ตั้งแต่เหล่ามือถือเริ่มเปลี่ยนมาใช้ระบบสแกนนิ้วมือเพื่อปลดล็อคเครื่องตั้งแต่ราวๆ 6 – 7 ปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นระบบสแกนที่แตกต่างกันออกไปในมือถือแต่ละรุ่น โดยยุคแรกๆ เราจะสแกนนิ้วผ่านปุ่ม Home กัน ถัดจากนั้นก็เริ่มล้ำขึ้นมาด้วยการสแกนนิ้วบนหน้าจอได้.. แล้วการสแกนนิ้วแต่ละแบบเนี่ย มันแตกต่างกันยังไงบ้าง และแบบไหนที่ปลอดภัยกว่ากัน?

ในปัจจุบัน มือถือที่วางขายอยู่ในตลาดตอนนี้จะใช้เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ 3 แบบ คือ Capacitive, Optical และ Ultrasonic ซึ่งการทำงานของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือทั้ง 3 แบบนี้ ดูเผินๆ มันก็แทบไม่แตกต่างอะไรเลย เพราะก่อนใช้งานก็ต้องลงทะเบียนลายนิ้วมือของเจ้าของเครื่องซะก่อนด้วยการแตะไปที่ตัวเซ็นเซอร์หลายๆ มุม ให้มันเก็บลายนิ้วมือเราได้แบบทั่วทั้งนิ้ว (เพราะเวลาแตะผิดมุมมันก็จะยังจำได้อยู่) แต่ถ้าพูดถึงการทำงานของเซ็นเซอร์ทั้ง 3 แบบนี้ รับรองว่าต่างกันแน่นอน

เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบ Capacitive

ระบบสแกนลายนิ้วมือแบบคลาสสิคที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ จนถึงปัจจุบันก็มีมือถือหลายๆ รุ่นที่ใช้เซ็นเซอร์แบบนี้อยู่ ทั้งรุ่นประหยัดไปจนถึงเรือธง โดยเซ็นเซอร์แบบนี้จะใช้การสัมผัสโดยตรงไปที่ตัว Capacitor เพื่อเก็บข้อมูลรายละเอียดของสัญญาณไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากเส้นลายนิ้วมือแต่ละเส้นและบันทึกเอาไว้ในหน่วยความจำ (ช่องว่างระหว่างเส้นลายนิ้วมือก็จะไม่มีสัญญาณไฟฟ้าออกมา) และเมื่อมีนิ้วมาแตะในครั้งต่อไป มันก็จะเอาข้อมูลเก่ามาเทียบว่าตรงกันรึเปล่า

ข้อดีของเซ็นเซอร์แบบ Capacitive ก็คือมีความปลอดภัยสูง และโดนหลอกยากกว่าเซ็นเซอร์แบบ Optical ยิ่งเซ็นเซอร์ที่สามารถเก็บรายละเอียดได้มากก็ยิ่งแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้นไปอีก

เซ็นเซอร์แบบ Capacitive ในรุ่น Galaxy S7+

เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบ Optical

เป็นระบบสแกนนิ้วมือในมือถือรุ่นใหม่ๆ ที่มีระบบสแกนนิ้วบนหน้าจอบางรุ่น ซึ่งการทำงานของมันจะใช้เซ็นเซอร์ Optical ที่เป็นกล้องตัวเล็กๆ ในการบันทึกภาพลายนิ้วมือแบบ 2 มิติ โดยเมื่อเราแตะไปที่บริเวณเซ็นเซอร์ดังกล่าว หน้าจอบริเวณนั้นก็จะติดขึ้นมาเพื่อส่องไฟมาที่นิ้ว และจากนั้นก็จะถ่ายรูปเก็บเอาไว้ในหน่วยความจำ หลังจากนั้นเมื่อจะปลดล็อคเครื่อง พอเราเอานิ้วไปแตะที่เซ็นเซอร์อีกครั้ง มันก็จะเอาภาพลายนิ้วมือที่เก็บไว้ตอนแรกมาเทียบกับภาพลายนิ้วมือที่มันกำลังเห็นอยู่ตอนนี้นั่นเอง

ซึ่งเซ็นเซอร์แบบนี้ ถ้ารุ่นที่มีความละเอียดในการเก็บภาพมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น เพราะมันสามารถเก็บภาพของแสงเงาที่แตกต่างกันของลายนิ้วมือแต่ละเส้นได้เลยทีเดียว

เซ็นเซอร์ Optical ใน Mate 20 Pro

แต่แน่นอนว่าถึงจะแม่นยำขนาดไหนมันก็ยังสามารถโดนหลอกได้อยู่ดี เพราะมันจะบันทึกภาพของลายนิ้วมือไว้ได้เป็น 2 มิติ เท่านั้น ทำให้มันโดนหลอกด้วยภาพถ่ายของนิ้วที่เก็บเอาไว้ในหน่วยความจำได้ ถ้าหากลายนิ้วมือจากภาพนั้นมีความละเอียดมากพอ

เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบ Ultrasonic

เซ็นเซอร์แบบใหม่ล่าสุดที่เราพึ่งจะได้เห็นและรู้จักกันในมือถือเรือธงอย่าง Galaxy S10 / S10+ (แต่มือถือรุ่นแรกที่ใช้ระบบนี้ก็คือ LETV Le Max Pro ออกมาเมื่อปี 2016 ซึ่งน่าจะมีคนรู้จักน้อยมาก…) โดยการทำงานของมันจะใช้คลื่นเสียงความถี่สูง หรือ Ultrasonic ส่งออกมากระทบกับนิ้วมือของเรา และคลื่นเสียงบางส่วนจะถูกดูดซับเข้าไปในผิวหนัง แต่บางส่วนจะเด้งกลับมาที่ตัวรับสัญญาณ ซึ่งลายนิ้วมือของแต่ละคนก็จะมีการเด้งกลับของสัญญาณเสียงที่ต่างกัน จากทั้งลายเส้น และความลึกของลายนิ้วมือได้แบบ 3 มิติ ทำให้เราไม่ต้องออกแรงจิ้มที่ตัวเซ็นเซอร์มากเหมือนแบบอื่น แค่แตะปึ๊บเดียวก็ปลดล็อคได้แล้ว

ข้อดีอีกอย่างของมันที่มีมากกว่าเซ็นเซอร์แบบ Capacitive และ Optical ก็คือมันสามารถสแกนนิ้วที่มีความชื้นหรือเปียกน้ำนิดๆ หน่อยๆ ได้ด้วย ในขณะที่เซ็นเซอร์ 2 แบบแรกเจอความชื้นที่นิ้วเข้าไปก็ตายสนิทอ่านลายนิ้วไม่ออกกันไปเลย

แต่ข้อเสียสุดๆ ของมันก็คือระยะจำกัดของคลื่นเสียงที่ส่งออกไป ทำให้มือถือที่ยัดเซ็นเซอร์ดังกล่าวไว้ใต้หน้าจออย่าง Galaxy S10 / S10+ ไม่สามารถใช้งานกับฟิล์มหรือกระจกกันรอยบางชนิดได้ เพราะถ้าหนาไปคลื่นเสียงก็จะไม่สามารถทะลุขึ้นมาถึงนิ้วมือได้นั่นเอง

เซ็นเซอร์ Ultrasonic ใน Galaxy S10

สุดท้ายระบบล็อคเครื่องด้วยการสแกนนิ้วก็ยังถือว่าเป็นระบบที่ค่อนข้างปลอดภัย, สะดวก และไม่ได้ใช้ต้นทุนในการผลิตมากเหมือนระบบล้ำๆ อย่างเช่นการสแกนม่านตา หรือสแกนใบหน้าแบบ 3 มิติ ซึ่งถึงแม้จะมีหลายคนที่พยายามสรรหาวิธีมาหลอกเซ็นเซอร์เหล่านี้ด้วยการใช้ภาพถ่ายนิ้วบ้าง หรือลงทุนใช้เครื่องปริ๊นท์ 3 มิติ สร้างนิ้วใหม่ขึ้นมาบ้าง โดยวิธีการเหล่านั้นแม้ว่าจะสามารถทำได้จริง และแฮ็คได้จริง แต่มันก็ยังเป็นวิธีที่ทำยากมากๆ สำหรับเหล่ามิจฉาชีพทั่วไป เพราะฉะนั้นมันก็ยังถือว่าเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงระบบนึงเลยล่ะ

ข้อมูลอ้างอิง : GuidingTech, Androidauthority, Techburner