รัฐสภายุโรปผ่านกฎหมาย Digital Markets Act เพื่อควบคุมธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัล (เช่น โซเชียลมีเดีย และบริการออนไลน์อื่น ๆ) ให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ และเพื่อเป็นการป้องกันการผูกขาดไม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2024 ในยุโรป – ล่าสุดมีรายงานว่า ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายต่อต้านการผูกขาดลักษณะเดียวกับกฎหมาย DMA ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือ การกำกับดูแล Apple และ Google
ตามรายงานจาก Nikkei อ้างว่า หน่วยงานกำกับดูแลของญี่ปุ่น เตรียมออกกฎหมายที่จะกำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Apple และ Google ต้องอนุญาตให้ติดตั้งแอปสโตร์ภายนอกบนแพลตฟอร์มหรือไซด์โหลดได้ และต้องนำเสนอวิธีการชำระเงินทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากระบบชำระเงินของตนสำหรับการซื้อแอปต่าง ๆ โดยไม่มีการกีดกัน
ร่างกฎหมายดังกล่าว จะถูกส่งไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณาในปีหน้า โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 หัวข้อ ได้แก่
- แอปสโตร์และระบบชำระเงิน
- เสิร์ชเอนจิน
- เว็บเบราว์เซอร์
- ระบบปฏิบัติการ
หากกฎหมายนี้ได้รับการนุมัติ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของญี่ปุ่นจะสามารถเรียกเก็บเงินค่าปรับจากบริษัทใด ๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามได้ โดย Bloomberg ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ค่าปรับของการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 6% ของรายได้ที่เกิดจากการละเมิด – คาดว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า (ช่วงเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม)
ญี่ปุ่นจับตาดู Apple และ Google มานานแล้ว
อันที่จริง รัฐบาลญี่ปุ่น เพ่งเล็ง Apple มานานแล้ว โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่ Epic Games ยื่นฟ้องร้อง Apple และ Google ในข้อกล่าวหาว่าด้วยการผูกขาดแอปสโตร์เมื่อปี 2020 ซึ่งในปีนั้นมีนักพัฒนาเกมชาวญี่ปุ่นบางส่วนออกตัวสนับสนุนการฟ้องร้องของ Epic Games โดยมองว่าค่าคอมมิชชันที่แพลตฟอร์มเรียกเก็บ 30% นั้นสูงเกินไป และ Apple ยังถูกวิจารณ์ถึงความซับซ้อนและความคลุมเครือในการอนุมัติแอปขึ้นสโตร์ และการสนับสนุนนักพัฒนาภายนอกที่ไม่ดีพออีกด้วย
Apple สามารถเอาชนะข้อกล่าวหาของ Epic Games ไปได้ ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ในขณะที่คดีระหว่าง Google พึ่งถูกตัดสินในปีนี้ ซึ่งคราวนี้ Epic Games เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ แต่ทาง Google เองก็ประกาศไม่ยอมแพ้ และเตรียมสู้ศึกยกสองในศาลอุทธรณ์ต่อไป
นอกจากนี้ Google ยังโดนอัยการจาก 36 รัฐในสหรัฐฯ และวอชิงตัน ดี.ซี.ฟ้องร้องเรื่องการผูกขาดแอปสโตร์อีกคดีตอนปี 2021 และได้ข้อสรุปในปีนี้เช่นกัน โดย Google ยอมจ่าย 700 ล้านดอลลาร์เพื่อยุตคดี ซึ่งเงินส่วนใหญ่จะถูกนำไปมอบเป็นค่าชดเชยให้กับผู้บริโภคในสหรัฐฯ
ที่มา : Nikkei
Comment