หลังจากทำการพิจารณา สืบค้น หาข้อเท็จจริงมาเป็นปี ๆ ล่าสุดดูเหมือนสภาครองเกรซของสหรัฐ ฯ ที่ประกอบไปด้วยนักการเมือง 2 ขั้วใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะนำเสนอร่างกฎหมาย “ทำลายทุนผูกขาด” ฉบับใหม่ที่หากได้บังคับใช้จริงหลังจากนี้ อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจหลักของบรรดา Tech Giants ระดับโลกสัญชาติอเมริกัน ซึ่งพวกเขาอาจต้องสูญเสียศักยภาพการแข่งขันและอำนาจอิทธิพลในโลกเทคโนโลยีไปอย่างมากเลยทีเดียว

2 ขั้วการเมืองใหญ่สหรัฐ ฯ เห็นพ้องต้องกันจำเป็นต้อง “ทำลายทุนผูกขาด” ด้วยกฎหมาย “Antitrust”

ด้วยบรรยากาศการเมืองสหรัฐ ฯ ที่ 2 ขั้วอำนาจทางการเมืองอย่างพรรค Republican กับ Democrats ซึ่งด้วยวิธีคิดนั้นดูเหมือนจะเป็นเส้นขนานที่ไม่มีทางจะบรรจบกันได้โดยง่าย แต่ก็คงจะเป็นเรื่องปกติของทุก ๆ สังคมการเมืองเช่นเดียวกับที่บ้านเรานี่แหละ แต่ประเด็นนี้ดูเหมือนจะเป็นกรณีที่ยกเว้นให้เป็นพิเศษ เพราะนับตั้งแต่รัฐบาลทรัมป์คาบเกี่ยวมาจนช่วงเข้าสู่ยุคของลุงโจ ความพยายามจัดการกับอำนาจของบรรดา Tech Giants ทั้งหลายนั้นดูเหมือนจะไม่ได้ลดหย่อนลงไปกว่ากันเลยทีเดียว

ล่าสุดนั้นสภา Congress ที่มีขั้วการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายนั่งอยู่ต่างก็มีมติเห็นชอบให้นำร่างกฎหมายหลายฉบับที่เรียกรวม ๆ ว่า “Antitrust Laws” หรือกฎหมายป้องกันการผูกขาด ที่มีจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อเข้าควบคุมและจำกัดอำนาจของบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ฯ ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดได้อีกต่อไป ซึ่งธุรกิจกลุ่มดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นบรรดา Tech Giants สัญชาติอเมริกันที่ชาวเน็ตล้วนคุ้นหูกันเป็นอย่างดีโดยมีชื่อที่ถูกเอ่ยถึงเอาไว้อย่างชัดเจนเลยได้แก่ Apple – Amazon – Facebook – Google หน้าเก่าเจ้าเดิม ๆ นั่นเอง

จับประเด็นร้อน เมื่อซีอีโอของ Amazon – Apple – Facebook – Google ถูกเรียกไต่สวนข้อหาผูกขาดการค้า (Antitrust)

โดยสรุป ร่างกฎหมาย Antitrust ที่ว่านี้จะโฟกัสไปที่การจำกัดประเภทของธุรกิจในพอร์ตของบริษัทมหาอำนาจเหล่านี้ที่อาจมีอำนาจเหนือตลาดและสังคม ตัวอย่างเช่น บริษัทจะไม่อาจเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ พร้อม ๆ กับเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์รายใหญ่ของประเทศได้ หรือบริษัทที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มใดจะไม่สามารถเป็นผู้เล่นในแพลตฟอร์มนั้นเองด้วยหากจะเป็นการทำให้ผู้แข่งขันรายอื่น ๆ เสียเปรียบ หรือร่างอีกฉบับหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือมีการพูดถึงการบังคับให้บรรดาบริษัทที่ถือครองบริษัทลูกอยู่เป็นจำนวนมากเกินสัดส่วนที่ครองตลาด (Market Share) จะต้องถูกบังคับให้ขายธุรกิจจำนวนหนึ่งออกไปเพื่อให้การแข่งขันอยู่ในอัตราที่เหมาะสมเป็นต้น

ถ้ากฎหมายนี้มาจริง Amazon – Apple – Facebook – Google ส่อแววกระทบหนัก บทบาทและอำนาจทางธุรกิจหดหาย

ในรายงานสรุปการสืบสวนกรณีผูกขาดทางการค้าของคณะกรรมการการค้าสหรัฐ ฯ ที่ทำงานมากว่า 16 เดือนได้มีชื่อของ Tech Giants ทั้ง 4 เอาไว้ชัดเจน ได้แก่ Amazon – Apple – Facebook และ Google โดยระบุว่า บริษัทเหล่านี้เป็นชื่อแรก ๆ ที่ต้องได้รับการจัดการที่เหมาะสมหลังจากมีการปล่อยให้พวกเขาเพลิดเพลินและหาประโยชน์จากการทำธุรกิจแบบ Monopoly มานานเกินไป ซึ่งกรัดกร่อนบ่อนทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรมซึ่งควรจะเป็นซึ่งสิ่งที่สหรัฐ ฯ ยึดถือ

ตอนนี้พวกบริษัทเทคโนโลยีที่ผูกขาดมีอำนาจมากเกินไปเหนือทั้งตลาด และเหนือเศรษฐกิจโดยรวมของพวกเรา (สหรัฐ) พวกเขา (Tech Giants) อยู่ในสถานะที่กำหนดความเป็นความตาย เลือกผู้แพ้ผู้ชนะเองได้จากการแข่งขันในพื้นที่ ๆ พวกเขาสร้างขึ้น หลักการแบบนี้บ่อนทำลายการเติบโตของธุรกิจหน้าใหม่ ผู้เล่นใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเทค ฯ เราต้องการให้แน่ใจว่ายักษ์ใหญ่พวกนี้ แข่งขันอยู่ภายใต้เกมส์เดียวกันกับผู้เล่นที่เหลือในตลาด – คอมเมนต์หนัก ๆ จาก David Cicilline | ผู้แทนจากพรรคเดโมแครต

จากบทวิเคราะห์เพียงแค่เบื้องต้นตามรายงานข่าว หากร่างกฎหมายชุดนี้ถูกบังคับใช้จริง Google อาจถูกบังคับห้ามไม่ให้มีการแนะนำคลิปวิดีโอที่ลิงค์ไปยัง YouTube เวลาที่ผู้คนใช้บริการ Google Search หาข้อมูลใด ๆ ส่วน Amazon อาจถูกบังคับห้ามขายและโปรโมทผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันกับที่ผู้ค้ารายย่อยมีวางขายอยู่ก่อนแล้วบนระบบของพวกเขา

ในรายของ Apple อาจถูกบังคับให้ยกเลิกกฎเกณฑ์หลายรายการบน App Store และ iOS อย่างเช่น ยกเลิกบังคับการจ่ายค่าบริการที่ต้องผ่าน Apple เท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมกรณี Apple v Epic Games) หรือแม้แต่อาจถูกบังคับให้ยกเลิกค่าธรรมเนียม 30% สำหรับนักพัฒนา Apps คู่แข่งที่ Apple เองก็มีให้บริการอยู่ด้วย (ตัวอย่างเช่น Spotify ที่ต้องถูกหักค่าธรรมเนียม 30% แต่ Apple Music ซึ่งถูกหักค่าธรรมเนียม 30% เหมือนกันนั่นแหละ แต่เสมือนแค่ย้ายกระเป๋าซ้ายไปอยู่กระเป๋าขวาเท่านั้น) ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง

ส่วนในกรณีของ Facebook นั้น เบื้องต้นเป็นที่เชื่อกันว่าหากกฎหมายฉบับนี้มีการบังคับใช้ขึ้นมาจริง ๆ พวกเขาจะถูกคำสั่งห้ามซื้อขายกิจการใดที่มีลักษณะเป็นผู้ให้บริการ Social Network ที่เข้าข่ายเป็นคู่แข่งโดยตรง อย่างที่เคยทำเอาไว้กับ Instagram และ WhatsApp นั่นเอง ซึ่งพวกเขาอาจถึงขั้นถูกบังคับให้ต้องขายบริษัทอย่าง Instagram และ WhatsApp ออกไปด้วยซ้ำ

ลดอำนาจผูกขาด… Facebook อาจถูกรัฐบาลสหรัฐ ฯ บังคับให้ขาย Instagram และ WhatsApp ทิ้ง

 

อ้างอิง: CNN Tech