงินเรา ไม่ว่าจะเป็น SMS หลอกลวง, แก๊งคอลเซ็นเตอร์, มิจฉาชีพปลอมเป็น Netflix ,ใช้ Bot สุ่มเลขบัตรเครดิต, ปลอมเว็บหน่วยงานราชการ หรือหลอกให้ดาวน์โหลดสติกเกอร์ฟรีใน Line และล่าสุดข่าวสายชาร์จปลอมดูดเงิน

 

วิธีรับมือ

เป็นคำแนะนำสถาบันการเงินกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ให้ทุกคนปฏิบัติตามจะได้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ

  • ปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking อย่างต่อเนื่อง
  • ปิดกั้นเว็บไซต์หลอกลวง และตัดการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มิจฉาชีพใช้ควบคุมเครื่องผู้เสียหายจากระยะไกล
  • แก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง ที่แอบอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน
  • จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์เพื่อให้ประชาชนแจ้งความได้สะดวกและอายัดบัญชีได้รวดเร็วขึ้น
  • ประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้ แจ้งเตือนภัย และให้คำแนะนำประชาชนอย่างต่อเนื่อง

การป้องกันในเบื้องต้น

1. ไม่คลิกลิงก์จาก SMS LINE และ อีเมลที่มีแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักหรือไม่น่าเชื่อถือ

2. ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรม นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store เท่านั้น

3. อัปเดต Mobile Banking ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ หรือตั้งค่าให้มีการอัปเดตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันการควบคุมเครื่องทางไกลรวมถึงมีการปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ

4. ไม่ใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เครื่องที่ปลดล็อก (root/jailbreak) เพื่อให้สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ ก็ได้ หรือใช้เครื่องที่มีระบบปฏิบัติการล้าสมัย เป็นต้น

5. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้การติดตามแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติ สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งาน เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

 

ทุกคนควรนำคำแนะนำไปใช้กันอย่างเคร่งครัด  และตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างกันให้รอบคอบ เพราะเราสามารถสังเกต และป้องกันได้จะได้ไม่สูญเงินในภายหลัง

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย