คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) ผ่านกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อจัดการกับปัญหา รีวิวปลอม ที่มีการระบาดบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหรือแอปช็อปปิงออนไลน์อย่างหนักในช่วงหลายปีหลัง มติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 5 ต่อ 0 ซึ่งกรณีนี้ยังรวมไปถึงรีวิวที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับตัวสินค้า เช่น รีวิวที่เขียนโดย AI หรือรีวิวมั่ว ๆ ผ่านการก๊อบ – วาง กฎนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 60 วันให้หลังการประกาศใน Federal Register

นอกเหนือจากเรื่องรีวิวปลอมที่กล่าวไปแล้ว กฎนี้ยังมีข้อห้ามหรือแนวปฏิบัติอื่น ๆ เพื่อความโปร่งใสของแอปช็อปปิงออนไลน์เพิ่มเติมในหลาย ๆ ประเด็น โดยประเด็นสำคัญมีดังนี้

  • ห้ามรีวิวปลอม รวมถึงการรีวิวที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง รีวิวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับตัวสินค้าหรือบริการ และรีวิวที่เขียนโดย AI
  • ห้ามสร้างแรงจูงใจ หรือผลตอบแทนในการรีวิว ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่ารีวิวนั้นจะเป็นรีวิวเชิงบวกหรือลบก็ตาม
  • คนในบริษัทสามารถรีวิวได้ แต่ต้องเปิดเผยตัวตน โดยระบุอย่างชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องระหว่างผู้รีวิวกับบริษัทนั้น ๆ และในขณะเดียวกัน ก็ห้ามไม่ให้พนักงานระดับผู้จัดการมีการร้องขอให้พนักงานรายอื่น หรือเครือญาติ เขียนรีวิวให้โดยเจตนา
  • เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ต้องโปร่งใส หากเว็บไซต์ใด ๆ ทำการรีวิวสินค้าหรือบริการจากบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกัน ห้ามไม่ให้มีการบิดเบือนข้อมูล หรือสร้างข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าไม่มีความเกี่ยวข้อง
  • ห้ามบิดเบือน หรือซ่อนรีวิวเชิงลบ โดยการคุกคามผู้รีวิวด้วยวิธีต่าง ๆ ตลอดจนถึงการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย และการข่มขู่โดยอ้างกฎที่ไม่สมเหตุสมผล
  • ห้ามซื้อขาย ยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดผู้ติดตาม บนโซเชียลมีเดีย เพื่อจุดประสงค์ในการหลอกลวง หรือเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวสินค้าหรือบริการ

ในประเทศไทยเอง ก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้มานานหลายปีแล้ว ตามที่ปรากฏเป็นข่าวบางระยะ และปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ประปราย รวมถึงข้อห้ามอื่น ๆ ตามที่ FTC ระบุมา ก็ยังพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ร้านขู่ว่า ‘หากไม่ให้คะแนน 5 ดาว จะไม่รับประกันสินค้า’ หรือการจัดแคมเปญ ‘เขียนรีวิวสินค้า เพื่อรับของสมนาคุณเพิ่มเติม’ อะไรทำนองนี้เป็นต้น ซึ่งคงต้องติดตามดูต่อไปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบ้านเรา จะออกมาตรการรับมือหรือไม่ และอย่างไร ต่อไป

ที่มา : FTC